ย้อนอดีตการล่มสลายธนาคารพาณิชย์ไทย สาเหตุและบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ (1)

ย้อนอดีตการล่มสลายธนาคารพาณิชย์ไทย สาเหตุและบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ (1)

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม บทบาทสำคัญในการวางรากฐานให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระในการทำงานไร้อิทธิพลทางการเมืองแทรกแซง

ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยไทย พ.ศ. 2485 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระในการทำงานไร้อิทธิพลทางการเมืองแทรกแซงได้แก่ ศ.ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่เคยดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2496 

โดยยึดมั่นหลักการและจริยธรรมในการทำงานจนถูกคณะรัฐมนตรีถูกสั่งให้พ้นตำแหน่งหลังดำรงตำแหน่งได้เพียง 7 เดือน แต่ด้วยความรู้ความสามารถและความซื่อสัตย์ ในปี 2502 ท่านย้อนกลับมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอีกครั้ง เป็นระยะเวลา 12 ปี

มีบทบาทสำคัญในการออกพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ที่กำหนดอัตราสำรองเงินสดและอัตราส่วนลด เป็นการวางรากฐานให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย มีความแข็งแกร่ง ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจไทย 

ในปี 2520 ผมเริ่มทำงานที่ธนาคารกรุงไทย ในตำแหน่งพนักงานสินเชื่อเพื่อการเกษตรในชนบท จำได้ว่าการจะได้รับอนุญาตให้เปิดสาขาในต่างจังหวัด ธนาคารจะต้องปล่อยสินเชื่อเกษตรไม่ต่ำกว่า 20% ของการปล่อยสินเชื่อในทุกสาขา ธนาคารพาณิชย์เป็นสถาบันการเงินที่มีกฎระเบียบในการดำเนินกิจการที่เข้มงวด มีความมั่นคงเป็นที่เชื่อถือของประชาชนมาก 

ผ่านมาเพียงแค่ 20 ปี ในปี 2540 ชีวิตผกผันจากเสมียนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการสาขานครปฐม ซึ่งเป็นสาขาสุดท้ายในการทำงานก่อนย้ายเข้าสำนักงานใหญ่ ได้เกิดเหตุการณ์วิกฤติการล่มสลายของธนาคารพาณิชย์ไทย คือ ธนาคารมหานคร ที่เมื่อแรกตั้งใช้ชื่อว่า “บริษัทแบงค์ตันเป็งชุน จำกัด” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพัฒนา” ในวันที่ 28 ธันวาคม 2503 และเปลี่ยนมาเป็น “ธนาคารมหานคร” ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2520 ตั้งอยู่บริเวณสวนมะลิ ธนาคารประสบปัญหา NPL จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้ามาดูแล และถูกควบรวมกิจการกับ บมจ. ธนาคารกรุงไทย ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541

ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2487 ได้ยุติการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541 โดยโอนกิจการของธนาคารไปยังธนาคารกรุงไทย เฉพาะสินทรัพย์และเงินฝากของลูกค้าที่มีคุณภาพดี และบริหารสินทรัพย์เฉพาะสินทรัพย์และลูกหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งทำให้ธนาคารแปลงสภาพเป็นเป็นบริษัทลูกหนี้ ภายใต้ชื่อ บริษัท กรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) และต้องปิดกิจการลงเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2546 เนื่องจากศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ล้มละลาย 22 พฤศจิกายน 2542 

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ยึดใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ด้วยสาเหตุจากการมี NPL เป็นจำนวนมาก การล่มสลายของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 2 ธนาคาร สาเหตุเกิดจากปัญหาการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพ

ถึงแม้ ศ.ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ จะวางรากฐานในเรื่องจริยธรรมและคุณธรรมที่นายธนาคารควรปฎิบัติไว้ดีเพียงใดก็ตาม แต่ไม่สามารถต้านทานระบบเผด็จการและนักการเมืองเลวได้ ผมเป็นกลไกเล็ก ๆ ที่มีบทบาทในธนาคารกรุงไทย ซึ่งควบรวมสินทรัพย์และลูกหนี้ของธนาคารทั้งสองแห่ง ได้เห็นหยาดน้ำตาของพนักงานที่ถูกสั่งปิดกิจการ และความตื่นตระหนกของลูกค้า ต่อมามีโอกาสได้เข้ามารับผิดชอบดูแลสินเชื่อของธนาคารทั้งประเทศ

ได้สัมผัสกับลูกค้าที่หลากหลาย ถึงแม้จะผ่านมาแล้ว 26 ปี แต่วิกฤติที่ได้สัมผัสยังไม่ลืมเลือนไปจากความทรงจำ และควรให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้…