“ซอฟต์พาวเวอร์” ของไทย "คนญี่ปุ่น" ชื่นชอบอะไรกันบ้าง?

“ซอฟต์พาวเวอร์” ของไทย  "คนญี่ปุ่น" ชื่นชอบอะไรกันบ้าง?

“ซอฟต์พาวเวอร์” ของไทยกำลังเป็นกระแสในประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญรุกทำตลาดขยายฐาน “แฟนคลับ” จากความชื่นชอบในหลากหลายมิติ ดึงนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทย หลังข้ามผ่านสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกินเวลายาวนานกว่า 2 ปี 6 เดือน

มาดูกันว่า ซอฟพาวเวอร์ ที่ว่านั้น...มีอะไรกันบ้าง?

1.ซีรีส์วาย หรือ ซีรีส์แนว Boy’s Love (BL)

จุดเริ่มต้นความนิยมของผู้ชื่นชอบซีรีส์ “Thai BL Drama” ในตลาดญี่ปุ่นว่า เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงแรกของการระบาดของโควิด-19 จนเป็นเหตุให้ทั่วโลกต้อง “ล็อกดาวน์” ราวเดือน เม.ย.2563

เมื่อชาวญี่ปุ่นต้องกักตัวอยู่กับบ้าน ไม่ค่อยได้ออกไปข้างนอก ความบันเทิงที่พอจะหล่อเลี้ยงจิตใจในขณะนั้นคือ การชมภาพยนตร์และซีรีส์

กระทั่งได้ลองชมซีรีส์วายของไทย ปรากฏว่า “โดนตก” ไปตามๆ กัน มาแรงเป็นอันดับ 1 ท่ามกลางการแข่งขันของซีรีส์วายทั่วโลกในประเทศญี่ปุ่น!

ด้วยเนื้อเรื่องที่แตกต่างจากซีรีส์วายของญี่ปุ่น โดยเฉพาะประเด็นด้านวัฒนธรรม เช่น ชีวิตนักศึกษาไทย ธรรมเนียมว้ากเกอร์ ทั้งยังสอดแทรกประเด็นทางสังคม เช่น การเปิดเผยตัวตน การเปิดกว้างรับความหลากหลายทางเพศของคนในครอบครัว

ทั้งนี้ ผลการจัดกิจกรรม “Thailand Actors Award in Japan” โดย Asia Dramatic TV ซึ่งเปิดให้ผู้ที่ชื่นชอบสนใจร่วมโหวต ผลการเปิดรับผลโหวต 2 รอบ รวม 20,700 คน ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2564 พบว่า “Best Drama” ที่ได้ผลโหวตสูงสุดอันดับ 1 คือ “2gether The Series เพราะเราคู่กัน” ส่วนอีก 4 เรื่องรองลงมา (ไม่มีการประกาศคะแนนและอันดับ) ได้แก่ TharnType The Series เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดีๆ, Sotus The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง, Theory of Love ทฤษฎีจีบเธอ และ I Told Sunset About You แปลรักฉันด้วยใจเธอ

ด้าน “Best Couple” คู่ที่ได้ผลโหวตสูงสุดคือ “ไบรท์-วิน” ส่วนอีก 4 คู่รองลงมา (ไม่มีการประกาศคะแนนและอันดับเช่นกัน) ได้แก่ มิว-กลัฟ, คริส-สิงโต, ออฟ-กัน และ พีพี-บิวกิ้น

2.ละครไทยและเพลงไทย (T-Pop)

ถือเป็นกระแสที่ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง สำหรับละครไทยและเพลงไทย (T-Pop) โดยมีละครไทยทยอยออกอากาศผ่านช่องทางต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น และมีศิลปินชาวไทยทยอยเปิดตัว มีผลงานในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27-28 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มีการแสดง GMMTV FAN FEST 2022 LIVE IN JAPAN” จัดขึ้นโดย TV ASAHI ณ PIA ARENA MM Yokohama จังหวัดคะนะงะวะ ซึ่งเป็นการจัดแสดงคอนเสิร์ตของนักแสดงชาวไทย ที่มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 20,000 คน โดยการจัดงานครั้งนี้คาดว่าจะสร้างความสนใจให้ผู้ที่ชื่นชอบและติดตามละครของไทยได้เป็นอย่างดี

“ซอฟต์พาวเวอร์” ของไทย  \"คนญี่ปุ่น\" ชื่นชอบอะไรกันบ้าง?

