ทำไม? “อินโดนีเซีย” จึงเป็นหมุดหมายของกลุ่ม “ธนาคารไทย”

ทำไม? “อินโดนีเซีย” จึงเป็นหมุดหมายของกลุ่ม “ธนาคารไทย”

"ธนาคารไทย" รายใหญ่หลายแห่งได้ขยายกิจการไปยัง "อินโดนีเซีย" ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นที่น่าสนใจว่า เพราะเหตุใด อินโดนีเซียจึงเป็นหมุดหมายของกลุ่มธนาคารไทย?

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราคงจะได้เห็นการขยับตัวของธุรกิจธนาคารใหญ่ในไทย ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกร และ ธนาคารกรุงเทพ ที่เข้าไปลงทุนซื้อกิจการหรือเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธุรกิจธนาคารของ “อินโดนีเซีย” ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 16 ของโลก

แม้ว่าธนาคารไทยหลายแห่งจะมีเป้าหมายขยายตลาดออกไปยังระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานหลายสิบปีแล้ว เช่น ธนาคารกรุงเทพที่เข้าไปเปิดสาขาแรกในอินโดนีเซียตั้งแต่ปี  2511 แต่การเข้าไปเป็นเจ้าของธนาคารท้องถิ่น (Local bank) รวมถึงธุรกิจการเงินอื่นๆ นับว่าเป็นคลื่นที่พึ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานมาก

อย่างไรก็ตาม การขยับตัวของธนาคารไทยรายใหญ่ทั้ง 3 แห่ง สะท้อนภาพของการดำเนินธุรกิจธนาคารในไทย ที่อาจไม่สามารถสร้างการเติบโตได้ตามที่ต้องการ การขยายการลงทุนจึงเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยสร้างการเติบโต แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่า เพราะเหตุใดจุดหมายของธนาคารไทยถึงเป็นอินโดนีเซีย?

  •   ข้อจำกัดการเติบโตของธุรกิจธนาคารในประเทศไทย  

การขยับตัวของธนาคารรายใหญ่ในไทย ส่งสัญญาณถึงข้อจำกัดการเติบโตของธุรกิจธนาคารในไทย สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่มีการเติบโตอย่างชะลอตัวลงตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด-19 

การเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง มีผลให้การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชนช้าลง กำลังซื้อจึงขยายตัวต่ำลงไปด้วย ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยเกิดขึ้นอย่างจำกัด ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบไปด้วย จากการมีความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรที่ลดลง ผลที่ตามมาคือ การชะลอการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการขยายโรงงาน ซื้อเครื่องจักรใหม่ หรือเพิ่มค่าจ้าง/การจ้างงาน เพราะการลงทุนดังกล่าวอาจไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าได้ 

อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ช้าลง ซึ่งอาจไม่ทันต่อการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจมีภาวะเงินเฟ้อเช่นปัจจุบัน ยังมีผลให้ประชาชนก่อหนี้มากขึ้น ทำให้กำลังซื้อในอนาคตลดต่ำลงไปอีก และหากในอนาคตแนวโน้มของเศรษฐกิจยังชะลอตัวต่อไปอีก ก็จะมีผลให้ความสามารถในการใช้หนี้ของประชาชนลดลงไปด้วยเช่นกัน

ภาพรวมข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มรายได้ของธุรกิจธนาคารในไทย เพราะการที่ธุรกิจชะลอการลงทุน ทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อธุรกิจได้น้อยลง รายได้ดอกเบี้ยจึงลดลงตาม และความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงของประชาชน ยังจะส่งผลให้เศรษฐกิจมีความเปราะบางมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงต้องเข้ามากำกับให้ธนาคารต้องปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง เพื่อลดการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้เสีย และควบคุมระดับหนี้ครัวเรือนต่อขนาดเศรษฐกิจ  

อีกประการสำคัญ คือ การเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวลงอย่างหนัก ธนาคารกลางแทบทุกประเทศรวมถึงไทย ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งยังต้องช่วยเหลือภาคธุรกิจ ทำให้แนวโน้มรายได้ลดลงเป็นอย่างมาก และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว  

นอกจากนั้น ไทยยังมีอีกหนึ่งเงื่อนไขที่สำคัญ คือ สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตช้าลงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ธุรกิจธนาคารรายใหญ่ในไทยจึงต้องมองหาการลงทุนที่จะสร้างการเติบโตได้กว่าที่เป็นอยู่ในประเทศตอนนี้ 

  •   ทำไม? ธนาคารไทย พุ่งหา “อินโดนีเซีย”  

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจราว 5.8% ต่อปี ทั้งยังมีกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดี โดยคาดว่าภายในปี 2573 เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะก้าวขึ้นเป็นอันดับที่ 7 ของโลก 

เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของอินโดนีเซีย พบว่า ในเดือนกันยายน ปี 2564 อยู่ที่ระดับ 17.2% ต่ำมากเมื่อเทียบกับไทยที่อยู่ในระดับสูงกว่า 90% ตรงนี้คือโอกาสของธุรกิจธนาคารไทย ในการเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดสินเชื่อที่ยังมีความสามารถในการเติบโต 

แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่แตกต่างระหว่างไทยและอินโดนีเซีย นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ธนาคารรายใหญ่ในไทยให้ความสนใจ แต่อีกประการหนึ่งที่ทำให้อินโดนีเซียน่าสนใจมากขึ้น คือ Bank-based Financial System หรือการมีภาคธนาคารเป็นตัวขับเคลื่อนระบบการเงินในประเทศ 

