Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 11 April 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 11 April 2022

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในระดับที่ต่ำลง หลังจากประเทศสมาชิก (IEA) ประกาศปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองยุทธศาสตร์ ขณะที่การแพร่ระบาดโควิด-19 ในจีนยังคงกดดันตลาด

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 90-99 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 97-105 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล                                

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 11 April 2022

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (11 - 15 เม.ย. 65)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในระดับที่ต่ำลง หลังจากสหรัฐฯ และพันธมิตรประกาศปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองยุทธศาตร์ (SPRs) เพิ่มเติม เพื่อช่วยบรรเทาภาวะอุปทานน้ำมันที่ตึงตัวเนื่องจากมาตรการคว่ำการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเมืองเซี่ยงไฮ้ประเทศจีนที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้จีนต้องขยายมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซียยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ทำให้ตลาดมีความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวมากขึ้นสืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมของสหรัฐฯ และยุโรป
 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

- สหรัฐฯ และพันธมิตรประกาศปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองยุทธศาสตร์ (SPRs) ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 65 ที่สหรัฐฯ ประกาศปล่อย SPRs จำนวน 60 ล้านบาร์เรล โดยครั้งนี้ประเทศสมาชิกของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ประกาศจะปล่อยน้ำมันจำนวน 120 ล้านบาร์เรลโดยครึ่งหนึ่งมาจากสหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯ ประกาศจะปล่อยเพิ่มอีก 60 ล้านบาร์เรล รวมปริมาณทั้งหมด 240 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดว่าปริมาณ SPRs สามารถช่วยทดแทนน้ำมันดิบที่หายไปจากรัสเซียและบรรเทาอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัวได้ในระยะสั้น

- สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในเซี่ยงไฮ้ประเทศจีน ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 20,000 ราย ณ วันที่ 5 เม.ย.65 ทำให้จีนต้องประกาศขยายมาตรการล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้อย่างไม่มีกำหนด จากเดิมที่มีการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลา 9 วัน (ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค - 5 เม.ย. 65) พร้อมเร่งตรวจเชื้อประชากรทั้งหมดกว่า 26 ล้านคน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยการประกาศล็อกดาวน์เต็มรูปแบบและการตรวจหาเชื้อจำนวนมากนั้นป็นส่วนหนึ่งของนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) ที่จีนใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ นโยบายดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนซบเซาลง รวมถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศปรับตัวลดลงตามไปด้วย
 

 

 

Baker Hughes คาดการณ์ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของสหัรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 60% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ณ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด 1 เม.ย. 65 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 3 แท่น อยู่ที่ระดับ 673 แท่น ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 8% จากปีก่อนหน้า ซึ่งผู้ผลิตต้องใช้ระยะเวลาในการขุดเจาะและเพิ่มปริมาณการผลิตมากขึ้น เพื่อรองรับอุปทานที่อาจได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางพลังงานต่อรัสเซีย 

- สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังคงขัดแย้ง หลังจากยูเครนรายงานผู้เสียชีวิตกว่า 400 รายใกล้บริเวณเมืองหลวงเคียฟ ด้านนานาชาติประณามการกระทำดังกล่าว พร้อมตอบโต้รัสเซียโดยอาจพิจารณามาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม โดยสหภาพยุโรป EU กำลังพิจารณามาตราการคว่ำบาตรการนำเข้าถ่านหินจากรัสเซีย เยอรมนีเสนอให้มีการยุติสัมพันธภาพทางด้านเศรษฐกิจระหว่างรัสเซีย ขณะที่สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการลงทุนใหม่และห้ามการทำธุรกรรมกับธนาคารเอกชนใหญ่ของรัสเซีย คือ Sberbank และ Alfabank ยกเว้นธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเท่านั้น อาจส่งผลกดดันตลาดน้ำมันดิบตึงตัวเพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันดิบผันผวนมากขึ้น

-  รายงานผลการประชุม FED ออก ณ วันที่ 6 เม.ย. 65 ที่ผ่านมา สรุปผลการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 มี.ค.65 มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.25% และจะมีการพิจารณาปรับลดขนาดงบดุล 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% มากกว่า 1 ครั้งในการประชุมเดือนพ.ค. 65 นี้ เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก   คาดอาจทำให้ค่าเงินสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันที่ซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

-  เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีนรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมี.ค.65 ตลาดคาดอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.7% จากปีก่อนหน้า ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อของจีนเดือนมี.ค.65 ตลาดคาดอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อนหน้า และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของอังกฤษเดือนก.พ. 65 

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 - 8 เม.ย. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.01 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 98.26 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 1.61 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 102.78 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 98.22 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในเมืองเซี่ยงไฮ้ของจีน พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ราย ทำให้จีนต้องประกาศล็อกดาวน์เป็นระยะเวลากว่า 9 วัน (ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค – 5 เม.ย. 65)และ EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 412 ล้านบาร์เรล ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 1 เม.ย. 65 อาจส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบและอุปทานน้ำมันตึงตัวน้อยลง ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หลังพบพลเรือนยูเครนเสียชีวิตกว่า 400 รายใกล้บริเวณกรุงเคียฟ ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนในระดับสูง