ย้อนอดีตการล่มสลายของธนาคารพาณิชย์ไทย สาเหตุและบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ (5)

ย้อนอดีตการล่มสลายของธนาคารพาณิชย์ไทย สาเหตุและบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ (5)

การล่มสลายของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ เปรียบเสมือนมหากาพย์ที่ผู้ที่เกี่ยวของหลายคนยังมีบทบาทที่โลดแล่นอยู่ในสังคมปัจจุบัน

จากบทความของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ในคอลัมน์ “หอคอยส่องโลก” Financial Day ฉบับวันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2539 ระบุว่าเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบพบปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาเป็นเวลาช้านานแล้วแต่ไม่มีการแก้ปัญหา ทำให้ฐานะการเงินเลวร้ายลง เมื่อสิ้นปี 2538 มีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรวมกันทั้งสิ้น 77,968 ล้านบาท คิดเป็น 47.2 ของสินทรัพย์รวม ซึ่งมีมูลค่า 181,880 ล้านบาท ฐานะที่แท้จริงของธนาคารต้องถือว่าล้มละลาย 

รายงานเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ธนาคารหารายได้หลักจากการให้สินเชื่อเพื่อครอบงำกิจการ (Leveraged Buy-out) การอนุมัติสินเชื่อเป็นไปอย่างหละหลวม โดยมิได้สนใจวิเคราะห์ฐานะ พื้นฐานการประกอบธุรกิจ และความสามารถในการชำระหนี้ อีกทั้งมิได้เรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันให้คุ้มหนี้เงินกู้ ทั้งที่ผู้บริหารระดับสูง เคยเป็นลูกหม้อของธนาคารแห่งประเทศไทย มีการจัดสรรสินเชื่อให้แก่บริษัทกระดาษ (Paper company) ที่จัดตั้งขึ้นในต่างประเทศ 

โดยมีการอนุมัติสินเชื่อให้แก่กลุ่มการเมืองนำเงินไปกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร มีการจัดสรรสินเชื่อให้กรรมการ พนักงานหรือตัวแทนที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องด้วย การบริหารจัดการเป็นไปประดุจบริษัทในครอบครัว (family company) จากรายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ในต้นปี 2539 กรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อสูงถึง 5,000 ล้านบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทย เลือกใช้ไม้นวมในการควบคุมและกำกับมาตลอด ทั้ง ๆ ที่มีไม้แข็งคือ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2522 ในรอบปี 2538 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เตือนธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการหลายครั้ง แต่ธนาคารไม่ได้ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา การจัดการปัญหาของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นไปอย่างล่าช้า มีคำถามมากมายในขณะนั้นว่า มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (conflict of interests) หรือไม่

เนื่องจากตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์มติชนและประชาชาติธุรกิจว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ควบคุม กำกับ และตรวจสอบการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ เป็นลูกหนี้ของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ ได้สินเชื่อโดยปราศจากหลักทรัพย์ค้ำประกัน

เหตุใดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเลือกกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ที่มีฐานะง่อนแง่นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี พ.ศ. 2535-2539 ก่อนการล่มสลายของธนาคารคือ “ราเกซ สักเสนา” ซึ่งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของ นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยเฉพาะการทำธุรกรรมทางการเงินใหม่ ๆ อย่างการปล่อยกู้เพื่อครอบงำกิจการ ซึ่งสร้างผลกำไรให้กับธนาคารถึง 241 ล้านบาท

ในปี พ.ศ. 2536 โดยเป็นการปล่อยให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนซื้อกิจการในประเทศไทย นายราเกซ สักเสนา เจ้าของฉายา “พ่อมดทางการเงิน” ยังมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง นายราเกซ ฯ เป็นผู้ที่คอยให้ชื่อบริษัทที่ควรจะเข้าไปเทกโอเวอร์ จากรายงานข่าวข่าวของหนังสือพิมพ์มติชน ระบุว่าช่วงเวลาเพียงปีเศษ ได้ปล่อยสินเชื่อในการเทกโอเวอร์บริษัทต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งสิ้น 21 ครั้ง เป็นวงเงินสูงถึง 36,000 ล้านบาท

การล่มสลายของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ เปรียบเสมือนมหากาพย์ที่ผู้ที่เกี่ยวของหลายคนยังมีบทบาทที่โลดแล่นอยู่ในสังคมปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามารับผิดชอบ

แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศต้องศึกษาครับ…