ธุรกิจร้านอาหารรับสัญญาณบวก ลุ้นตลาดฟื้นแตะ 4 แสนล้านบาทปีนี้

ธุรกิจร้านอาหารรับสัญญาณบวก ลุ้นตลาดฟื้นแตะ 4 แสนล้านบาทปีนี้

ธุรกิจร้านอาหารส่งสัญญาณกลับมาเติบโตสดใสอีกครั้ง เมื่อซัมเมอร์ ปิดเทอม ผู้คนออกไปใช้ชีวิตในศูนย์การค้ามากขึ้น หนุนการบริโภคอาหารที่ร้าน แต่โควิดทำให้ผู้ประกอบการต้องพลิกโมเดล เปลี่ยนทำเล ปรับภาพลักษณ์รับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

ป็นปีแห่งความหวังสำหรับภาคธุรกิจที่จะได้กลับมาเติบโตอีกครั้ง จากหลากปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับรับตัวอยู่กับสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด รัฐยกเลิกเทสต์แอนด์โก เพิ่มแสงสว่าง ความสดใสให้ธุรกิจการท่องเที่ยว เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงกลางปีรัฐจะประกาศให้ไวรัสร้ายเป็นโรคประจำถิ่น

ในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร ผู้ประกอบการมองบวกต่อ พร้อมลุ้นโอกาสเห็นเงินสะพัด มูลค่าตลาดกลับมายืนระดับ 400,000 ล้านบาทได้อีกครั้ง เหล่านี้เป็นมุมมองของ บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)

เขากล่าวด้วยว่า ภาพรวมไตรมาส 1 ธุรกิจร้านอาหารส่งสัญญาณเติบโต 5-10% โดยเดือนมีนาคม การฟื้นตัวดีขึ้น เมื่อเทียบเดือนกุมภาพันธ์ หากมองข้ามช็อตในไตรมาส 2 การเติบโตยังมีแนวโน้มที่ดี เพราะมีแรงส่งจากซัมเมอร์ ช่วงปิดเทอม ที่จะเห็นผู้บริโภคหลบร้อนเข้าไปเดินศูนย์การค้า รวมถึงคนรุ่นใหม่เข้าไปช้อป ชิม ชิล ที่ร้านอาหารมากขึ้น ส่วนผู้บริโภคผู้ใหญ่ กลุ่มคนสูงวัยที่มีความกังวลโรคระบาด และเสี่ยงติดไวรัส กลับเลือกไปรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง รวมถึงเปลี่ยนพฤติกรรมไปรับประทานร้านอาหารใกล้บ้าน ร้านเชฟเทเบิล ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เป็นต้น

สถานการณ์ดังกล่าว ยังทำให้ร้านอาหารที่มีทำเลในศูนย์การค้ารอบนอกกรุงเทพฯ หรือห่างย่านใจกลางธุรกิจ(ซีบีดี) มีการเติบโตขึ้นด้วย

ตัวแปรข้างต้น ทำให้การเคลื่อนธุรกิจร้านอาหารปี 2565 ต้องปรับทัพใหม่ค่อนข้างมาก สูตรสำเร็จแบบเดิมๆไม่ใช่คำตอบในการสร้างการเติบโต และตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย เช่น อดีตหัวใจสำคัญการเปิดร้านอาหารคือ “ทำเล” หรือ 3L อย่าง Location Location และ Location แต่จากนี้ไปทำเลทองในกลางเมือง และศูนย์การค้าไม่ใช่คำตอบ แต่พื้นที่รอบนอก ศูนย์การค้าเทียร์ 1-2 จะมีบทบาทมากขึ้น เพื่อที่แบรนด์จะประชิดกลุ่มเป้าหมายใกล้กว่าเดิม

