หนี้ครัวเรือนไทย : ความระทมทุกข์ที่รอการแก้ไขนานมาก (จบ)

หนี้ครัวเรือนไทย : ความระทมทุกข์ที่รอการแก้ไขนานมาก (จบ)

ภาครัฐจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นงานที่ยากกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขา เอกชนจะต้องส่งเสริมการตลาด Refinancing เพื่อแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระหนี้ครัวเรือนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ประคับประคอง ให้ครัวเรือนอยู่ได้จนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้น

บทความของ Aspen Iinstitue เสนอข้อมูลเรื่องหนี้เพื่อการบริโภคว่าเป็นปัญหาสำคัญของสหรัฐอเมริกา และได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหา ที่ได้มาจากบทวิจัยของ The Expanding Prosperity Impact Collaborate (EPIC)

โดย EPIC Delphi Surway ได้ทำการสำรวจเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระในระดับครัวเรือน 5 ประเด็น ตั้งแต่การปรับปรุงกระบวนการติดตามโดยใช้ Data และ Technology ในการคาดการณ์และจัดทำรายชื่อลูกหนี้ที่กำลังจะผิดนัดชำระหนี้ เพื่อเข้าดูแลให้การสนับสนุนก่อนการผิดนัดชำระหนี้ การปรับปรุงสมดุลเชิงสร้างสรรค์ในชั้นศาลระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้

โดยนำ Technology เข้าใช้ในระบบการตัดสินของศาล เพื่อให้ศาลรับทราบและสอบทานข้อมูลยอดหนี้ที่เรียกคืนก่อนการพิจารณาตัดสิน เพื่อให้คำตัดสินของศาลไม่โน้มเอียงให้กับเจ้าหนี้ที่เรียกร้องสิทธิมากกว่าการแก้ต่างของลูกหนี้

การปรับปรุงประสิทธิภาพในการขยายระยะเวลาชำระหนี้และการพักชำระหนี้ โดยเฉพาะหนี้เพื่อการศึกษาของนักเรียนหรือนักศึกษาของสหรัฐฯที่ทำลายความมั่นคงทางการเงินของครัวเรือนมีการยกเลิกหนี้เพื่อการศึกษาบางกรณี ยกเลิกการชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สำหรับหนี้ส่วนที่เหลือหรือขยายเวลาการชำระหนี้เพื่อให้นักศึกษาวางแผนจัดการให้มีรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้

รวมถึงการให้สิทธินายจ้างในการบรรเทาภาระหนี้เพื่อการศึกษาของพนักงาน ให้ความช่วยเหลือในการชำระหนี้เพื่อการศึกษาคืนภาครัฐแทนพนักงานที่มีภาระหนี้คงค้าง 

เรื่องที่สำคัญคือการปรับแก้ข้อกฎหมาย เพื่อลดปัญหาการเรียกเก็บค่าปรับหรือค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมและเป็นธรรมต่อครัวเรือน เนื่องจากมีการปรับเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและค่าปรับ และนำมารวมนับเป็นส่วนหนึ่งของภาระหนี้คงค้างด้วยการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของต่างประเทศที่นำเสนอภาครัฐให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหามาก และต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย สำหรับประเทศไทยมีข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของนายพงศธร ชิณวงศ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เรื่อง แนวทางการปฏิบัติที่ดีของศูนย์จัดการกองทุนชุมชนสู่การแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน หมู่บ้านหนองยายนุ่น อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ที่ประสบความสำเร็จ โดยการดำเนินงาน 3 ปี สมาชิกในหมู่บ้านจำนวน 49 ราย สามารถปลดหนี้ได้สำเร็จจำนวน 3 ราย ส่วนอีก 46 ราย ลดหนี้ได้ตามกำหนดตามสัญญากู้เงินฉบับใหม่ 

โดยมีแนวทางปฏิบัติที่ดีในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ได้แก่ การร่วมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง จัดตั้งสวัสดิการชุมชน การคัดเลือกคณะกรรมการและลูกหนี้ที่มีคุณภาพ ปลูกฝังแนวคิดการดำเนินชีวิต ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้ชุมชนมีวินัยในการออมมีการวางแผนในการปลดหนี้ให้กับสมาชิก ส่งเสริมให้ชุมชนมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในอดีตประเทศไทยเคยมีปัญหาหนี้ของคนรวยในปี 2540 และได้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเพื่อแก้ไขหนี้ประสบความสำเร็จมาแล้ว 

ความรุนแรงของปัญหาหนี้ครัวเรือนในกลุ่มคนจนและมีรายได้น้อยน่าเป็นห่วงมาก จากการสำรวจของ EIC ระหว่าง 27 สค -27 ก.ย.2564 ที่ระบุว่า 78% ของผูที่รายได้น้อยกว่า 15,000 บาท ต่อเดือน และมีหนี้และมีปัญหาในการชำระหนี้ และ 27.4% ของผู้มีรายได้น้อย มีปัญหาภาระหนี้หนัก เป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน จากตัวเลขเงินเฟ้อที่ทะลุเพดาน 3% ไปเป็น 5% แล้ว สินค้ามีราคาแพงขึ้น ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ครัวเรือนที่มีหนี้สูง จะต้องเผชิญความยากลำบากในการดำรงชีวิตมากขึ้น

นอกเหนือจากความช่วยเหลือของภาครัฐ เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ การแก้ไขเรื่องหนี้นอกระบบ ภาครัฐจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นงานที่ยากกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขา ภาคเอกชนจะต้องส่งเสริมการตลาด Refinancing เพื่อแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ประคับประคอง ให้ครัวเรือนอยู่ได้จนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้น

เรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูหนี้ครัวเรือน เป็นเรื่องที่ต้องทำเร่งด่วน เคยจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูหนี้คนรวยมาแล้วกองทุนแก้ไขหนี้คนจนมีความจำเป็นไม่แพ้กัน และต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ จากคนที่รู้จริง แจกเงินเท่าไหร่ก็เอาไม่อยู่ แก้ไขปัญหาไม่ได้ ถ้าไม่มีวิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องครับ.....