"ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ " ขยายเน็ตเวิร์กเส้นทางไฮซีซัน เร่งปั๊มยอดผู้โดยสาร

"ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ " ขยายเน็ตเวิร์กเส้นทางไฮซีซัน เร่งปั๊มยอดผู้โดยสาร

ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เดินหน้าฟื้นธุรกิจ ขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศรอบทิศสู่ “เอเชีย-โอเชียเนีย” ไฮซีซั่น ปั้นยอดผู้โดยสาร 3 แสนคนปีนี้ เปิดตัว 2 รูทใหม่ “ซิดนีย์-เมลเบิร์น” ธ.ค. ลุยชิงเค้ก “อินเดีย” ต.ค. เพิ่มดีกรีบิน “เกาหลี-ญี่ปุ่น” เต็มอัตราศึก เล็งบินตรง “ยุโรป” ปี 66

สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” เดินหน้าขยายเครือข่ายเส้นทางบินระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งเส้นทางเก่าและใหม่ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียช่วงไตรมาส 4 นี้ซึ่งเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น

หลังเผชิญมหาวิกฤติโควิด-19 มานานกว่า 2 ปี ตั้งเป้าหมายฟื้นจำนวนผู้โดยสารปีนี้ไว้ที่ 3 แสนคน คิดเป็น 15% ของจำนวนผู้โดยสาร 2 ล้านคนเมื่อปี 2562 ท่ามกลางปัจจัยการแข่งขันในภาวะเงินเฟ้อรุมเร้า และปัจจัยเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันและเงินบาทอ่อนค่า กดดันการฟื้นตัวของธุรกิจสายการบิน

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดตัว 2 เส้นทางบินใหม่ สู่เมืองใหญ่ 2 อันดับแรกของประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ เส้นทาง กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) - ซิดนีย์ ความถี่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มบินวันที่ 2 ธ.ค.นี้ และเส้นทาง กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) - เมลเบิร์น ความถี่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มบินวันที่ 1 ธ.ค. ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A330 ขนาด 377 ที่นั่ง คาดมีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) 80-90%

“ก่อนหน้านี้ ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์เคยให้บริการเส้นทาง กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) - บริสเบน แต่ต้องหยุดให้บริการไปในช่วงโควิด-19 ระบาด และคงไม่ทำการบินเส้นทางนี้แล้ว เพราะจะมุ่งปลุกปั้น 2 เส้นทางใหม่สู่ซิดนีย์และเมลเบิร์นเป็นเส้นทางหลักแทน ตั้งเป้าขยายเป็นบินตรงทุกวัน ด้วยความถี่ 2 เที่ยวบินต่อวันในอนาคต”

ก่อนโควิด-19 ระบาด การเดินทางระหว่างไทย-ออสเตรเลียถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพดี มีชาวไทยเดินทางไปออสเตรเลียประมาณ 1 แสนคนต่อปี โดยเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษา 3 หมื่นคนต่อปี กระจายไปในหลายเมืองของออสเตรเลีย แต่ส่วนใหญ่กระจุกที่ซิดนีย์กับเมลเบิร์น

ขณะที่ชาวออสเตรเลียเดินทางมาไทยเกือบ 8 แสนคนต่อปี ประเทศไทยติดอันดับ 7 ของจุดหมายปลายทางที่ชาวออสเตรเลียเดินทางไปเที่ยวมากที่สุด จากฐานประชากรออสเตรเลีย 25 ล้านคน ออกเที่ยวต่างประเทศมากถึง 21 ล้านคนเมื่อปี 2562 ถือเป็นตลาดที่แอคทีฟด้านการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยสถานการณ์ปัจจุบันตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.2565 มีจำนวนชาวออสเตรเลียเที่ยวต่างประเทศสะสมที่ 3.8 ล้านคน ผ่านจุดต่ำสุดเมื่อปี 2564 ซึ่งหดตัวเหลือเพียง 7.9 แสนคน ขณะที่ปี 2563 มีจำนวนรวม 4.9 ล้านคน

“ส่วนเส้นทางใหม่อื่นๆ ของไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ เช่น เส้นทาง กรุงเทพฯ - นิวเดลี ประเทศอินเดีย คาดเริ่มเปิดขายกลางเดือน ก.ย.นี้ เริ่มบินตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป”

++ ลุยฟื้นเที่ยวบิน “เกาหลี-ญี่ปุ่น” เต็มอัตราศึก

นอกจากนี้ ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์จะเร่งฟื้นเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินสู่ประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นให้กลับไปมีความถี่เท่าเดิมเร็วที่สุด จากเมื่อปี 2562 ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์เคยทำการบินเส้นทางกรุงเทพฯสู่ โซล 3 เที่ยวบินต่อวัน โตเกียว 3 เที่ยวบินต่อวัน โอซาก้า 2 เที่ยวบินต่อวัน และซัปโปโร 1 เที่ยวบินต่อวัน

ปัจจุบันกลับมาให้บริการเส้นทางสู่โซล 1 เที่ยวบินต่อวัน มีโหลดแฟคเตอร์ดีมากราว 80-90% ส่วนโตเกียว 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เฉพาะขาเข้าโตเกียว มีโหลดแฟคเตอร์ที่ 75% ตามมาตรการจำกัดโควตาผู้เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น ต้องรอการผ่อนคลายมาตรการฯเพิ่มเติม ส่วนขาออกสามารถขนผู้โดยสารเท่าไรก็ได้