ระบบการเงินดังกล่าว ผลักดันให้ธนาคารมีส่วนสำคัญต่อการทำธุรกิจในอินโดนีเซีย ประกอบกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดึงดูดต่างชาติ รวมถึงไทย ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น ดังนั้น การขยายกิจการของธุรกิจธนาคารไทยไปยังอินโดนีเซีย จึงมีส่วนช่วยขยายขอบเขตของการให้บริการลูกค้าธุรกิจชาติอื่นๆ มากยิ่งขึ้น  อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกของนักลงทุนไทยอีกด้วย 

ย้อนดูการลงทุนของธนาคารไทยในอินโดนีเซีย 

  • ธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และกสิกรวิชั่น ไฟแนนเชียล จำกัด (KVF) เข้าถือหุ้นร่วมกันในธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยสัดส่วน 67.5% โดยเริ่มดำเนินการเข้าซื้อหุ้น (Share Acquasition) ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 63 และใช้เงินลงทุนราว 7.56 พันล้านบาท

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการลงทุนครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากธนาคารกสิกรไทยได้ทำการศึกษา และร่วมงานกับธนาคารแมสเปี้ยนมาก่อนหน้านี้ราว 2 ปี ทำให้เล็งเห็นถึงโอกาสที่มากมาย จากการเป็นตลาดใหญ่ในภูมิภาคที่ยังสามารถเติบโตได้อีก อีกทั้งผู้คนในอินโดนีเซียมีแนวโน้มทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น จึงเป็นพื้นที่ให้ธนาคารกสิกรไทยใช้ความเชี่ยวชาญที่มีในการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการทางการเงินในอินโดนีเซีย 

  • ธนาคารกรุงเทพ

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เข้าซื้อกิจการธนาคารเพอร์มาตาร์ (PT Permatar Tbk) ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยการทำสัญญาซื้อขายหุ้นในสัดส่วน 89.12% กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และ พีที แอสทร่า อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเค รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 8.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดของดีลการซื้อกิจการในต่างประเทศของกลุ่มธนาคารไทย โดยกระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ณ พ.ค. 2563 

ธนาคารกรุงเทพตัดสินใจลงทุนในดีลมหาศาลนี้ จากกลยุทย์การเป็นผู้นำธนาคารในระดับภูมิภาค โดยมองถึงศักยภาพของเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่มีประชากรสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังคงมีอัตราการขอสินเชื่อในระดับต่ำเพียง 36% เท่านั้น จึงถือเป็นโอกาสของธนาคารกรุงเทพที่จะเข้าไปขยายฐานลูกค้า อีกทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้มากขึ้น 

นอกจากนี้ การลงทุนซื้อธนาคารเพอร์มาตาร์ ยังนับว่าเป็นที่ดีลที่เหมาะสม แม้จะใช้เงินเกือบแสนล้านบาท แต่หากพิจารณาจากมูลค่ากิจการตามบัญชี (Book value) แล้วพบว่า เงินลงทุนต่อมูลค่ากิจการ (P/BV) อยู่ที่ราว 1.77 เท่า ซึ่งยังถือเป็นราคาที่สมเหตุสมผล สามารถสร้างกำไรและการเติบโตให้กับธนาคารกรุงเทพได้ 

  • ธนาคารไทยพาณิชย์ 

ช่วงต้นปี2565 ที่ผ่านมา กลุ่มเอสซีบี ประกาศลงทุนเชิงกลยุทธ์ใน Akulaku ผู้ให้บริหารทางการเงินดิจิทัลชั้นนำในอินโดนีเซีย และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Akulalu สินเชื่อดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มและดิจิทัลแบงก์กิ้ง Bank Neo Commerce (BNC) มูลค่ากว่า 3.2 พันล้านบาท โดยเป็นการลงทุนเชิงกลยุท์และความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ และ Akulaku 

อารักษ์ สุธีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิขย์ ให้ความเห็นว่า การลงทุนใน Akulaku ครั้งนี้เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นของบริษัทฯ ต่อโอกาสระยะยาวในอินโดนีเซียที่เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าธนาคารไทยพาณิชย์จะนำความเชี่ยวชาญทางการเงินมาช่วยขยายการให้บริการของ Akulaku ได้ โดยการลงทุนครั้งนี้สอดคล้องกับแผนงานยกระดับองค์กรสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค พร้อมเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการการเงินได้มากขึ้นผ่านนวัตกรรมดิจิทัลมาปรับใช้ เราพร้อมสนับสนุนการเติบโตของ Akulaku อย่างต่อเนื่อง

อีกประการหนึ่ง การพาธุรกิจออกไปแสวงหากำไรในต่างประเทศ ยังนับเป็นกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยง (Risk Diversification) ที่สำคัญ เนื่องจากความเสี่ยงบางประการ เช่น ภัยพิบัติ หรือความไม่แน่นอนทางการเมือง  มักเป็นความเสี่ยงเฉพาะพื้นที่ โดยอาจเกิดขึ้นแค่ภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง การขยายการให้บริการในหลายประเทศของธนาคารไทยจึงอาจช่วยรักษากำไรในส่วนที่มาจากสาขาหรือธุรกิจย่อยในต่างประเทศ แม้ธุรกิจในไทยจะประสบปัญหาบางประการอยู่ก็ตาม 

--------------------------------------------

อ้างอิง

ธนาคารกรุงเทพ , ธนาคารแห่งประเทศไทย , ประชาชาติธุรกิจ , ศูนย์วิจัยกสิกร , Brand Buffet , Brand Inside , Indonesia Investment Coordinating Board