‘แอชตัน อโศก’ สะเทือน ‘หุ้น ANAN’ ซ้ำเติมงบการเงินที่ยังคงเปราะบาง...

‘แอชตัน อโศก’ สะเทือน ‘หุ้น ANAN’ ซ้ำเติมงบการเงินที่ยังคงเปราะบาง...

มารู้จัก “ANAN” เจ้าของ “แอชตัน อโศก” ที่กำลังสั่นสะเทือนวงการอสังหาฯ เมืองไทย จากโครงการเคยเป็นเสน่ห์ “ดึงดูด” นักลงทุนราคาหุ้นแตะ 5.94 บาทปี 61 แต่วันนี้ ! กลายเป็นชนวนเหตุคลุมเครือหุ้น ANAN ทำราคาต่ำสุด 0.84 บาท ยังซ้ำเติมความเปราะบางเดิมที่ฐานะการเงิน “ขาดทุน” !!

            ในช่วง “วิกฤติโควิด-19” ที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์” เป็นเซ็กเตอร์ที่ได้รับผลกระทบหนัก ! ทั้งกำลังซื้อคนไทยและต่างชาติชะลอตัว แต่หลังจากไทยเปิดประเทศทิศทางของธุรกิจอสังหาฯ เริ่มผงกหัวขึ้น... สะท้อนจากตัวเลขผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย (บจ.) ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 ที่หลาย บจ. มีตัวเลขการเติบโตดีขึ้น หรือ เป็นการขาดทุนลดลง...      

              และหนึ่งในนั้นคือ ผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่กำลังมีประเด็น “สั่นสะเทือน” วงการอสังหาฯ เมืองไทยในตอนนี้ คงหนีไม่พ้น บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ซึ่งมีคนในตระกูล “เรืองกฤตยา” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หากดูอนันดาเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อปี 2555 ด้วยราคาไอพีโอหุ้นละ 4.20 บาท

               แต่ล่าสุด 27 ก.ค. 2566 ประเด็นโครงการแอชตัน อโศก กลับมาสร้างแรงสั่นสะเทือนอีกครั้ง หลังจากกรณีศาลปกครองกลางสูงสุดได้มีคำพิพากษา “เพิกถอน” ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร แอชตัน อโศก มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดแล้ว ! 

หากย้อนกลับไปปี 2557  “แอชตัน อโศก” ถูกสร้างขึ้นเป็นโครงการคอนโดหรู ติดแนวรถไฟฟ้า BTS อโศก และ MRT สุขุมวิท เรื่องนี้ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่สำคัญประเด็นคือ โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ อาคารสูงกว่า 51 ชั้น ซึ่งตามกฎหมายผังเมืองแล้ว อาคารสูง ต้องมีทางเข้าที่มีหน้ากว้าง 12 เมตร เชื่อมไปถึงตัวอาคาร เพื่อให้รถดับเพลิงเข้าออกได้สะดวก แต่โครงการดังกล่าวกลับมีที่ดินด้านที่ติดถนนใหญ่กว้างไม่เพียงพอ โครงการ จึงได้ทำข้อตกลง กับ การไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อขอใช้ที่ดินทำเป็นพื้นที่ เข้าออก เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์

แต่หลังจากสร้างมาได้ 2 ปี ทางสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และ ผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้น ก็ได้ยื่นฟ้องแก่ศาลปกครองกลางหลายข้อ แต่ข้อที่กลายมาเป็นประเด็นก็คือว่า การออกใบอนุญาตให้ “อนันดา” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อนันดายังเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวดำเนินการถูกต้อง... จึงยังคงเดินหน้าสร้างโครงการ แอชตัน อโศก ต่อไป และท้ายที่สุดก็สร้างเสร็จในปี 2561

จนกระทั้งมาเมื่อ 2 ปีก่อน ! คดีที่ค้างอยู่ศาลปกครองก็มีความคืบหน้า ศาลปกครองชั้นต้น ตัดสินให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง แอชตัน อโศก เนื่องจากมองว่าที่ดินที่ รฟม. นำมาปล่อยเช่า เป็นที่ดินที่เวนคืนจากชาวบ้านในระแวกนั้น เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ของกิจการรถไฟฟ้า ซึ่งศาลเห็นว่าการนำที่ดินไปปล่อยให้โครงการเช่าเพื่อขยายถนน เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของเอกชนฝ่ายเดียว ไม่ใช่เพื่อประโยชน์สาธารณะ

