ปรับแผนเกษียณยุคใหม่ รับมือสุขภาพหลังเกษียณ

ปรับแผนเกษียณยุคใหม่ รับมือสุขภาพหลังเกษียณ

ตัวช่วยการเก็บเงินเพื่อเป็นทุนสำหรับดูแลสุขภาพหลังเกษียณ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการใช้ประกันสุขภาพประกอบการวางแผนค่าใช้จ่ายสุขภาพหลังเกษียณ หากเราพิจารณาค่าใช้จ่ายที่อาจต้องเตรียมไว้เพื่อรักษาโรคยอดฮิต 3 อันดับแรกของผู้สูงอายุ

โดยทั่วไปแล้วการวางแผนเกษียณมักเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายเงินทุนเพื่อการใช้จ่ายในแต่ละงวดนับตั้งแต่เกษียณวันแรกไปจนถึงสิ้นอายุขัยว่าจะใช้ ซึ่งเป็นลักษณะการทยอยถอนเงินทุนออกมาใช้จ่ายเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงเราอาจมีค่าใช้จ่ายเป็นเงินก้อนใหญ่และหลีกเลี่ยงไม่ได้ระหว่างวัยเกษียณ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งการวางแผนการใช้จ่ายเป็นงวด ๆ เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอและทำให้เงินทุนหมดก่อนเกษียณได้ แต่คำถามที่ตามมาก็คือ ควรจะต้องเตรียมเงินเท่าไหร่สำหรับค่ารักษาพยาบาลช่วงหลังเกษียณอายุ ไปจนถึงบั้นปลายชีวิ

ก่อนอื่นต้องศึกษาความเป็นไปได้ว่า ช่วงหลังเกษียณเรามีความเป็นไปได้ที่จะป่วยเป็นโรคอะไร และมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ตลอดการรักษา ซึ่งจากข้อมูลคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรคยอดฮิตที่พบบ่อยใน ผู้สูงอายุ เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัลไซเมอร์ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดหลายโรคพร้อมกันได้ด้วย 

จากข้อมูลของศูนย์บริการการแพทย์ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาโรคมะเร็งที่เริ่มต้นด้วยการผ่าตัดอยู่ที่ราว 1 แสนบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและวิธีการรักษาที่เหมาะกับระยะนั้น ๆ หากยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ในแผนกผู้ป่วยใน (IPD) โดยเฉลี่ยประมาณ 2.2 ล้านบาท รวมถึงการรักษาด้วยเคมีบำบัด และหากจำเป็นต้องรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ณ ปัจจุบัน อาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 5 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วยด้วย

และแน่นอนว่า ไม่ได้มีอะไรการันตีว่า หากเราป่วยด้วยโรคร้ายแรง 1 โรค จะไม่มีโอกาสเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆ ซ้ำซ้อนได้ จากตัวอย่างโรคยอดฮิตของผู้สูงอายุที่คาดไว้ข้างต้นและมักมีค่าใช้จ่ายสูงนอกเหนือจากโรคมะเร็ง คือ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ ซึ่งตัวอย่างค่ารักษาต่อครั้งที่รักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ที่ 2 - 7 แสนบาท ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ดังนั้น หากเราต้องเตรียมพร้อมเพื่อวางแผนค่ารักษาพยาบาลเผื่อไว้ใช้หลังเกษียณต้องมีงบประมาณเบื้องต้นสำหรับการรักษาโรคยอดฮิต 3 อันดับแรกราว 4 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คนที่สนใจเรื่องวางแผนการเงินมาก่อนย่อมทราบดีว่าตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งในการกำหนดเงินทุนเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ คือ อัตราเงินเฟ้อ เพราะในอนาคตค่าใช้จ่ายที่เราคาดไว้จะเป็นมูลค่า ณ ปัจจุบันเสมอ แต่ถ้าเราต้องนำไปใช้ในอนาคตที่ราคาสินค้าและบริการจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ จากเงินเฟ้อ การคำนวณหาเงินทุนเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณจะต้องคำนวณอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปด้วย 

ทั้งนี้ การวางแผนเงินทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์โดยเฉพาะก็จะต้องใช้อัตราเงินเฟ้อด้านการแพทย์เท่านั้นมาคำนวณ ซึ่งจากรายงาน “2022 Global Medical Trends Report” จัดทำโดย บริษัทที่ปรึกษาประกันภัย Willis Towers Watson ประมาณการอัตราเงินเฟ้อเฉพาะค่าใช้จ่ายการแพทย์ของประเทศไทยช่วงปี 2019 - 2022 เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 9.2% แตกต่างจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ผ่านมาเฉลี่ยปีละ 2.43% เท่านั้น ซึ่งหากต้องเก็บสะสมเงินเพื่อค่ารักษาพยาบาลโดยไม่มีการวางแผนอาจเป็นภาระทำให้เราต้องเก็บเงินเพิ่มขึ้นมากและมีโอกาสทำให้แผนเกษียณผิดพลาดได้มากขึ้นอีกด้วย

ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่าง ประกันสุขภาพ จะเป็นเครื่องมือสำคัญ ช่วยรับมือกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพหลังเกษียณที่เร่งตัวขึ้นมากกว่าค่าใช้จ่ายทั่วไป โดยหากเปรียบเทียบระหว่างการเก็บเงินด้วยตัวเองกับการชำระเบี้ยประกันสุขภาพ ยกตัวอย่างกรณีเพศชายอายุ 40 ปี เล็งเห็นถึงค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี จึงต้องการเก็บเงินเองเพื่อรักษามะเร็งในอีก 20 ปีข้างหน้า หรืออายุ 60 ปี เขาจะต้องทยอยเก็บเงินให้ได้ 12.7 ล้านบาท หรือเก็บเงินปีละ 2.8 แสนบาทภายใต้การลงทุนที่อัตราผลตอบแทนปีละ 8% 

ขณะที่การซื้อประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย TISCO My Care Prestige สำหรับเพศชายอายุ 40 ปี วงเงินความคุ้มครอง 30 ล้านบาท ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 60 ปี มีค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายรักษามะเร็งลำไส้ในโรงพยาบาลทั้งหมดหากตรวจพบและรักษาเมื่ออายุ 60 ปี ซึ่งเทียบเท่ากับการลงทุนที่ได้อัตราผลตอบแทน 23.4% ต่อปีเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่า ตัวช่วยการเก็บเงินเพื่อเป็นทุนสำหรับดูแลสุขภาพหลังเกษียณ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการใช้ประกันสุขภาพประกอบการวางแผนค่าใช้จ่ายสุขภาพหลังเกษียณ หากเราพิจารณาค่าใช้จ่ายที่อาจต้องเตรียมไว้เพื่อรักษาโรคยอดฮิต 3 อันดับแรกของผู้สูงอายุเบื้องต้น ณ วันนี้อยู่ที่ 4 ล้านบาท ปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อการแพทย์ที่ปีละ 9% ซึ่งมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่จะถึงวันเกษียณอายุ 

หากตามตัวอย่างที่ระยะเวลา 20 ปีที่จะถึงวันเกษียณ อาจพิจารณาทำประกันสุขภาพวงเงินความคุ้มครองที่เหมาะสมราว 10 - 20 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้เราวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณมีความแม่นยำมากขึ้น และลดความเสี่ยงเงินไม่พอใช้และสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างเป็นสุขตามไลฟ์สไตล์ที่ต้องการ

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager ธนาคารทิสโก้