EEC กับความท้าทายการพัฒนา "วิสาหกิจชุมชน"

EEC กับความท้าทายการพัฒนา "วิสาหกิจชุมชน"

"สมชาย หาญหิรัญ" สมาชิกวุฒิสภา นำเสนอบทความเกี่ยวกับความท้าทายของการพัฒนา EEC ต่อการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน หลังจาก สกพอ.มีแผนผลักดันบรรษัทสิสาหกิจชุมชน

ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร EEC (กบอ.) เมื่อเดือนก.พ.2565 มีมติเห็นชอบกับโครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อยใน EEC ที่เสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และให้นำข้อเสนอนี้ต่อคณะกรรมการนโยบาย EEC (กพอ.) เพื่อทราบ ในวันที่ 9 มี.ค. 2565

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ ๆ ก็คือ พัฒนาการบริหารจัดการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขยายช่องทางการตลาด และการพัฒนาความสามารถในการเข้าถึงทุนและเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัย โดยผ่านกลไกสองด้านที่สำคัญ คือ การจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจชุมชน (EEC Enterprise) และการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (EEC Incubation Center)

โดยศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนทำให้ผมนึกถึงศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจฯ ที่มีสถานที่ตั้งทำงานเล็ก ๆ มีเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์กลางที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปเช่าหรือยืมใช้ในการทำงานของตนเอง

รวมทั้งเครื่องทดสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพราะสิ่งเหล่านี้ยากที่จะให้วิสาหกิจลงทุนเองในช่วงเริ่มต้นธุรกิจเนื่องจากไม่คุ้มทางธุรกิจและเสี่ยงสูง แต่พอดูในกิจกรรมของส่วนนี้แล้ว ใช้งบประมาณเพียง 5 ล้านบาทในปีแรก ก็จะเห็นว่าเป็นกิจกรรมการจัดการฝึกอบรมและพัฒนาความรู้ให้กับวิสาหกิจชุมชน โดยการคัดเลือกสถาบันการศึกษามารับงานต่อไป

ถ้าจะถามว่าซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอีกกว่า 27 หน่วยงานที่มีโครงการเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนา SME และวิสาหกิจชุมชนในปัจจุบันแล้ว ยังไม่เห็นความแตกต่างของกิจกรรมที่นำเสนอนี้จากที่เคยเห็นและกำลังทำอยู่ของหน่วยงานต่าง ๆ

แต่อย่างใดก็ตามอาจมีการเลือกกลุ่มตัวอย่างเฉพาะที่ผู้ประกอบการมีความรู้ นำมาต่อยอดด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้เติบโตแบบก้าวกระโดดก็ต้องทำ เหมือนที่ สวทช. หรือ NIA กำลังทำอยู่ โดยตัดกลุ่มที่มีศักยภาพน้อยให้คนอื่นทำ แม้ว่าจะใช้งบเพียง 5 ล้านบาท แต่ถ้าเลือกวิสาหกิจที่เน้นเทคโนโลยีจริง ๆ ก็ต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้น สกพอ. ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ทำงานซ้ำกับอีกหลายหน่วยงาน

งานศูนย์พัฒนาวิสาหกิจชุมชนที่ สกพอ. พยายามสร้างขึ้นนี้ หากมองในภาพรวมที่ปัจจุบันมีคนทำอยู่มากแล้วในเรื่องฝึกอบรม และภาครัฐก็มีข้อมูลของวิสาหกิจที่ดีและมากขึ้น หากมีหน่วยงานในระดับท้องถิ่น ชุมชน อำเภอ และจังหวัด จนถึงศูนย์ใหญ่ในส่วนกลาง หากงานความช่วยเหลือพัฒนาถูกส่งต่อเป็นทอดๆ ผ่านระบบดิจิทัล ตามลำดับขึ้นมา ผมเชื่อว่าการพัฒนาวิสาหกิจจะเข้มแข็ง ครบถ้วน งบประมาณจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นทุกคำถาม ทุกปัญหา ทุกประเด็นจะมีผู้ชำนาญในเรื่องนั้นๆ ดูแล

วิธีการแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศไทยเคยลองเริ่มต้นทำโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาร่วมด้วย เรียกว่า โครงการ RISMEP (Regional Integrated SME Promotion) โดยใช้วิธีการอย่างที่ผมเล่าข้างต้น แต่วันนี้เสียดายทีไปไปไหนไม่ไกล เพราะทุกหน่วยงานพยายามสร้างขอบอำนาจของตนเองไม่ให้ใครมายุ่ง กลัวการแย่งโครงการที่อาจส่งผลต่องบประมาณของตนในปีถัดไป ฯลฯ ทำให้งานพัฒนาวิสาหกิจของหน่วยงานรัฐทำงานเหมือน ๆ กัน

และหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูภาพรวมก็ไม่มีบารมีและมุ่งมั่นพอ แถมยังลงมามั่วทำโครงการแข่งกับเขาอีกด้วย ผลก็เห็น ๆ กันว่าทุกคนทำฝึกอบรม ทุกงานโชว์งานแสดง ขายของ แจกรางวัลประกวด ฯลฯ เรื่องนี้พอเข้าใจได้ว่า คำว่า “บูรณาการ” ดูเป็นคำแสลงของระบบการทำงานบ้านเราจริง ๆ ยิ่งหนักไปอีกที่คนดูแลโครงการแบบนี้ ไม่ “อิน” และไม่เห็นวิญญาณที่แท้จริงของระบบสนับสนุน SME ที่ยั่งยืน ทำให้งานออกมาเป็นโครงการๆ ไป น่าเสียดายครับ

ผมดีใจที่ สกพอ. มองเห็นภาพรวมโดยพยายามสร้างการเชื่อมต่อทุกจิ๊กซอว์เข้าด้วยกัน และทำหน้าที่ต่อยอดหรือรับงานที่เกินกำลังของหน่วยพัฒนาในท้องถิ่น และที่สำคัญการดำเนินงานที่ยั่งยืนในระบบการสนับสนุน มีระบบธุรกิจที่ชัดเจน ไม่ใช่รับเป็นโครงการๆ ไป งบประมาณรัฐหมดก็เลิก แต่อาจเป็นเชิงธุรกิจที่บริการส่วนหนึ่งได้เงินสนับสนุนในการช่วยเหลือจากรัฐ เช่น คูปองให้ SME มาใช้บริการ และเครื่องไม้เครื่องมืออาจได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ฯลฯ แต่ถ้าทำแค่อบรมในเรื่องต่าง ๆ ผมว่าน้อยไป และมีการทำอยู่เยอะแล้วครับ

สำหรับข้อคิดเห็นในเรื่องกิจกรรมหนึ่งในโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนของ EEC นี้ คือ บรรษัทวิสาหกิจชุมชน ผมขอยกยอดไปครั้งหน้าครับ