 

3.อาหารไทย

เมนูยอดฮิตในญี่ปุ่นที่ถูกนำมาเป็นเมนูประจำร้านคาเฟ่และร้านอาหารกล่องสำเร็จรูปในร้านสะดวกซื้อขณะนี้ คือ  ข้าวราดกะเพราไข่ดาว พิซซ่าหน้ากะเพรา และผลไม้เขตร้อน จึงเป็นจุดแข็งในการดึงนักท่องเที่ยวให้เลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทาง

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นักแสดงและศิลปินหนุ่มชื่อดังของญี่ปุ่น “โทโมฮิสะ ยามะชิตะ” (Tomohisa Yamashita) หรือ ยามะพี” ลัดฟ้ามาเยือนไทยเพื่อถ่ายทำผลงานใหม่ ระหว่างทริปได้โพสต์ภาพใน Instagram แวะชิมและดื่มด่ำบรรยากาศสตรีทฟู้ดของไทย เช่น ไส้กรอกอีสาน และกล้วยปิ้งน้ำกะทิ จนกลายเป็นกระแสไวรัลในญี่ปุ่น

“ซอฟต์พาวเวอร์” ของไทย  \"คนญี่ปุ่น\" ชื่นชอบอะไรกันบ้าง?

ล่าสุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา CNN Travel ได้เผยแพร่รายชื่อ 50 อันดับอาหารริมทางที่ดีที่สุดในเอเชีย โดยมี 3 เมนูอาหารริมทางของไทย ได้แก่ ไข่เจียวปู ข้าวซอย และไส้กรอกอีสาน

โดยทาง CNN Travel ได้ระบุว่า ไข่เจียวปู เป็นเมนูไข่ที่มีรสชาติดีกว่าเมนูไข่ประเภทอื่น ส่วนผสมของไข่และเนื้อปูทำให้อาหารจานนี้ทั้งกรอบและเนื้อนุ่มฟูน่าทาน หากรับประทานพร้อมซอสพริกจะยิ่งทำให้เมนูนี้อร่อยมากยิ่งขึ้น

ส่วนข้าวซอย เป็นอาหารของทางภาคเหนือของไทย มีส่วนผสมของซุปที่มีเครื่องแกงกะหรี่ ผสมกับน้ำกะทิที่เข้มข้น ราดบนเส้นบะหมี่ที่มีน่องไก่หรือเนื้อวัว และโรยด้วยเส้นบะหมี่ทอด

สำหรับไส้กรอกอีสาน เป็นอาหารข้างทางที่พบได้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นไส้กรอกหมูปรุงรสผสมข้าวเหนียว กระเทียม นำไปหมักและตากแห้งจนมีรสเปรี้ยว

ทั้งนี้ จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า กิจกรรมยอดนิยมของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเมื่อมาเยือนประเทศไทยคือ อาหารไทย เยี่ยมชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ เรียนรู้วิถีชีวิตคนท้องถิ่น นวดและสปา แสงสียามค่ำคืน

โดยแหล่งท่องเที่ยว 5 อันดับแรกที่นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี จำนวนวันพักเฉลี่ย 9.79 คืน ค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 6,402 บาทต่อทริป

 

4.เทศกาลลอยกระทง

ถือเป็นเทศกาลที่นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกิจกรรมปล่อยโคมลอยใน จ.เชียงใหม่

“ซอฟต์พาวเวอร์” ของไทย  \"คนญี่ปุ่น\" ชื่นชอบอะไรกันบ้าง?

สิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูตไทย ประจํากรุงโตเกียว กล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูตและหน่วยงานทีมประเทศไทยได้ดำเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดงาน “เทศกาลไทย” ในภูมิภาคต่างๆ ของญี่ปุ่น ทั้งในกรุงโตเกียว โอซากา นาโงยา เซนได ชิซึโอกะ และฟุกุโอกะ มีผู้เข้าร่วมงานในแต่ละเมืองเป็นจำนวนมากในทุกๆ ปี เฉพาะที่กรุงโตเกียวเคยมีผู้เข้าร่วมงานเกือบ 3 แสนคน ในโอซากาและนาโงยามีผู้เข้าร่วมงานถึงหลักแสนคน

งานเทศกาลไทยถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) ของไทย ผ่านการนำเสนอวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ผ่านคอนเซ็ปต์ “5F” ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณีไทย (Festival)

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ระบุว่า ทาง ททท.ได้ตั้งเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาประเทศไทยในปี 2565 จำนวนไม่น้อยกว่า 350,000 คน สร้างรายได้ประมาณ 21,000 ล้านบาท โดยจากสถิติล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-20 ก.ย.ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทยสะสม 166,709 คน เป็นอันดับที่ 12 ของตลาดชาวต่างชาติเที่ยวไทยสูงสุด

“ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาเยือนไทยปี 2566 ททท.ตั้งเป้าไว้ที่ 1.25 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 75,000 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริปราว 60,000 บาทต่อคน คิดเป็นการฟื้นตัว 70% เมื่อเทียบกับปี 2562”