ต่อมาอนันดาก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และมาวันนี้ ! ศาลปกครองสูงสุดก็เห็นตามศาลปกครองชั้นต้นว่าจะให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างโครงการแห่งนี้.. ถือเป็นการสิ้นสุดคดีความ ! ล่าสุดทางอนันดา แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทขอน้อมรับคำสั่งศาล แต่ก็ได้เรียกร้องว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย เพราะมองว่าหากไม่มีการอนุมัติโครงการตั้งแต่แรก ก็จะสร้างโครงการนี้ไม่ได้ และก็จะไม่นำมาสู่ความเสียหายรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่

ดังนั้น ในมุมของธุรกิจคงต้องมารอดูต่อไปว่าทุกฝ่ายจะหา “ทางออก” เรื่องนี้ยังไง และ ผู้รับผิดชอบจะเป็นใคร..  และผลสรุปสุดท้ายอนันดาจะต้อง “ทุบทิ้งทั้งหมด” หรือ “จะรอมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น” ก็คงต้องรอลุ้นกันภายใน 14 วันนี้ ! เพื่อหารือความรับผิดชอบค่าเสียหายจากหน่วยงานภาครัฐร่วมรับผิดชอบ-เยียวยาผลกระทบ...

แต่สิ่งที่ไม่เคยรอ !! คือ ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ บ่งชี้ผ่านทันทีที่ตลาดรับรู้เรื่องดังกล่าว “หุ้น ANAN” ถูกเทขายทันที ปิดตลาดเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ร่วงระนาว -26% คิดเป็นมูลค่าที่หายไป มากถึง 1,235 ล้านบาทในวันเดียว

หากย้อนไปเมื่อ 5 ปีก่อน หุ้น ANAN เคยทำ “ราคาสูงสุด” (New High) อยู่ที่ 5.94 บาท (เมื่อ 18 ม.ค.2561) แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 0.84 บาท คิดเป็นการลดลงกว่า 85.85% หรือเป็นทำราคา “นิวโลว์” ในรอบ 3 ปีจากราคาต่ำสุดเมื่อ 13 มี.ค. 2563 ที่ 1.08 บาท   

              แต่ลองลงลึกในรายละเอียดประเด็น “กดดัน” Sentiment  เชิงลบต่อราคาหุ้น ANAN นอกจากคดีความโครงการ แอชตัน อโศก ที่อาจจะเป็นหนึ่งในความกังวลของนักลงทุน แต่อีกส่วนสำคัญ ! น่าจะเป็นเรื่องของผลประกอบการที่ยัง “ขาดทุน” ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา

  • ปี 2561 บริษัทมีรายได้ 1.05 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 2.41 พันล้านบาท
  • ปี 2562 บริษัทมีรายได้ 9.20 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 704.6 ล้านบาท
  • ปี 2563 บริษัทมีรายได้ 4.88 พันล้านบาท และขาดทุนสุทธิ -206.58 ล้านบาท
  • ปี 2564 บริษัทมีรายได้ 4.17 พันล้านบาท และขาดทุนสุทธิ -457.34 ล้านบาท
  • ปี 2565 บริษัทมีรายได้ 4.03 พันล้านบาท และขาดทุนสุทธิ -295.78 ล้านบาท
  • และในไตรมาส 1 ปี 2566 บริษัทมีรายได้ 731.13 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ -59.56 ล้านบาท

              แต่ถือเป็นการขาดทุนที่ลดลง นับตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา รายได้ลดลงและขาดทุนสุทธิติดต่อกัน ซึ่งผลประกอบการที่ขาดทุน น่าจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นยังไม่ฟื้น...  

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของ ANAN มีพัฒนาการในเชิงบวก สะท้อนผ่านการขาดทุนที่ “ลดลง” จากสาเหตุสำคัญหลายประการ คือ การฟื้นตัวของการดำเนินงาน , การโอนคอนโดต่อเนื่อง , ส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้น และมีอัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 28% จากเดิม 23%

ท้ายสุดนักลงทุนกำลังจับตาผลสรุปของบริษัท แต่ในมุมของหุ้น ANAN อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังในการเข้าลงทุน ไม่ว่าจะเป็นของแอชตัน อโศก ที่ยังคงคลุมเครือรวมถึงปัจจัยลบอื่นๆ ทั้งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอสังหาฯ

ดังนั้น อาจจะต้องใช้เวลานานกว่าที่หุ้น ANAN จะกลับไปยืน ณ จุดเดิม ! ได้ แม้ปัจจุบันราคาหุ้นจะต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานแท้จริง !!  ส่วนการทำกำไรอาจจะยังไม่มีเสถียรภาพ มากสักเท่าไรนัก ...