“เราคาดว่าภายในเดือน ต.ค.นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นน่าจะผ่อนคลายมาตรการเดินทางฯให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) เข้าไปเที่ยวญี่ปุ่นได้มากขึ้น เนื่องจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวของญี่ปุ่น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีกำลังเดือดร้อน และบีบให้รัฐบาลเร่งผ่อนคลายมาตรการฯมากขึ้น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศซึ่งพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเช่นกัน”

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งประกาศยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มก่อนบินเข้าญี่ปุ่น โดยต้องเป็นยี่ห้อที่รัฐบาลญี่ปุ่นรับรองเท่านั้น อาทิ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตร้าเซเนกา โนวาแวกซ์ และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.2565 เป็นต้นไป

สำหรับตารางการบินของไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ในเดือน ธ.ค.นี้ จะเพิ่มความถี่เที่ยวบินสู่ประเทศญี่ปุ่น เส้นทางโตเกียว เป็น 1-2 เที่ยวบินต่อวัน เส้นทางโอซาก้า เพิ่มเป็น 1 เที่ยวบินต่อวัน โดยน่าจะเริ่มบินตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเส้นทางซัปโปโร 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

“หากสามารถกลับมาทำการบินเส้นทางยอดนิยมสู่เกาหลีและญี่ปุ่น ด้วยความถี่เที่ยวบินเท่ากับก่อนโควิด-19 ระบาด จะทำให้สิ้นปีนี้ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์มีการใช้เครื่องบินปฏิบัติการจริงเพิ่มเป็น 6 ลำตามเป้าหมาย จากปัจจุบันใช้จริงอยู่ 3 ลำ จากฝูงบินปัจจุบันที่มีทั้งหมด 8 ลำ ปรับลดจากเดิมที่เคยมีฝูงบินรวม 15 ลำก่อนโควิด-19 ระบาด”

 

++ เล็งเปิดบินตรง “ยุโรป” ปี 66

ส่วนเส้นทางบินสู่ประเทศรัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์สนใจทำการบินไป 2 เมือง ได้แก่ มอสโกว และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่ยังต้องจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับปัจจุบันยังติดข้อจำกัดด้านการทำประกันภัยของนักท่องเที่ยวอยู่

“ทั้งนี้ในปี 2566 ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์สนใจเปิดเส้นทางบินไปยุโรป แต่ยังศึกษาอยู่ว่าจะบินเส้นทางไหนบ้าง และเศรษฐกิจของประเทศต้นทางเป็นอย่างไร เพราะยังอยู่ในช่วงต้องเฝ้าระวังภาวะเงินเฟ้อ”

 

++ การเมืองไทยช่วงเปลี่ยนถ่ายไม่กระทบทัวริสต์

นายธรรศพลฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจสายการบินในช่วงครึ่งหลังปี 2565 ปัจจุบันแนวโน้มราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง ทำให้สัดส่วนต้นทุนน้ำมันอยู่ที่ 30-35% เมื่อเทียบกับต้นทุนการบินทั้งหมด ลดลงจากสัดส่วน 40% ในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงกว่านี้

อย่างไรก็ตาม สมาคมสายการบินประเทศไทยต้องการให้รัฐบาลขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นสำหรับอากาศยานภายในประเทศ จากเดิมอัตราลิตรละ 4.726 บาท เป็นลิตรละ 0.20 บาท ออกไปอีก จากล่าสุดได้ขยายตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค.2565 

ส่วนปัจจัยเรื่องเงินบาทอ่อนค่า ที่ผ่านมาธุรกิจสายการบินได้รับบาดเจ็บพอสมควร น้ำมันแพงไม่พอ เงินบาทยังอ่อนค่าอีก จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม

“สำหรับปัจจัยการเมืองไทย เนื่องจากในปี 2566 จะมีการเลือกตั้งตามกำหนด มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะเลือกตั้งก็คือเลือกตั้ง แต่ถ้ามีการปฏิวัติถึงจะมีผล ทั้งนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเขาไม่ได้สนใจการเปลี่ยนถ่ายทางการเมืองในช่วงนี้ด้วย เขาสนใจมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวมากกว่า เช่น สายการบินไหนมีโปรโมชั่นบ้าง ศูนย์การค้าไหนจัดโปรโมชั่นให้ส่วนลดอย่างไรบ้าง”

 

++ แอร์ไลน์แข่งดุ “ภาพลักษณ์-เทคนิคตลาด”

ด้านแนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจสายการบิน มองว่าจะแข่งขันกันอย่างฉลาดขึ้น แข่งกันด้วยภาพลักษณ์ ใช้เทคนิคด้านการตลาดมากขึ้น ไม่เอาเรื่องราคามาสาดกันเหมือนเมื่อก่อน เพราะทุกคนบาดเจ็บมามาก ผลประกอบการธุรกิจย่ำแย่จากวิกฤติโควิด-19 ที่กินเวลายาวนานกว่า 2 ปี และไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐเลย

“สำหรับผลประกอบการของไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ปีนี้ยังขาดทุน แต่เป็นการขาดทุนน้อยลงไปมาก ส่วนในปลายปีนี้ ศาลล้มละลายกลางถึงจะสั่งให้เราทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระหว่างนี้ต้องประนีประนอมหรือไกล่เกลี่ย (Reconcile) เรื่องตัวเลขระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ก่อนว่าเห็นต้องตรงกัน จากนั้นเราค่อยทำแผนฯ”

\"ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ \" ขยายเน็ตเวิร์กเส้นทางไฮซีซัน เร่งปั๊มยอดผู้โดยสาร