ผู้ก่อตั้ง ‘ฮาตาริ’ บริจาค 900 ล. มากกว่าสร้าง “ศรัทธา มาร์เก็ตติ้ง” ให้แบรนด์

ผู้ก่อตั้ง ‘ฮาตาริ’ บริจาค 900 ล. มากกว่าสร้าง “ศรัทธา มาร์เก็ตติ้ง” ให้แบรนด์

การบริจาคเงินมูลค่า 900 ล้านบาท ของอากง “จุน วนวิทย์” ผู้ก่อตั้งพัดลมแบรนด์สัญชาติไทย “ฮาตาริ” กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมยกย่องอย่างยิ่ง เนื่องจากการทำบุญโดยไม่หวังผลตอบแทนของมหาเศรษฐีของเมืองไทยเช่นนี้ เป็นสิ่งที่หลายคนอยากเห็น

“จุน วนวิทย์” ในวัย 85 ปี รวมถึง “สุนทรี วนวิทย์” และครอบครัว ได้ทำการให้ครั้งยิ่งใหญ่ บริจาคเงินส่วนตัว 900 ล้านบาท ให้แก่มูลนิธิรามาธิบดี ทันทีปรากฎภาพเช็กก้อนโต ทำให้ นักธุรกิจ เศรษฐีใจบุญที่ทำตัวเงียบๆ โด่งดังในข้ามคืน ผู้คนสนใจประวัติชีวิต การศึกษา ตลอดจนเส้นทางการทำธุรกิจ จากอดีตเจ้าของร้านซ่อมพัดลม สู่การเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และแบรนด์พัดลม “ฮาตาริ” ซึ่งยืนหยัดในตลาดยาวนานหลายทศวรรษ

การทำความดีครั้งนี้ ยังทำให้ผู้บริโภคมี Engagement กับแบรนด์สูงมาก โดยวันที่ 28 ก.ค.65 ติดท็อป 3 การค้นหาบน Google trends นอกจากนี้ 10 อันดับเทรนด์จาก Wisesight ที่ผู้บริโภคพูดถึงบนโลกออนไลน์ จำนวน 8 อันดับ เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพัดลม “ฮาตาริ” ทั้งสิ้น เรียกว่ามาแรงแซงทุกกระแสจริงๆ

หากมองภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า มีหลากหลายหมวด ย่อลงมายังสินค้าหน้าร้อน “พัดลม” เป็นหนึ่งในสินค้าที่ทุกบ้านต้องมี ส่วนยี่ห้อไหนที่ครองใจ นาทีนี้คงต้องยกให้ “ฮาตาริ”

ทั้งนี้ ทันทีที่ข่าวการบริจาคเงินของ “จุน” ทำให้ผู้บริโภคต้องการสนับสนุนและซื้อพัดลมฮาตาริทันที กรุงเทพธุรกิจ สำรวจตลาดผ่านร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำอย่าง เพาเวอร์บาย สาขาเซ็นทรัล บางนา ในวันที่ 28 ก.ค.2565 พนักงานขายให้ความเห็นว่า มีผู้บริโภคสนใจสอบถามสินค้ามากขึ้น และมีการขายออกไปหลายตัว

ผู้ก่อตั้ง ‘ฮาตาริ’ บริจาค 900 ล. มากกว่าสร้าง “ศรัทธา มาร์เก็ตติ้ง” ให้แบรนด์ Cr.wisesight : เทรนด์ความสนใจชาวโซเชียลต่อ 'ฮาตาริ'

เมื่อดูตามห้างร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าเอง “ฮาตาริ” แทบจะยึดครองพื้นที่โชว์สินค้าในฐานะ “เจ้าตลาด” ด้วยจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่น หน้ากว้าง พัดแรงได้ใจผู้บริโภคเพื่อดับร้อน อีกทั้งจำนวนสินค้ามีให้เลือกหลากหลายรายการ(SKUs) ทั้งขนาด และสีสัน เมื่อเทียบกับพัดลมแบรนด์อื่นๆ ที่ตัวเลือกน้อยมากๆ

เจาะลึกพอร์ตโฟลิโอสินค้าของ “ฮาตาริ” มีทั้งพัดลมเคลื่อนที่ พัดลมติดตั้ง พัดลมอุตสาหกรรม พัดลมไอเย็น พัดลมระบายอากาศ รวมถึงเครื่องฟอกอากาศ โดยมีการพัฒนานวัตกรรมออกแบบ ดีไซน์ ให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

ด้านกลยุทธ์ “ราคา” ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ฮาตาริ” เป็นพัดลมที่ราคาไม่สูงนักเริ่มต้นหลัก "ร้อยบาท"  ทำให้ผู้บริโภคในวงกว้าง(Mass)สามารถเข้าถึงได้ นั่นจึงทำให้ห้วงเวลานี้ ผู้บริโภคต่างพากันอวดภาพ แสดงการสนับสนุนว่าที่บ้านต่างก็ใช้ยี่ห้อ “ฮาตาริ” เป็นไวรัลในสื่อสังคมออนไลน์

