เปิดเกณฑ์สิทธิประโยชน์ใหม่ สกพอ.เจรจาตรง “นักลงทุน” อีอีซี

เปิดเกณฑ์สิทธิประโยชน์ใหม่ สกพอ.เจรจาตรง “นักลงทุน” อีอีซี

นับตั้งแต่มีการผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้มีการกำหนดสิทธิประโยชน์การลงทุนผ่านมาตรการของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งล่าสุดมีการขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนใน EEC อีก 1 ปี จากสิ้นปี 2564 เป็นสิ้นปี 2565

ในขณะที่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้ออกสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คาดหวังว่าร่างประกาศดังกล่าวจะเป็นก้าวสำคัญในการกำหนดสิทธิประโยชน์ เพื่อจูงใจการลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐพิเศษ โดยการสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมพิเศษ รวม 7 เขต ได้แก่ 

1.เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) 2.เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) 3.เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) 

4.เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (EECh) 5.ศูนย์นวัตกรรมการแพทยครบวงจรธรรมศาสตร์ พัทยา (EECmd) 6.ศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน (EECg) 7.ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูงบ้านฉาง (EECtp)

สำหรับรายละเอียดของร่างประกาศ กพอ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.กำหนดให้ กพอ.เป็นผู้กำหนดสิทธิประโยชน์สูงสุดสำหรับเขตส่งเสริมกิจการพิเศษแต่ละแห่ง และให้เลขาธิการสกพอ.เป็นผู้พิจารณาให้สิทธิประโยชน์ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งต้องไม่เกินสิทธิประโยชน์สูงสุดที่ กพอ.กำหนด และการให้สิทธิประโยชน์นั้น จะใช้วิธีการทำความตกลงกับผู้ประกอบกิจการและรายงานต่อ กพอ.รับทราบ

2.สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจะได้รับจะเป็นไปตามประเภทที่กำหนดไว้ในกฎหมาย พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ได้แก่ สิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุดสิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร สิทธิในการที่จะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร 

สิทธิในการทำธุกรรมทางการเงิน สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพ และสิทธิประโยชน์อื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

3.ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ ตามร่างประกาศดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีศักยภาพทางการเงินและขีดความสามารถในการประกอบกิจการไม่ต่ำกว่าที่ สกพอ.ประกาศกำหนด และต้องประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษหรือกิจการที่เกี่ยวเนื่องหรือเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษที่สอดคล้องงกับวัตถุประสงค์ของเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

4.กำหนดให้ สกพอ.ร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงผลกระทบแต่ละด้านจากกาให้สิทธิประโชยน์

สำหรับการให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว สกพอ.จะเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริม EECa เป็นพื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) ให้สิทธิประโยชน์ EEC แก่นักลงทุน ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนใน EEC โดยร่างประกาศสิทธิประโยชน์มีหลักการที่สำคัญ คือ การสร้างนวัตกรรมการให้บริการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ เน้นการออกแบบสิทธิประโยชน์ตรงตามความต้องการของนักลงทุน โดยการเจรจาให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนแต่ละราย ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ หุ่นยนต์ โลจิสติกส์ การแพทย์สมัยใหม่ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมกลุ่มBCG ที่ลงทุนใน 7 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ

ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ EEC เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้เกิดการลงทุนที่คล่องตัวเพื่อจูงใจนักลงทุนรายใหญ่เข้าสู่พื้นที่ EEC ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้ตามเป้าหมายของ EEC

รวมทั้งจะเป็นต้นแบบที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ หุ่นยนต์โลจิสติกส์ การแพทย์สมัยใหม่ ดิจิทัลและอุตสาหกรรมกลุ่ม BCG ที่ลงทุนใน 7 เขตส่งเสริมพิเศษ

นอกจากนี้ ในการพิจารณาร่างประกาศ กพอ.ดังกล่าว BOI ได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม.เมื่อวันที่1 มี.ค.2565 โดยมีความเห็นว่าสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างระหว่างในและนอกเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน เพราะนักลงทุนจะชะลอการลงทุนเพื่อรอสิทธิประโยชน์ที่สูงกว่า ดังนั้นจึงให้เร่งดำเนินการให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว

รวมทั้งในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2564 มีมติให้การกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้ สกพอ.ขอความเห็นบีโอไอก่อนเสนอ กพอ.