'โฆษณาดิจิทิทัล' โตต่ำสุด! รอบ 11 ปี รับเศรษฐกิจชะลอ แบรนด์ระวังใช้จ่าย

เปิดเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลปี 2565 โตต่ำสุดในรอบ 11 ปี ด้วยตัวเลขบวกเพียง 7% ทิศทางการเติบโตทั้งปียังอยู่ภายใต้ "ปัจจัยเสี่ยง" รายล้อม ต้นทุนพุ่ง ทำให้แบรนด์ต้องโฟกัสใช้จ่าย ซ้ำร้ายเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มร้อย
สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT จัดสัมมนาใหญ่ด้านการตลาดและการสื่อสารดิจิทัล ประจำปี 2565 ซึ่งปีนี้มาในธีม “ERA OF EFFECTIVENESS - ยุคแห่งการทำการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ”
ทั้งนี้ สมาคมฯร่วมกับพันธมิตรสื่อดิจิทัลและผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาดดิจิทัลและเทคโนโลยีกว่า 50 ชีวิต เพื่อขึ้นเวทีนำเสนอข้อมูลที่สำคัญของการทำการตลาดดิจิทัลที่จะสร้างข้อได้เปรียบและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่นักโฆษณา นักการตลาดและนักลงทุน รอบด้าน โดยมีหัวข้อน่าสนใจมากมาย ผ่าน 4 เวทีหลัก ทั้งเวทีงานสร้างสรรค์ เวทีสื่อ และเวทีนวัตกรรม
ในงานยังมีไฮไลท์สำคัญ คือ คาดการณ์เม็ดเงิน “โฆษณาดิจิทัล” ในปี 2565 ที่จะเติบโตราว 7% “ต่ำสุด” ในรอบ 11 ปี และจะมีมูลค่าตลาด 26,623 ล้านบาท
ย้อนภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลที่ผ่านมา ถือว่าเฟื่องฟูแบบสุดๆ และโกยเม็ดเงินมหาศาล มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น
-ปี 2564 มูลค่า 24,766 ล้านบาท เติบโต 18%
-ปี 2563 มูลค่า 21,058 ล้านบาท เติบโต 8%
-ปี 2562 มูลค่า 19,555 ล้านบาท เติบโต 16%
-ปี 2561 มูลค่า 16,928 ล้านบาท เติบโต 36%
-ปี2560 มูลค่า 12,402 ล้านบาท เติบโต 31%
ด้านแนวโน้ม 5 หมวดสินค้าที่ใช้จ่ายเงินโฆษณาสูงสุดปี 2565 ได้แก่
-ยานยนต์ มูลค่า 3,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนใช้ 2,897 ล้านบาท
-เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2,464 ล้านบาท ลดลง 8% จากปีก่อนใช้ 2,680 ล้านบาท
-สื่อสาร 2,419 ล้านบาท ลดลง 6% จากปีก่อนใช้ 2,580 ล้านบาท
-ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ 2,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนใช้ 2,162 ล้านบาท
-ผลิตภัณฑ์นม 1,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนใช้ 1,657 ล้านบาท
และที่น่าสนใจคือ กลุ่มวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้เงินโต 21% โดยมีแบรนด์โลคัลทำตลาดมากขึ้น รวมถึงสินค้ากลุ่มกัญชากัญชง เริ่มสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคก่อนที่กฎหมายจะไฟเขียว รวมถึงแพลตฟอร์มเปิดพื้นที่ให้โฆษณา
หมวดสินค้าและบริการใช้จ่ายเงินโฆษณาดิจิทัลเพิ่ม-ลด
ด้านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่โกยงบโฆษณาสูงสุด 5 อันดับแรก ยังเป็น Facbook และ Instagram มูลค่า 8,691 ล้านบาท เติบโต 8% และครองสัดส่วน 33% ตามด้วย Youtube 3,875 ล้านบาท สัดส่วน 15% Online Vedo 2,738 ล้านบาท สัดส่วน 10% Social 2,280 ล้านบาท สัดส่วน 9% และ Creative มูลค่า 1,804 ล้านบาท สัดส่วน 7% ที่เหลือคือสื่ออื่นๆ(ดูในกราฟ)
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายงบโฆษณาของแบรนด์ต่างๆผ่าน "ยูทูป" ลดลง 8% จากปีก่อน แต่เพราะเกิดการโยกกระเป๋าไปใช้ผ่านกูเกิลมากขึ้น
ภารุจ ดาวราย นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ฉายภาพว่า ปีนี้ สมาคมฯร่วมกับพันธมิตร แลกลับมาจัดงานสัมมนา DAAT DAY
ทั้งนี้ สถานการณ์ต่าง ๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้นได้พิสูจน์ว่าเราได้เข้าสู่ยุคสมัยที่ไม่มีอะไรที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถแยกตัวออกจากโลกดิจิทัลได้ บุคลากรในวงการการตลาดและสื่อดิจิทัลจำเป็นที่จะต้องติดอาวุธเพื่อยกระดับความเข้าใจการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประสิทธิภาพในการทำการตลาด