อุตฯบันเทิงแนะรัฐ ดันซอฟท์พาวเวอร์ไทยสู่เวทีโลก

อุตฯบันเทิงแนะรัฐ ดันซอฟท์พาวเวอร์ไทยสู่เวทีโลก

สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จัดเสวนาหน้าจอโชว์ ONLINE VARIETY หัวข้อ “SOFT POWER TO GREAT HERO #1 ขายของดีของไทยยังไงให้โลกสนใจ” หวังผลักดันอำนาจอ่อน(Soft Power) ของไทย ทั้งศิลปะ วัฒนธรรม อาหารการกิน ซีรีย์ ละคร ภาพยนตร์ เพลง ฯ ประกาศศักดาในเวทีโลก

ทั้งนี้ กูรูผู้ผลิตเนื้อหาต่างหรือ Content Provider ชั้นนำของเมืองไทย ต่างเห็นพ้องการผลักดันให้ซอฟท์พาวเวอร์ของไทยมีที่ยืนมากขึ้น ภาครัฐควรมีบทบาทในการออกนโยบาย กำหนดเป้าหมาย และการสนับสนุนอุตสาหกรรมคอนเทนท์ของไทยอย่างจริงจัง

โดย อรุโณชา ภาณุภัณฑ์ ผู้จัดละคร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท บรอดคาซท์ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ย้อนรอยความสำเร็จละครบุพเพสันนิวาส ที่ออกอากาศเมื่อ 3 ปีก่อน สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม เศรษฐกิจ หลายด้าน เช่น กระตุ้นให้คนไทยสนใจเรียนประวัติศาสตร์มากขึ้น แต่งชุดไทยไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฯ รวมถึงอาหารคาวหวานได้รับความนิยมมากขึ้น

ทั้งนี้ สถิติที่เกิดขึ้นจากซอฟท์พาวเวอร์ของละครบุพเพสันนิวาส สร้างปรากฏการณ์บนทวิตเตอร์จนติดเทรนด์อันดับโลกมากมาย มีการรีทวีตเกี่ยวกับละครราว 13 ล้านครั้ง เกิดการรับรู้(Impression)บนโลกออนไลน์มากถึง 8,300 ล้านอิมเพรสชัน กระตุ้นการท่องเที่ยวไทย เช่น การไปวัดไชยวัฒนารามเติบโต 7 เท่า ในวันธรรมดาทะลุ 5,000-6,000 คน ต่อวัน จากปกติคนเที่ยวเฉลี่ย 1,000 คนต่อวัน ที่สำคัญคอนเทนท์ยังถูกซื้อลิขสิทธิ์นำไปออกอากาศใน 26 ประเทศทั่วโลก เฉพาะแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์ออกอากาศถึง 23 ประเทศ เป็นต้น

ส่วนการผลักดันให้ซอฟท์พาวเวอร์ โดยเฉพาะคอนเทนท์ของอุตสาหกรรมบันเทิงมีความแข็งแกร่งมากขึ้น การสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญสุด และผู้ผลิตควรแทรกศิลปะ วัฒนธรรม เรื่องราวของอำนาจอ่อนไปในคอนเทนท์ให้มากขึ้น แต่ยอมรับว่าการทำสิ่งเหล่านั้นใช้งบลงทุนสูง จึงต้องการให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมมากขึ้น

“Content is KIng ต้องสร้างสรรค์คอนเทนท์คุณภาพ ปลุกกระแสให้ผู้ชมในโลกเกิดความสนใจ แต่การที่สิ่งเหล่านี้จะไปได้ดี ต้องมีเงินทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการให้รัญสนับสนุน เพราะคุณภาพงาน ไอเดียดี แต่คุณภาพด้อยจะแข่งขันไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก อีกประเด็นคือควรมีสถาบันช่วยส่งเสริม ให้ความรู้ มีเครื่องมือสำหรับคนรุ่นใหม่ในการก้าวมาสร้างสรรค์ผลงานสู่สายตาชาวโลก เพื่ออุตสาหกรรมบันเทิงไทยเป็นซอฟท์พาวเวอร์ที่แกร่งขึ้น”

ด้าน วิบูลย์ ลีรัตนขจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซิร์ซ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรกลับมาพิจารณาผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ โดยมีอุตสาหกรรมบันเทิงเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้แล้ว ซึ่งปัจจุบันหลานประเทศพิสูจน์ให้เห็นศักยภาพ การเจริญเติบโตและมูลค่าของอุตสาหกรรมบันเทิง ทั้งเพลง ซีรีย์ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล

ทั้งนี้ ซอฟท์พาวเวอร์ของไทย ที่สร้างผลงานโดดเด่นในตลาดโลก ได้แก่ ซีรีย์วาย ซึ่งได้รับความสนใจจากแพลตฟอร์ม และคนดูเอเชียมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเห็นศิลปินนักร้องรุ่นใหม่ของไทย มีภาพปรากฏบนป้ายโฆษณา ขึ้นชาร์จเพลงในย่านไทม์สแควร์ ของสหรัฐฯอย่างต่อเนื่องด้วย สิ่งเหล่านี้สะท้อนจุดแข็งที่มีมากขึ้น

ทว่า การที่ซอฟท์พาวเวอร์ไทย จะสู้ได้ในเวทีโลก ควรมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง รัฐควรมีนโยบายส่งเสริมทุกมิติ เพื่อให้แข่งขันในจุดที่ได้เปรียบ

“งบลงทุน กำลังคนเราอาจสู้ซอฟท์พาวเวอร์ของหลายประเทศไม่ได้ แต่เรามีจุดแข็งที่ผลักดันพลังของโลคัลไปสู่โกลบอลได้ แต่ที่ผ่านมาสิ่งที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบันเทิงไทยเผชิญคือ เวลาเราไปตลาดโลกมักโดดเดี่ยว จึงต้องการเห็นภาครัฐ คนในอุตสาหกรรมจับมือกัน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน”

วรรณฤดี พงษ์สิทธิ์ศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ และพัฒนาบทภาพยนตร์ บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด(GDH) กล่าวว่า ปัจจุบันซอฟท์พาวเวอร์ของไทย ด้านคอนเทนท์ภาพยนตร์ ได้รับการยอมรับในเวทีโลกมากขึ้น แต่ข้อจำกัดที่คนในวงการเผชิญคือ ไอเดีย งานสร้างสรรค์ต่างๆ ยังไม่ถูกผลิต สร้าง ถ่ายทำโดยคนไทยอย่างแท้จริง อย่างจีดีเอช สร้างภาพยนตร์ฉลาดเกมส์โกง และถูกฮอลลีวู้ดซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างต่อโดยปราศจากกความคิดของไทย

นอกจากสิ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยตร์ไม่ยั่งยืน คือข้อจำกัดด้านการส่งเสริมบุคลากรที่มีความสามารถ การให้โอกาสลองผิดลองถูก ซึ่งบางครั้งไม่คุ้มค่ากับมิติทางธุรกิจหรือ “ขาดทุน” สุดท้ายคนทำงานหันเหไปสู่อาชีพอื่น

“ตลาดหนังไทยในประเทศมีขนาดเล็ก อำนาจซื้อไม่เพียงพอแล้ว ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับทีมงาน นักแสดง คนเขียนบทได้ ฯ และมีผลต่อการเติบโตในระยะยาว จึงควรผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังไทยใหญ่ขึ้น เพื่อพาซอฟท์พาวเวอร์ไทยไปไกลกว่าแค่ในประเทศ”