มองเศรษฐกิจไทยและอาเซียน.. เปราะบางจากสงคราม ไทยโตช้ากว่าเพื่อน

มองเศรษฐกิจไทยและอาเซียน.. เปราะบางจากสงคราม ไทยโตช้ากว่าเพื่อน

เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน เผชิญความเสี่ยงใหม่จากภัยสงคราม นโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกกำลังเปลี่ยนทิศทางเพื่อรับมือเงินเฟ้อ ทั้งหมดนี้สร้างความท้าทายต่อไทยและอาเซียน โดยเศรษฐกิจไทยถูกประเมินว่า จะขยายตัวต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียนด้วยกัน

เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนกำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 แต่สงครามรัสเซียและยูเครนทำให้การฟื้นตัวเปราะบางกว่าที่เคยประมาณการไว้ 

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนจะขยายตัว 5.2% ในระหว่างปี 2022 และ 2023 ซึ่งใกล้เคียงกับที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประเมินว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขยายตัวที่ 5.2% ในปีนี้และ 5.3% ในปีหน้า โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนเติบโตในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การส่งออกที่ขยายตัว และการบริโภคภายในที่ฟื้นตัว

โดยเฉพาะการส่งออก ที่ตั้งแต่ปีก่อน เป็นหัวจักรสำคัญให้เศรษฐกิจหลายประเทศฟื้นจากโควิด หลายประเทศเช่นมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย มีการส่งออกกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เศรษฐกิจอาเซียนพลอยได้รับผลกระทบ ดังผลสำรวจรายไตรมาสของ Japan Center for Economic Research และ Nikkei ณ ไตรมาสแรก ปี 2022 (สำรวจระหว่าง 4-24 มี.ค. 2022) ที่ระบุว่า GDP ของ 5 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในอาเซียน ประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย ในปีนี้ จะเติบโตต่ำลงเหลือ 4.9% ซึ่งลดลง 0.2% จากผลสำรวจครั้งก่อน เมื่อ ธ.ค. ปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนประกอบด้วย

1. การแพร่ระบาดของโควิด 19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่ผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรง และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนของแต่ละประเทศที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้แต่ละประเทศสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินได้ตามปกติ การบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยวฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในอนาคตยังขึ้นกับมีโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายเพิ่มขึ้นหรือไม่ และประเด็นที่ต้องจับตา คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ในจีน ว่ารัฐบาลจีนสามารถควบคุมได้มากน้อยเพียงใด

2. สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะไม่แน่นอน กระทบราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิด ทำให้ต้นทุนขนส่งแพงขึ้น ซ้ำเติมปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งก่อนเกิดสงคราม คาดว่าจะคลี่คลายลง ให้หนักและขยายตัวออกไป นอกจากนี้สงครามยังส่งผลต่อตลาดเงินและตลาดทุน ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นทั้งการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม OECD ประเมินว่าสงครามกระทบเศรษฐกิจในเอเชียเบากว่าที่เกิดในประเทศกลุ่ม OECD โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก

3. สถานการณ์เงินเฟ้อ ADB ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของภูมิภาคอาเซียนจะเพิ่มไปที่ 3.7% ในปี 2022 และลดมาอยู่ที่ 3.1% ในปี 2023 อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นกดดันต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า และค่าครองชีพให้เพิ่มสูงขึ้น 

4. ความเสี่ยงจากธนาคารกลางหลายแห่ง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ที่มีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินแบบหดตัวเพื่อสู้เงินเฟ้อ ส่งผลให้ดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในขาขึ้น ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และการลงทุนภาคเอกชน

5. เศรษฐกิจจีน จีนในฐานะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ นำเข้าสินค้าจากหลายประเทศอาเซียนในสัดส่วนสูง หากเศรษฐกิจจีนเติบโตดี ก็ช่วยให้เศรษฐกิจอาเซียนดีไปด้วย อย่างไรก็ตามจากมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มข้นของรัฐบาล และการแพร่ระบาดในเมืองต่างที่ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจจีนปีนี้ถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตลดลงจาก 8.1% ในปีก่อน เป็น 5% ในปีนี้และ 4.8% ในปีหน้า

จากปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ทำให้ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียลดลงจากปีก่อนที่ 6.9% เหลือเพียง 5.2% ในปีนี้ และ 5.3% ในปีหน้า โดยเฉพาะบางประเทศที่เสี่ยงได้รับผลกระทบหนัก จากการพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ สินค้าที่ได้รับผลกระทบหนักจากสงคราม

ทั้งนี้ ผลสำรวจ ณ ไตรมาสแรกปี 2022 ของ Japan Center for Economic Research และ Nikkei พบว่า GDP ไทยปีนี้ขยายตัวต่ำสุดเมื่อเทียบกับอีก 5 ประเทศอาเซียนที่อยู่ในการสำรวจ ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ โดยประมาณการ GDP ของอินโดนีเซียคาดว่าโตที่ 5% มาเลเซียโต 6.1% สิงคโปร์โต 4.6% ฟิลิปปินส์โต 6.3% ขณะที่ไทยโต 3.1% เท่านั้น

ผลสำรวจดังกล่าวใกล้เคียงกับที่ OECD ประเมินการขยายตัวของ Real GDP หลายประเทศในอาเซียน โดยคาดว่า ปีนี้อินโดนีเซียขยายตัว 5.2% มาเลเซียขยายตัว 6% ฟิลิปปินส์ขยายตัว 7% (สูงสุดในอาเซียน) เวียดนามขยายตัว 6.5% สิงคโปร์ขยายตัว 4% บรูไนขยายตัว 3.5% ส่วนไทยขยายตัวที่ 3.8%

เรียกว่าในมุมมองของ OECD หากเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียนด้วยกัน นอกจากบรูไนแล้ว เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มโตต่ำสุด สาเหตุหลักเนื่องจากไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง โควิดจึงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ

กล่าวโดยสรุป ขณะที่ปัจจัยจากโรคระบาดกำลังเบาบางลง ไทยและอาเซียนกำลังเผชิญความเสี่ยงใหม่จากสงคราม ทำให้การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานรุนแรงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันและสินค้าเกษตรแพงขึ้น ตลอดจนนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนทิศทางเพื่อรับมือเงินเฟ้อ ส่งผลต่อการลงทุนระหว่างประเทศและการเคลื่อนย้ายเงินทุน

รัฐบาลทุกประเทศในอาเซียน รวมถึงรัฐบาลไทย ต้องเตรียมรับมือปัจจัยเสี่ยงข้างต้น โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่เศรษฐกิจพึ่งพาภายนอกสูง ยังเปราะบาง และเสี่ยงโตต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน