MTC ชี้ของแพง-โควิดซ้ำ กระทบเกษตรกรเงินขาดมือ แห่กู้นาโนฯ พุ่ง

MTC ชี้ของแพง-โควิดซ้ำ กระทบเกษตรกรเงินขาดมือ แห่กู้นาโนฯ พุ่ง

ยอดปล่อยกู้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ทั้งระบบพุ่ง เดือนก.พ.ยอดแตะ 2.5 หมื่นล้าน เพิ่ม44% จากปีก่อน ด้าน "เมืองไทย แคปปิตอล " ชี้ ต้นทุนพุ่ง ทำเกษตรกรเงินขาดมือ แห่ กู้ไตรมาสแรกพุ่งกว่า30% ด้าน"ไลน์บีเค" เผย โควิดซ้ำเติมผู้กู้ ย้ำระวังปล่อยกู้ เหตุหนี้เสียพุ่ง

     นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)หรือ (MTC) ผู้ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน เห็นความต้องการสินเชื่อทุกประเภทเพิ่มขึ้น ทั้งสินเชื่อที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน จากวิกฤติโควิด-19 ที่ลากยาว ส่งผลให้ประชาชนขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

      ประกอบกับราคาสินค้าที่แพงขึ้นทั้งราคาน้ำมัน พื้นผลทาการเกษตร เมล็ดพันธ์พืชต่างๆ ส่งผลให้เกษตรกร ความจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการทำเกษตร จึงมีการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ที่เห็นยอดขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด แม้ดอกเบี้ยสูง หากเทียบกับสินเชื่ออื่นๆ

    สำหรับการปล่อยกู้ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา พบว่าเพิ่มขึ้นกว่า 30% คิดเป็นยอดปล่อยสินเชื่อราว 6 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งในนี้มีสินเชื่อนาโนฯอยู่ 10% ซึ่งคิดเป็นการเติบโตใกล้เคียงกัน 

      ส่วนยอดปล่อยกู้ของบริษัทปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้ราว 30%เช่นกัน ทำให้คาดสินเชื่อรวมน่าจะแตะระดับ 1แสนล้านบาทในปีนี้ จากปีก่อนที่สินเชื่อรวมอยู่ที่ 9.7 หมื่นล้านบาท ส่วนสินเชื่อนาโนฯคาดยอดคงค้างแตะระดับหมื่นล้านบาท ส่วนหนี้เสียตั้งเป้าคุมไม่ให้เกิน2%จากปัจจุบันที่ 1.3%
 

     ด้านนายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ของบริษัท ล่าสุดมีพอร์ตคงค้างอยู่ที่ราว 1-2พันล้านบาท หลังจากเพิ่งเริ่มเข้ามาให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เมื่อช่วงสิ้นปี 2564 ที่ผ่านมา

      โดยยอมรับว่าดีมานด์การขอสินเชื่อในช่วงปี 2565 เป็นต้นมา ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการขาดรายได้ รายได้ไม่เพียงพอ จึงเห็นการหันมาพึ่งพาสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ชี้มากขึ้น

      อย่างไรก็ตาม การปล่อยกู้ของบริษัท คงไม่ได้เร่งปล่อยกู้มากนัก และเข้าสู่โหมดระมัดระวังผ่านการอนุมัติสินเชื่อที่ค่อนข้างรัดกุมมากขึ้น เนื่องจาก พบว่าตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 หลายระลอก ซ้ำเติมให้ผู้กู้ได้รับผลกระทบมากขึ้น จึงกระทบต่อการชำระหนี้ ทำให้เห็นยอดการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น จนนำไปสู่หนี้เสียหรือเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ปัจจุบันหนี้เสียของบริษัทอยู่ที่ 4%

      ส่วนการปล่อยสินเชื่อรวมอยู่ที่1.7หมื่นล้านบาท    

       ด้าน สินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ(นาโนไฟแนนซ์) จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ล่าสุดพบว่า ยอดการขอสินเชื่อปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วง2เดือนแรกของปีจำนวนบัญชีคงค้างของสินเชื่อ ณ สิ้นก.พ.2565 อยู่ที่ 1.44 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากม.ค. ที่ 1.36 ล้านบัญชี และเพิ่มขึ้น 6.4แสนบัญชี หรือ 81%จากช่วงเดียวกันปีก่อน

       ส่วนยอดปล่อยกู้คงค้าง ล่าสดอยู่ที่ 25,128 ล้านบาท เพิ่มต่อเนื่องจากม.ค. ที่23,899 ล้านบาท  และเพิ่มขึ้น 7.6 พันล้านบาท หรือ44% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มียอดสินเชื่อคงค้างที่ 17,446 ล้านบาท