ธุรกิจร้านอาหารรับสัญญาณบวก ลุ้นตลาดฟื้นแตะ 4 แสนล้านบาทปีนี้ “โรคโควิด-19 ส่งผลให้เทรดโซนของร้านอาหารเปลี่ยน ร้านในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ ลูกค้าเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ร้านอาหารในต่างจังหวัดยอดขายดีกว่ากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการปรับตัวของผู้บริโภคที่ไม่ได้เข้าศูนย์การค้าเป็นเวลานาน”

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องปรับภาพลักษณ์ร้านต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เน้นความสะอาด สุขอนามัยมากขึ้น ไม่ใช่มีดีแต่ “ตำนาน” ร้านและความอร่อยเท่านั้น ส่วนการตกแต่งร้านยังต้องปรับให้เข้ากับความเป็นท้องถิ่นหรือโลคัลเพื่อเอ็นเกจกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ต่างๆ

ด้านแผนธุรกิจของเซ็นฯ ปีนี้ ยังคงขยายสาขาแบรนด์หัวหอกเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น ออน เดอะ เทเบิล และอากะ(AKA) แต่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยเน้นทำเลต่างจังหวัดมากขึ้น รวมถึงปรับขนาดร้านให้เล็กลง อย่างแบรนด์อากะจะเปิดร้านใหม่ 10 สาขา สูงสุดในรอบ 3 ปี จากปกติเปิดราว 6 สาขาต่อปี และสาขาใหม่จะเปิดที่นครปฐม ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ฯ ส่วนขนาดจะลดเหลือ 150-200 ตารางเมตร(ตร.ม.) จากเดิมพื้นที่เกินกว่า 200 ตร.ม.

ปี 2565 แบรนด์อากะ ยังมีการขยายธุรกิจในรูปแฟรนไชส์มากขึ้น รวมถึงการขยายร้านนอกศูนย์การค้า และใช้กลยุทธ์ความร่วมมือกับเจ้าของที่ดิน(แลนด์ลอร์ด)ในต่างจังหวัดนำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อสร้างรายได้ และลดภาระภาษีด้วย ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเห็นเจ้าของที่ดินจำนวนมากเดินแผนธุรกิจดังกล่าว

ธุรกิจร้านอาหารรับสัญญาณบวก ลุ้นตลาดฟื้นแตะ 4 แสนล้านบาทปีนี้ “การเปิดร้านนอกศูนย์การค้ายังช่วยลดต้นทุนได้ราว 20% ด้วย ขณะที่การเปิดแฟรนไชส์ร้านอากะปีนี้คาดว่าจะเห็น 1-2 สาขา ซึ่งเราอยู่ระหว่างเจรจากับแลนด์ลอร์ดเพื่อเปิดร้าน”

สำหรับแรงกดดันธุรกิจร้านอาหารปีนี้ คือภาวะต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องบริหารจัดการระบบหลังบ้านให้ดีก่อนกระทบราคาหน้าบ้าน รวมถึงต้นทุนค่าแรงงานบางพื้นที่ อาจปรับขึ้นหลังวันแรงงานแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม จากแผนธุรกิจดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะผลักดันยอดขายปี 2565 มีมูลค่า 3,000-3,500 ล้านบาท กลับไปยืนระดับใกล้เคียงปี 2562 ขณะที่ปี 2564 รายได้รวมอยู่ที่ 2,255 ล้านบาท

“ธุรกิจร้านอาหารปี 2565 ยังไงก็โต และมีโอกาสที่จะกลับมาแตะระดับ 400,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะมองว่าปีก่อนตลาดน่าจะต่ำสุดแล้ว เพราะมีการล็อกดาวน์ ปิดร้าน ปีนี้คงไม่มี ขณะที่ทราฟฟิกปีนี้เริ่มกลับมา ยิ่งการท่องเที่ยวฟื้นตัว ธุรกิจร้านอาหารจะได้รับอานิสงส์เต็ม แต่สิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือสถานการณ์ต้นทุนทั้งวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น บางชนิดขึ้นไป 100% เช่น แซลมอน รวมถึงแนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในบางพื้นที่ จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ”