Climate Change เรื่องที่ SME ต้องให้ความสำคัญในการประกอบธุรกิจ…..(3)

Climate Change เรื่องที่ SME ต้องให้ความสำคัญในการประกอบธุรกิจ…..(3)

เมื่อภาคการเงินไทยก็ให้ความสำคัญกับเรื่อง Climate Change ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าออก ESG BOND จากประมาณปีละ 1 หมื่นล้าน ในปี 2561 เป็น 8 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 และในช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้าน ดังนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้และศึกษา

นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank:ECB) ได้กล่าวสุนทรพจน์ ในหัวข้อ Climate Change and Central Banking เมื่อต้นปี 2021 ถึงผลกระทบ และการเตรียมรับมือความเสี่ยง Climate Change ว่า สหภาพยุโรปเตรียมผ่านระบบเศรษฐกิจสู่ neutral-carbon economy โดยเดินหน้าใน 3 มิติ คือการกำหนดราคาที่คำนึงถึงต้นทุนการปล่อยคาร์บอน ผ่านการเก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) การเปิดเผยข้อมูลการปล่อยคาร์บอนของธุรกิจ และนวัตกรรมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Climate Change ที่ก่อให้เกิดสภาพอากาศวิกฤตทำให้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อผันผวนในระยะสั้นและระยะยาวจากนโยบายเพิ่มต้นทุนการปล่อยคาร์บอน อากาศร้อนทำให้ผลิตภาพการทำงานลดลง คนเจ็บป่วยและเสียชีวิตง่ายขึ้น ธุรกิจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงสำคัญคือความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk) ที่เกิดจากภัยธรรมชาติที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคและความเสี่ยงในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition risk) การออกนโยบายลดการปล่อยคาร์บอนทำให้อุตสาหกรรมพลังงานหรืออุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง เช่น เหมืองแร่ ซีเมนต์ เหล็กได้รับผลกระทบทางลบต่อต้นทุนมาก สถาบันการเงินอาจเข้มงวดในการปล่อยกู้ต่อภาคธุรกิจดังกล่าว เพราะอาจทำให้ฐานะการเงินของสถาบันการเงินเสี่ยงไปด้วย ในฐานะผู้ให้สินเชื่อหรือผู้ลงทุนในตราสารทางการเงินของธุรกิจ ธนาคารกลางจะต้องวางแนวทางการกำกับดูแลภาคธนาคารที่ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยง และการเปิดเผยข้อมูลด้าน Climate Change 

ECB ได้ทำ climate risk stress test ต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคสถาบันการเงินและภาคธุรกิจ ในระยะ 30 ปีข้างหน้า กรณีไม่มี climate policy ต้นทุนธุรกิจในระยะยาวจะสูงขึ้นมากจากการเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรง และจะกลายเป็นความเสี่ยงเชิงระบบต่อภาคสถาบันการเงินที่มีพอร์ตสินเชื่อธุรกิจกลุ่มที่มี physical risk สูง ธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัว เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) เพื่อลดผลกระทบรุนแรงในระยะยาว จากรายงาน Global Risk Report ของ World Economy Forum พบว่า Climate Change เป็นความเสี่ยงที่ติด 5 อันดับแรกต่อเนื่องมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2553 และเป็นความเสี่ยงที่ถูกประเมินไว้สูงสุด ทั้งในแง่ของโอกาสที่จะเกิดและความรุนแรงของผลกระทบ

S&P Global Rating เปิดเผยว่า ความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้แนวโน้มการเติบโตด้านการประกันภัยเพิ่มมากขึ้น มีความร่วมมือกับบริษัทประกันภัยต่อมากขึ้นในภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อรักษาความสามารถในการจ่ายค่าสินไหมและการป้องกันที่จำเป็น เป็นการกระจายความเสี่ยง โดยอาจอยู่ในรูปแบบของการมีส่วนร่วมในการประกันภัยพิบัติและกลุ่มประกันภัยต่อ โดยคาดว่าต้นทุนการประกันภัยต่อจะสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของบริษัทประกันหลักเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ต้องซื้อการคุ้มครองการประกันภัยอย่างแน่นอน

ภาคการเงินที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ ในฐานะตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนต่อระบบเศรษฐกิจ จะต้องมีนโยบายที่จะต้องขับเคลื่อนเงินทุนสู่ภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในระดับสากลได้มีการจัดตั้ง Network for greening the Financial System (NGFS) โดยเครือข่ายของธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลด้านการเงินทั่วโลก ในปี 2560 มีสมาชิกรวมกว่า 83 องค์กร โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมตั้งแต่ปี 2562 มีเป้าหมายในการ่วมกันสร้างระบบการเงินให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านโลกร้อนและเพื่อให้สอดคล้องของความตกลงปารีส 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ได้ออกแนวการดำเนินงานเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกสำหรับแก้ไขปัญหาโลกร้อนเมื่อกลางปี 2564 และธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlement:BIS) ได้จัดตั้ง Green Bond Fund มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2562-2564 เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารกลางทั่วโลกให้นำเงินไปลงทุนในด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

กรณีประเทศไทยภาคการเงินไทยก็ให้ความสำคัญกับเรื่อง Climate Change โดยในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา มูลค่าการออก ESG BOND (ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน) จากประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 เป็น 8 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าการออกไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นเรื่องสำคัญที่ท่านผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้ศึกษา เพราะ Climate Change จะมีผลกระทบต่อรายงานทางการเงินในอนาคตอย่างแน่นอน…….