ธ.ก.ส.ประเมินจีดีพีภาคเกษตรปีนี้ขยายตัว2%

ธ.ก.ส.ประเมินจีดีพีภาคเกษตรปีนี้ขยายตัว2%

ธ.ก.ส.ประเมินภาพรวมจีดีพีภาคเกษตรปีนี้ขยายตัวได้ 2% ผลจากราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสดใส การส่งออกทำได้มากขึ้น บวกกับ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ขณะที่ สถานการณ์โควิดผ่อนคลายจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยขยายตัวได้ 3.4%

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)กล่าวประเมินว่า ราคาสินค้าเกษตรหลักของไทยทุกตัวมีแนวโน้มปรับเพิ่มและจะส่งออกได้มากขึ้น ดังนั้น ในภาพรวมของภาคการเกษตรไทยในปีนี้ จีดีพีในภาคการเกษตรคาดว่าจะขยายตัวราว 2 % โดยมาจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเรื่องของราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงด้วย

“แม้ว่า ปัญหาเรื่องค่าระวางเรือในยังอยู่ในระดับสูงบวกกับราคาน้ำมันก็อยู่ในระดับสูง จะเป็นต้นทุนที่สำคัญของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยก็ตาม แต่สินค้าเกษตรหลักๆของไทยในปีนี้ในด้านราคานั้น มีทิศทางที่สดใส”

เขาประเมินด้วยว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทย คาดขยายตัว 3.4 % เมื่อมีการผ่อนคลายโควิด หลายประเทศในยุโรป เริ่มผ่อนคลาย แต่จีนยังคงควบคุมอย่างเข้มงวด  ทำให้สินค้าเกษตรไทยมีโอกาสส่งออกมากขึ้น

นอกจากนี้ จากการดูดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรมีความมั่นใจว่าหากโควิดผ่อนคลาย ประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ความต้องการอาหารจะมีมากขึ้น ทำให้ลงทุนเพาะปลูกมากขึ้น

เขายกตัวอย่าง ข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งถือเป็นสินค้าพรีเมียมที่ไทยส่งไปขายในยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น ในปีนี้ผลผลิตจะออกมามากพอสมควร แม้ว่า ช่วงนี้ผู้บริโภคในต่างประเทศจะมีความกังวลใจในเรื่องสถานการณ์สงครามก็ตาม

ด้านข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีนี้มีโอกาสปรับสูงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เนื่องจาก มีการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปิดการค้ากับซาอุดิอาระเบีย ทำให้ซาอุฯนำเข้าเนื้อไก่จากประเทศไทยมากขึ้น

สำหรับมันสำปะหลังในช่วงสองปีที่ผ่านมามีราคาสูง  และยังจะสูงต่อเนื่องในปีนี้ โดยจีนก็มีความต้องการมันสำปะหลังสูงขึ้น ซึ่งมันสำปะหลัง สามารถทำไปผลิตไบโอดีเซล  ยิ่งทำให้ความต้องการมันสำปะหลังสูงขึ้น เนื่องจาก ราคาน้ำมันปรับตัวสูงในช่วงนี้

ด้านพืชอ้อยนั้น คาดว่าในปีนี้ราคาจะปรับสูงขึ้น เนื่องจาก อ้อย สามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลผสมในน้ำมันได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตอ้อยได้มาก แต่นำไปแปรรูปเป็นเอทานอลในสัดส่วน 70% ของปริมาณอ้อยที่ผลิตได้  ส่วนที่เหลือนำไปผลิตน้ำตาล แต่ในปีนี้เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น บราซิลอาจหันมาเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอลมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตน้ำตาลลดลง และทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น ส่งผลดีต่อราคาอ้อยที่ชาวไร่ขายให้กับโรงหีบอ้อย

เช่นเดียวกับราคาปาล์มน้ำมันที่มีแนวโน้มเฉลี่ยสูงขึ้น เนื่องจากสามารถทำไบโอดีเซลได้ แต่ปัญหาขณะนี้ของปาล์มน้ำมันคือ มีผลผลิตออกมาน้อย ด้านยางพารา ปัจจุบันราคาสูงกว่าในหลายปีที่ผ่านมา และปีนี้ ก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เพราะมีการใช้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาน้ำมันมีราคาถูกก็มีการใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น  แต่ช่วงนี้น้ำมันแพงก็หันไปใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น ทำให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น

ในส่วนของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร คือ เรื่องราคาน้ำมันที่สูงขึ้น บางช่วง พุ่งเกิน 120 เหรียญต่อบาร์เรล แต่น่าจะเริ่มผ่อนคลายขึ้นหากสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครนมีท่าทีการเจรจาเพื่อยุติสงคราม ด้านต้นทุนการผลิตเกษตรกรก็มีการปรับสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืช

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.แบ่งพืช เป็นสามกลุ่ม ตามการฟื้นตัวเร็ว-ช้า หลังจากที่ไทยผ่านพ้นการระบาดใหญ่ของโควิดมาแล้ว โดยกลุ่มพืชที่ฟื้นตัวเร็ว ได้แก่  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง  อ้อย ปาล์มน้ำมัน โคเนื้อ ทุเรียน และสับปะรด

กลุ่มพืชที่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลางและสามารถฟื้นตัวได้ในระยะไม่เกิน 9 เดือน คือ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้นไม่เกิน 15 %  ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าว,เปลือกเหนียวนาปี ,ยางพารา กุ้งขาวไดนาไมท์, มังคุด เงาะ ลำไย และกาแฟ ส่วนกลุ่มพืชที่น่าเป็นห่วง เพราะฟื้นตัวได้ค่อนข้างลำบาก คือ ลองกอง

เขากล่าวด้วยว่า สำหรับภาพรวมของภาคเกษตรไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิด  เนื่องจาก ผลผลิตในภาคการเกษตร 70-80% เป็นเรื่องของการส่งออก โดยเฉพาะ ข้าว

ทั้งนี้ ในช่วงสองปีที่ผ่านมามูลค่ามวลรวมของภาคการเกษตรลดลง มาจาก 1.ราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศปรับตัวลดลง เพราะความต้องการลดลง มาจากผลกระทบของการระบาดโควิด ทำให้รายได้สุทธิครัวเรือนของเกษตรกรปรับตัวลดลงเช่นกัน”

นอกจากนั้นแล้ว ก็มีเรื่องราคาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเดือนสองเดือนที่ผ่านมา นี้โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูงขึ้น มาจากราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น และยังส่งผลกระทบจากเมื่อกลางปีที่แล้วที่มีปัญหาโรคระบาดในสุกร ทำให้ราคาสูงขึ้นและทำให้ปริมาณสุกรออกสู่ตลาดน้อยลง 

2.เรื่องของการขาดแคลนแรงงานจากผลกระทบของโควิด ทำให้มีการปิดกิจการ ส่งผลให้แรงงานกลับคืนถิ่น

3. ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด ความต้องการสินค้าเกษตรบางอย่างลดต่ำลง และ 4.ผลกระทบจากค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึง ค่าระวางเรือ และความไม่เพียงพอของตู้คอนเทนเนอร์