หนุนเขตส่งเสริมศก.พิเศษ . รับทุนนวัตกรรมอีอีซีระยะยาว

หนุนเขตส่งเสริมศก.พิเศษ .  รับทุนนวัตกรรมอีอีซีระยะยาว

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้มีการประเมินว่าจำเป็นต้องมีแหล่งลงทุนใหม่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเทคโนโลยีที่จะเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

ต่อมา ได้มีการประกาศจัดตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 7 แห่ง ซึ่งได้รับการอนุมัติจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 1 มี.ค.2565 ประกอบด้วย 1. เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) 2.นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) 3.อุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) 4.พื้นที่บริเวณรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (EECh) 5.ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) (EECmd) 6.การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) (EECg) และ 7.ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูงบ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องเทคโนโลยี 5G ในอีอีซี

เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อีอีซีนี้ จะมีพื้นที่รองรับกิจการโดยรวมประมาณ 10,000 ไร่ ขับเคลื่อนโดยหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนที่เป็นนิติบุคคลและเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมก็สามารถขอจัดตั้งในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้เช่นกัน โดยจะต้องดำเนินการเกี่ยวข้องกับการวิจัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและพัฒนาเพื่อรองรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์บนที่ดินเดิมแล้วยื่นเสนอต่อสกพอ.เพื่อพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอน

ส่วนนักลงทุน ได้มีการกำหนดคุณสมบัติและสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ เช่น ต้องเป็นผู้มีศักยภาพทางการเงินและมีขีดความสามารถในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายและกิจการเกี่ยวเนื่อง

ด้านสิทธิประโยชน์ ได้แก่ 1) สิทธิได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% 2) สิทธิในการซื้อกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด 3) สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร 4) สิทธิได้รับอนุญาตทำงานในราชอาณาจักร

เมื่อมีพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรวม 7 แห่ง จะทำให้มีการแบ่งโซนการพัฒนาตาม “แผนผังอีอีซี” อย่างเป็นสัดส่วน ตลอดจนมีการวางแผงผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่จะช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนและผู้มาใช้ประโยชน์ ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สิทธิประโยชน์ใหม่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษนี้ จะมีส่วนจูงใจนักลงทุนโดยเฉพาะใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ (EV) ดิจิทัล (5G) การแพทย์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ เกษตรสมัยใหม่ (BCG) โดยคาดว่าจะมีการกำหนดสิทธิประโยชน์เฉพาะรายหรือรายบริษัทตามที่นักลงทุนต้องการ

การปรับแผนลงทุนในอีอีซีครั้งนี้ สกพอ.ได้วางเป้าหมายการลงทุนไว้ที่ 2.2 ล้านล้านบาท ใน 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) มาจากโครงสร้างพื้นฐาน 200,000 ล้านบาท การดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปีละ 400,000 ล้านบาท ดังนั้น ในแผนอีอีซี ระยะ 5 ปีนี้ มูลค่าการลงทุนในอีอีซีจะเพิ่มขึ้น 500,000 ล้านบาท/ปี (จากเดิม 300,000 ล้านบาท/ปี) ช่วยผลักดันจีดีพีให้เติบโตได้ 4.5 – 5% ต่อปี

กล่าวโดยสรุป เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากจะดึงดูดการลงทุนด้านนวัตกรรม ดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงแล้ว ยังทำให้เกิด Global Data Center และฐานข้อมูล Big data ที่เป็นมาตรฐานสากล เกิดการวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้ต่อยอดธุรกิจได้จริง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่า ตลอดจนเพิ่มทักษะแรงงาน ยกระดับมาตรฐานการจ้างงาน ซึ่งจะเป็นกลไกในการปรับโครงสร้างการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและบริการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนสอดคล้องกับการเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ (Smart City) และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