สิ่งที่ท่านจะ ”ค้นพบ” เมื่อลองกลับไปเป็นลูกน้อง 1 สัปดาห์ !?

สิ่งที่ท่านจะ ”ค้นพบ” เมื่อลองกลับไปเป็นลูกน้อง 1 สัปดาห์ !?

เมื่อท่านย้อนกลับมาเป็นลูกน้อง 1 สัปดาห์ ท่านจะได้มีโอกาสมองเห็นการนำ การบริหาร การสื่อสาร ของตัวท่านในฐานะผู้นำของท่าน! แล้วท่านจะได้พบอะไรบ้างล่ะ?

Part.1. ผู้นำ…มักจะ สายตายาวเกิน และ หูดับ เป็นระยะ!?

ผู้นำทุกระดับ ตั้งแต่เจ้าของกิจการ /ผู้จัดการ /ลงมาถึงหัวหน้าทีม มักจะมีโรคประจำตัว

ที่ไม่รู้ตัวหลายโรค (ที่ไม่รู้ตัวเพราะลูกน้อง ไม่ค่อยกล้าบอก เพราะบอกแล้วลูกน้องจะหมดอนาคต!)

โรคประจำตัว ยอดฮิตอันดับต้นๆ ได้แก่ โรคสายตายาว ยาวเกินไป! คือมีวิสัยน์ทัศน์ที่กว้างไกล แต่ส่วนมากจะไกลเกินความเป็นจริง! เพราะไม่รู้ หรือแกล้งไม่รู้ และไม่สนใจเลยว่า

ศักยภาพของทีมในองค์กร หรือหน่วยงาน มีความสามารถเพียงพอที่จะไปให้ถึงหรือไม่!

โรคยอดฮิต ติดอันดับต้นๆถัดมา คือ โรคหูดับ คือ ไม่ค่อยฟังใคร โดยเฉพาะไม่ชอบฟังลูกน้อง ไม่ว่าลูกน้องจะบอกปัญหา หรือบอกอะไร มักจะฟังไม่จบประโยคก็หงุดหงิด หรือ

สวนกลับทันที ทำให้ลูกน้องไม่กล้าพูดอะไรที่สำคัญที่เป็นความจริง ยิ่งทำให้โรคหูดับเป็นมากยิ่งขึ้น!

 

Part.2. จะเกิดอะไรขึ้นถ้า….?

ท่านสามารถ ลองกลับไปเป็นลูกน้อง 1 สัปดาห์ !?

เมื่อท่านได้ลองกลับไปเป็นลูกน้อง เป็นใครก็ได้ ที่ไม่ใช่ตัวท่านเอง โดยที่มีตัวท่านเอง

เป็นผู้นำ (ผู้นำระดับใดก็ได้ ตั้งแต่เจ้าของกิจการ /ผู้จัดการ /ลงมาถึงหัวหน้าทีม ในตัวที่ท่านเป็นจริงๆในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน)

พูดง่ายๆคือ เมื่อท่านย้อนกลับมาเป็นลูกน้อง ท่านจะได้มีโอกาสมองเห็นการนำ การบริหาร การสื่อสาร ของตัวท่านในฐานะผู้นำของท่าน!)

แล้วท่านจะได้พบอะไรบ้างล่ะ?

Part.3. สิ่งที่ท่านจะค้นพบ เมื่อท่านลองเป็นลูกน้อง ของตัวท่านเอง !

ท่านอาจจะมองเห็น(ในมุมมองลูกน้อง)…ในที่ประชุม ทำไมตัวท่านที่เป็นผู้นำ พูดเยอะจัง! พูดเยอะไม่พอ ประเด็นที่พูดมักจะเป็นการขยี้ประเด็น เชิงบ่น เชิงพรรณนาแบบน่าเบื่อ ไม่น่าฟัง ไม่ค่อยมีเรื่องที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกน้อง บ่อยครั้งมักจะตำหนิแบบขวานผ่าซากในที่ประชุมให้ลูกน้องหน้าแหก หน้าซีดใช้ครีมอะไรก็ไม่สามารถลดริ้วรอยแห่งความทุกข์บนใบหน้าของลูกน้องแต่ละคนได้!

ท่านอาจจะมองเห็น(ในมุมมองลูกน้อง)…. ว่า บรรดาลูกน้อง มักจะจับกลุ่ม คุย บ่น ปัญหาใหญ่ๆที่เป็นปัญหาซ้ำซาก แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข เพราะท่านในฐานะผู้นำ มองว่าเป็นเรื่องเล็ก เลยไม่ได้ใส่ใจที่จะแก้ปัญหา เลยทำให้พนักงาน ท้อแท้ หมดกำลังใจ ไม่มีอะไรดีไปกว่าจับกลุ่มเม้าท์มอยไปวันๆ!

ท่านอาจจะมองเห็น(ในมุมมองลูกน้อง)…. ว่าวิสัยน์ทัศน์อันกว้างไกลของท่าน เป้นไปได้ยากมากที่จะไปให้ถึง เพราะ ความสามารถของทีมงานในหลายๆหน่วยงาน นอกจากขาดทักษะที่จำเป็นต้องใช้เพื่อไปให้ถึงแล้ว ยังไม่ได้รับการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นเหล่านั้น คือมีแต่ Old Skill ทักษะเก่าๆที่ส่วนมากใช้ไม่ได้ผลในยุคปัจจุบัน เมื่อไม่ได้ Re-Skill และ Up-Skill ก็ย่อมไม่มี New Skill ที่ควรมี!

ท่านอาจจะมองเห็น(ในมุมมองลูกน้อง)…. ว่า นอกเหนือจากทักษะที่มีไม่เพียงพอแล้ว ปัญหาในเรื่อง ทัศนคติ ที่ท้อแท้ เบื่อหน่าย จากปัญหาหมักหมมของหน่วยงาน ของสินค้า ขององค์กร ที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแล แก้ไข อันเกิดจาก โรคสายตาที่ยาวเกินไปและโรคหูดับของผู้นำ

ทำให้ เป้าหมายที่ผู้นำต้องการจะไป มักจะสะดุด หรือปราศจากความร่วมแรง ร่วมใจ อย่างจริงจังจากทีมงาน

ท่านอาจจะมองเห็น(ในมุมมองลูกน้อง)…. ว่า นโยบายสวยหรู ที่ ผู้นำเคยประกาศมาหลายปี ว่า ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) แต่ในชีวิตจริง เวลาลูกค้าร้องเรียนอะไรมาก แล้วบรรดาผู้จัดการพยายามแก้ไขปัญหา แต่ไม่สามารถแก้ได้เท่าที่ควรจะเป็น เพราะติดปัญหาในเรื่อง วัฒนธรรมองค์กรที่ส่งผลเสีย คือ หน่วยงานใครหน่วยงานมัน ปัญหาของหน่วยงานอื่นไม่เกี่ยวกับหน่วยงานเรา

หรือติดปัญหาเรื่องโครงสร้าง เรื่องระบบงาน ที่ต้องการให้ผู้นำ ช่วยสั่งการ แก้ไข แต่ผู้นำไม่มีเวลามาใส่ใจเพราะคิดแต่จะมุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว

Part.4.วิธีย้อนกลับไปเป็น ลูกน้อง โดยไม่ต้องข้ามมิติหรือย้อนเวลา!?

ในชีวิตจริง ท่านย่อมไม่สามารถข้ามมิติ ไม่สามารถย้อนเวลา หรือเสกให้ตัวท่านกลับไปเป็นลูกน้องได้แต่มีวิธีที่ช่วยให้ท่าน เสมือนกลับไปเป็นลูกน้อง เข้าใจลูกน้องได้มากขึ้นโดย

วิธีแรก “ไปนั่งทำงานในหน่วยงานนั้น”

วิธีการคือ เปิดใจของตนเองและคุยเปิดใจกับลูกน้องในหน่วยงานนั้น ว่าต้องการรับรู้ถึงปัญหาต่างๆสัมผัสประสบการณ์ด้วยตนเองเพื่อที่จะหาทางแก้ปัญหา บอกกับลูกน้องให้ทำงานตามปกติ และท่านก็ทำงานในบทบาทหน้าที่นั้นโดยอย่าคิดว่าตนเองเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้จัดการ

ในวันแรก ถึงแม้พนักงานอาจจะ งง และ เกร็งๆบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติ แต่ท่านจะพบกับเรื่องผิดปกติ

ที่ท่านคาดไม่ถึง แค่วันแรกท่านก็จะค้นพบอะไรบางอย่างที่ท่านอาจจะ อึ้ง ทึ่ง แน่นอน!

วิธีที่สอง “คุยกับลูกน้องอย่างเปิดใจ โดยไม่หูดับ”

จะคุยเป็นกลุ่มย่อย หรือ คุยทีละคน ก็แล้วแต่ท่านสะดวก คุยแบบเปิดใจตัวท่านเอง แค่คุยไม่กี่คน ไม่กี่ครั้ง โดยคุยแบบพร้อมที่จะฟังอย่างตั้งใจ ไม่หูดับ ท่านจะตื่นรู้เรื่องราวลึกๆที่ท่านคาดไม่ถึงอีกเช่นกัน

Part5.สรุป

เรื่องที่น่ากังวลคือ ลองดูนะครับ จะเลือกใช้วิธีแรก หรือ วิธีที่สอง หรือทั้งสองวิธี ก็แล้วแต่ความชอบของท่าน แล้วท่านจะ”ค้นพบ” ที่มาของปัญหาในหลายๆเรื่อง และทางแก้เมื่อท่านลองกลับไปเป็นลูกน้อง 1 สัปดาห์!