เปิดผลสำรวจความพร้อมภาคธุรกิจ กับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

เปิดผลสำรวจความพร้อมภาคธุรกิจ กับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

หอการค้าไทยห่วงการบังคับใช้กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ชี้ บทลงโทษทางอาญาแรง แนะเลื่อนออกไปก่อน เปิดผลสำรวจภาคธุรกิจยังไม่พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย กฎหมายลูกไม่ชัดเจน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยเห็นว่ายังไม่พร้อมใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 โดยเฉพาะการกำหนดโทษอาญาทั้งจำคุกและปรับมีความรุนแรงเกินไปเพราะลักษณะความผิดของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นความผิดทางแพ่งมากกว่าการก่ออาชญากรรมจึงไม่มีความเหมาะสม ซึ่งไทยจะเดินตามประเทศที่พัฒนาแล้วและสำเนากฎหมายนี้มา ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องและก่อนหน้านี้ภาคเอกชนได้ทำหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยพร้อมกับเหตุผลไปที่รัฐบาลแล้ว

นอกจากนี้ การจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ต้องให้เสร็จก่อนวันที่ 1 มิ.ย.2565 แต่ระยะเวลาที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอให้ภาคเอกชนเตรียมการปฏิบัติตามกฎหมายได้ทัน ควรให้เวลาภาคเอกชนเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเพียงพอ

“ภาคเอกชนเป็นห่วงการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ จึงอยากให้รัฐบาลเลื่อนการบังคับใช้ออกไป โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลบางอย่างแล้วไปตีความเป็นความลับจะถูกลงโทษทางอาญา ซึ่งภาคเอกชนกลัวมาก คือ ทำอะไรผิดนิดเดียวกลายเป็นคดีอาญา อีกทั้ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังใหม่อยู่ จึงอยากให้ทำความเข้าใจกฎหมายก่อน รวมทั้งการทำกฎหมายลูกต้องชัดเจนด้วย“ นายสนั่น กล่าว

เปิดผลสำรวจความพร้อมภาคธุรกิจ กับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

รายงานข่าวจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้สำรวจความพร้อมของภาคธุรกิจในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 โดยสอบถามความเห็นเอกชน 3,988 บริษัท ทั่วประเทศ แบ่งเป็นภาคบริการ 42.3% และภาคอุตสาหกรรมและการสินค้า 57.7%

สำหรับประเด็นความพร้อมในการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว มีบริษัทที่ระบุว่าดำเนินการเสร็จแล้วเพียง 8% ดำเนินการเกือบเสร็จสมบูรณ์ 22% รวมทั้งอยู่ระหว่างการดำเนินการ 39% และยังไม่เริ่มดำเนินการ 31%

ส่วนเรื่องงบประมาณที่บริษัทใช้เตรียมความพร้อม พบว่าใช้งบประมาณในการอบรมพนักงานมากที่สุด 32.1% รองลงมาเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการภายใน 21.1% การซื้อซอฟต์แวร์การจัดการจากภายนอก 16.5% การจ้างที่ปรึกษภายนอก 14.1% 

นอกจากนี้ หัวข้อเตรียมความพร้อมที่ยากที่สุดใน PDPA พบว่า 36.8% การทำ RoPA (Records of Processing Activity) มากที่สุด 36.8% รองลงมาเป็น การให้แต่ละฝ่ายทำความเข้าใจ PDPA 12.1% และการทำเอกสารขอความยินยอม 11.3% เช่นกัน

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมากที่สุด คือ ความไม่พร้อมของกฏหมายลำดับรอง 30 % รองลงมาเป็นความไม่เข้าใจกฎหมาย ตีความกฎหมายไม่ตรงกันและกลัวปฏิบัติไม่ถูกต้อง 27% ความไม่พร้อมของคนในองค์กร 20% และบทลงโทษ เช่น ทางอาญาที่หนักเกินไป 16%

โดยภาคธุรกิจมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ดังนี้ ต้องการให้ออกกฎหมายลำดับรองและแนวปฏิบัติที่มีความชัดเจนโดยเร็ว และหน่วยงานกำกับดูแลต้องสื่อสารให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้รับรู้ทั่วกันอย่างเป็นรูปธรรม หน่วยงานกำกับดูแลควรจัดตั้งศูนย์ ระบบการให้คำปรึกษากับภาคธุรกิจ เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้อง

รวมทั้งควรบังคับใช้กฎหมายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะที่ผ่านมายังขาดความชัดเจนในกฎหมายลำดับรองและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนจากหน่วยงานผู้กำกับดูแล ซึ่งทำให้ภาคเอกชนเกิดอุปสรรคในการดำเนินการ และด้วยกฎหมายนำต้นแบบมาจาก GDPR การบังคับใช้โดยอาศัยหลัก GDPR อาจไม่เหมาะกับบริบทของการดำเนินธุรกิจของไทย 

นอกจากนี้ ควรจัดสัมมนาและการอบรมให้ความรู้กับภาคธุรกิจและประชาชนให้มากขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีการตีความทางกฎหมายไปคนละทิศละทางทำให้เกิดอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามกฎหมาย