การแก้ไขหนี้นอกระบบ ที่ไร้ระบบของประเทศไทย (3)

การแก้ไขหนี้นอกระบบ ที่ไร้ระบบของประเทศไทย (3)

ในปี 2560 กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพแก้ไขหนี้ดูแล้วเป็นระบบตั้งเป้าจะทำให้หนี้นอกระบบเป็นศูนย์ ตั้งแต่ปี 2560 แต่หนี้นอกระบบก็เพิ่มสูงขึ้น แสดงว่าการแก้ไขหนี้นอกระบบไม่ได้ผล

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า “เป้าหมายสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบคือการทำให้ลูกหนี้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ” ช่วยลูกหนี้ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อลดภาระด้านดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ครัวเรือนปลดภาระหนี้ได้เร็วขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนด หลักเกณฑ์ Risk-based pricing (RBP) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันและสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผู้ปล่อยกู้ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามความเสี่ยงของลูกหนี้ 

โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมทดสอบใน Sandbox ในช่วงไตรมาส 2/2567 ซึ่งหากในอนาคตมีผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การทดสอบออกจาก Sandbox ได้มากขึ้น ก็จะช่วยเสริมโอกาสให้ลูกหนี้นอกระบบสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

ในขณะที่รัฐบาลที่ประกาศให้การแก้ไขหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ใช้กระบวนการตรวจสอบและยืนยันสถานะของลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจทั่วประเทศ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน จูงใจให้เจ้าหนี้มาร่วมแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้ และกำลังพิจารณาต่อว่าจะดำเนินการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้นอกระบบนำเงินไปปิดหนี้นอกระบบ

ในอดีตกระทรวงการคลังมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการ โดยตั้งเป้าแก้ปัญหาทั้งในส่วนของลูกหนี้และเจ้าหนี้ควบคู่กันอย่างเป็นระบบ รัฐบาลได้มีพระราชบัญญัติ (พรบ) ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 เพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบ เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้นอกระบบและประชาชนทั่วไป

โดยอนุญาตให้เจ้าหนี้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์และฟิโกไฟแนนซ์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจัดตั้งหน่วยธุรกิจเพื่อรับผิดชอบให้คำปรึกษาเรื่องการแก้ไขหนี้นอกระบบและจัดให้มีสินเชื่อแบบใหม่ เพื่อทดแทนหนี้นอกระบบ ในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม จัดให้มีคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ทุกจังหวัด โดยตั้งเป้าหมายที่จะทำให้หนี้นอกระบบเป็นศูนย์ในปี 2560

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2560 คนไทยมีหนี้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 150,000 บาท (ไม่รวมหนี้เพื่อการศึกษา หนี้จากสหกรณ์ และหนี้นอกระบบ) ผ่านมาแล้ว 6 ปี คนไทยมีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 231,818 บาทต่อคน จากตัวเลขประมาณการหนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนไทยของ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2564 ประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่ารัฐบาลประเมินว่าหนี้นอกระบบของไทยอาจมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท ตัวเลขหนี้นอกระบบของ รศ ดร อนุสรณ์ ธรรมใจระบุว่าหนี้นอกระบบสูงถึง 3.48 ล้านบาท ในปี 2566

ดูตัวเลขหนี้นอกระบบแล้วก็มึน ไม่รู้จะชื่อใครดี ในปี 2560 กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพแก้ไขหนี้ดูแล้วเป็นระบบตั้งเป้าจะทำให้หนี้นอกระบบเป็นศูนย์ ตั้งแต่ปี 2560 แต่หนี้นอกระบบก็เพิ่มสูงขึ้น แสดงว่าการแก้ไขหนี้นอกระบบไม่ได้ผล รัฐบาลนี้ให้กระทรวงมหาดไทย

เป็นเจ้าภาพ นึกไม่ออกว่าจะแก้ไขหนี้นอกระบบได้อย่างไร กว่าจะประสบความสำเร็จ คงจะมีข่าวเหมือนคุณยายที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่สามีตัดสินใจผูกคอเสียชีวิต เพื่อนำเงินฌาปนกิจมาใช้หนี้นอกระบบ ความตายทำให้หายจนและพ้นทุกข์ รอรัฐบาลไม่ไหวแล้วครับ…