ผู้ก่อตั้ง ‘ฮาตาริ’ บริจาค 900 ล. มากกว่าสร้าง “ศรัทธา มาร์เก็ตติ้ง” ให้แบรนด์ สำหรับสินค้าพัดลม เป็นหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผู้ประกอบการป่าวประกาศสร้างแบรนด์ ทำการตลาดค่อนข้างน้อย มีเพียงบางแบรนด์เท่านั้นที่ออกอาวุธเชิงรุก ขณะที่ “ฮาตาริ” แม้จะไม่แถลงแผน แต่เน้นไปที่การประชุมกับตัวแทนจำหน่ายหรือดีลเลอร์ เพื่อปั๊มยอดขายเป็นหลัก

การเป็นแบรนด์ดัง โปรดักท์แมส กลยุทธ์การสื่อสารตลาดของ “ฮาตาริ” จึงมีการสร้างสรรค์ผลงานโฆษณาออกสู่สายตาผู้บริโภคอยู่เสมอ การเล่าเรื่อง(Storytelling) เน้นนำเสนอความสนุกสนาน โดนจริตผู้บริโภคชาวไทย

ทว่า สิ่งที่เหนือกว่าเรื่องราวของแบรนด์คือ “ตัวพัดลม” ที่ชูดจุดแข็งฟังก์ชั่นครบครันทั้ง ทนทาน และเย็นทั่ว ถึงใจ เป็นต้น 

ในวันที่โลกเคลื่อนตัวสู่ดิจิทัล และการตลาดต่างมุงสู่ออนไลน์ แต่การทำตลาดของ "ฮาตาริ" ผ่านเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการ ไม่ได้เน้นสื่อสาร สร้างแบรนด์หนักหน่วง กลับนำเสนอกิจกรรมเพื่อสังคม การการสื่อสารเชิงบวกมากกว่าโปรโมทแบรนด์ด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค สิ่งหนึ่งที่นักการตลาดมักย้ำเสมอคือ “คุณภาพ” ซึ่งเป็นสิ่ง “พื้นฐานสำคัญ” ที่แบรนด์ต้องส่งมอบให้ลูกค้า หากสามารถทำตามที่โฆษณาชวนเชื่อ ย่อมเป็นแบรนด์ที่ครองใจกลุ่มเป้าหมาย(Top of Mind)เกิดศรัทธาและความจงรักภักดีต่อแบรนด์(Loyalty) 

ผู้ก่อตั้ง ‘ฮาตาริ’ บริจาค 900 ล. มากกว่าสร้าง “ศรัทธา มาร์เก็ตติ้ง” ให้แบรนด์ ภาพรวมตลาด รายงานข่าวจากวงการพัดลม หยิบมูลค่าหมวดหมู่พัดลมไอเย็นอยู่ที่ระดับ 2,000-3,000 ล้านบาท ขณะที่ “ฮาตาริ” เป็นเจ้าตลาดพัดลมของเมืองไทยยาวนานกว่า 20 ปี โดยบริษัทยังคงสร้างผลการดำเนินงานที่ดี

รายงานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุรายได้ของบริษัท ฮิตาริ อิเลคทริค จำกัด เป็นดังนี้

ปี 2564 รายได้รวมกว่า 6,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.42% กำไรสุทธิกว่า 65 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้รวมกว่า 6,200 ล้านบาท ลดลง 4.34% กำไรสุทธิกว่า 73 ล้านบาท

ปี 2562 รายได้รวมกว่า 6,500 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 58 ล้านบาท

ย้อนไปปี 2559 รายได้รวมกว่า 5,300 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 28 ล้านบาทเท่านั้น

ผู้ก่อตั้ง ‘ฮาตาริ’ บริจาค 900 ล. มากกว่าสร้าง “ศรัทธา มาร์เก็ตติ้ง” ให้แบรนด์ กว่า 20 ปีที่พัดลม “ฮาตาริ” แบรนด์ไทยอยู่เคียงข้างคนไทย วันนี้การบริจาคที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน กลายเป็นพลังบวกให้กับแบรนด์อย่างมาก เพราะเชื่อว่าจากนี้ไป ผู้บริโภคชาวไทยที่จะเลือกซื้อพัดลม คงฉุกคิดถึงแบรนด์ “ฮาตาริ” อย่างแน่นอน ส่วนระยะยาว สิ่งที่ “จุน วนวิทย์” ให้แก่สังคมจะ เอื้อให้แบรนด์เติบโตอย่างยั่งยืนในทิศทางไหน ต้องติดตามต่อไป