สแกน “3หุ้นแบรนด์อาหารดัง” กลางสมรภูมิ “โควิด”

สแกน “3หุ้นแบรนด์อาหารดัง” กลางสมรภูมิ “โควิด”

2 ปีฐานะการเงิน “3 หุ้นแบรนด์ร้านอาหารดัง” ทรุด !! หลังสารพัดปัจจัยลบรุมเร้า เพื่อสกัดการระบาดโควิด-19 เหล่า “ขาใหญ่” แก้เกมพัลวัน ปรับโมเดลรับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เร่งคืนชีพปี 2565

นับเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว !! ที่การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) รุมเร้าทั่วโลกและไทย และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบคือ “ธุรกิจร้านอาหารให้บริการเต็มรูปแบบ” (Full-Service Restaurants) ที่ผลการดำเนินงาน “หดตัว” อย่างรุนแรง… สะท้อนผ่านจากมาตรการควบคุมเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเฉพาะคำสั่งปิดห้างสรรพสินค้า !!

ในจำนวนนั้นมี “หุ้น 3 แบรนด์ดัง” ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) รวมอยู่ด้วย นั่นคือ บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นภายใต้ “แบรนด์ ZEN Musha” ของ “สุทธิเดช จิราธิวัฒน์” , บมจ. เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป หรือ M เจ้าของร้านสุกี้ภายใต้ “แบรนด์ MK” ร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิ ของ “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” และ บมจ. อาฟเตอร์ ยู หรือ AU เจ้าของร้านขนมหวานภายใต้ “แบรนด์ อาฟเตอร์ ยู” ของ “กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ”

ปัจจัยลบดังกล่าว กดดันให้ “ฐานะการเงิน” ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี2563-2564) มีกำไรสุทธิ “ลดลง” ไปจนถึงพลิกขาดทุน โดย “หุ้น ZEN” ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 63.66 ล้านบาท และ 91.57 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้ 2,333.39 ล้านบาท และ 2,255.32 ล้านบาท “หุ้น M” กำไรสุทธิอยู่ที่ 907.37 ล้านบาท และ 130.98 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้อยู่ที่ 13,655.26 ล้านบาท และ 11,368.01 ล้านบาท “หุ้น AU” มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 55.47 ล้านบาท และ 4.45 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้อยู่ที่ 774.80 ล้านบาท และ 628.83 ล้านบาท ตามลำดับ 

ทว่า แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ในปี 2565 เริ่มมี “ปัจจัยบวกหนุนมากขึ้น” ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนคลายมาตรการของทางการ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และหากสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศดีขึ้น หรือไม่มีการกลับมาระบาดจนทำให้ทางการต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมอีกครั้ง น่าจะช่วยให้ธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง หลังจากการหดตัวอย่างรุนแรงต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนรายได้ของบริษัทกลุ่มอาหารในปี 2565 เนื่องจากคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวถึง 4.3% จากเพียง 0.3% ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวโน้มการเติบโตเหมือนจะแผ่วลงกว่าที่คาดเอาไว้ก่อนหน้านี้เพราะกำลังซื้อที่ลดลงอาจจะกระทบกับอุปสงค์ของสินค้าอาหาร

สแกน “3หุ้นแบรนด์อาหารดัง” กลางสมรภูมิ “โควิด” สอดคล้อง “ยุพาพรรณ เอกสิทธิกุล” กรรมการบริหาร และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและบัญชี บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลประกอบการปี 2565 จะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ จากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 91.57 ล้านบาท เนื่องจากตั้งเป้ารายได้ในปีนี้จะฟื้นมาแตะ 3,000 ล้านบาท เติบโต 30% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,255.32 ล้านบาท โดยคาดว่ายอดขายสาขาเดิม (SSSG) จะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 20%

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้มีอาการรุนแรงเหมือนกับสายพันธุ์ก่อนหน้า ส่งผลให้การใช้ชีวิตของประชาชนและกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้ค่อนข้างมาก ในขณะเดียวกันภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และยืนยันว่าจะไม่ใช้มาตรการปิดเมือง (Lockdown) อีก จึงช่วยหนุนให้ประชาชนกลับมาทานอาหารในร้านสาขาของบริษัทมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมสร้างยอดขายใหม่ๆ ให้เพิ่มขึ้น รวมถึงการต่อยอดร้านอาหารแบรนด์ “เขียง” เพิ่มมากขึ้น ทั้งเขียงแกงใต้ และเขียงเล็ก (ร้านรถเข็น) ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดี

นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าจะมีการรับรู้รายได้จากการลงทุนโรงงานผลิตซอส ZKC's ซึ่งเดิมเป็นซัพพลายเออร์ซอสปรุงรสให้กับบริษัท ภายใต้สัดส่วนถือหุ้นที่ 51% เข้ามาได้อย่างเต็มปี โดยในช่วงเดือน ก.พ.65 ที่ผ่านมาบริษัทได้เซ็นสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายกับ บริษัท เดอเบล จำกัด (DURBELL) ทำให้จากนี้จะสามารถขยายสินค้าไปได้ครอบคุลมทุกจังหวัด รวมถึงคาดว่าจะรับรู้รายได้จากการลงทุนในบริษัท King Marine (KMF) ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่าย ปลาแซลมอน แอตแลนติกโฟรเซ่น ที่บริษัทเข้าไปถือหุ้น 51% เข้ามาด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทได้วางงบลงทุนราว 250 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตในโรงงานผลิตซอสให้เพียงพอรองรับกับการขยายตลาดทั่วประเทศ รวมไปถึงการขยายสาขาและปรับปรุงร้านอาหารเดิม ขณะเดียวกันบริษัทยังคงมีความสนใจและมองหาโอกาสในการควบรวมกิจการ (M&A) และร่วมทุน (JV) กับผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะที่เป็นรายย่อย (SMEs) ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตให้รายย่อย รวมถึงกระจายความเสี่ยงให้กับบริษัทในการรับรู้รายได้จากหลากหลายธุรกิจ

ด้านผลประกอบการในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 มีการเติบโตกว่า 10-15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อกลับมาฟื้นตัว 

แต่อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2564 มองว่ายอดขายโดยรวมอาจลดลงเล็กน้อย เพราะไตรมาสสุดท้ายของปีจะมีช่วงเทศกาลต่างๆ ในช่วงปลายปีทำให้มียอดการใช้จ่ายที่สูงกว่า

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) วิเคราะห์หุ้น อาฟเตอร์ ยู หรือ AU ว่า คาดว่ากำไรของ AU จะเติบโตดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก “ยอดขายในร้านกลับมา” หลังจากที่ไม่มีข้อจำกัดในการเปิดบริการแล้ว และเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น “การขยายแฟรนไชส์” ร้าน Mikka Café ในต่างจังหวัด บริษัทมีแผนจะเปิดตัว “สินค้าใหม่” ภายใต้แบรนด์ใหม่ในเดือนเม.ย. 2565 เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ โดยเราคาดว่าสินค้าใหม่นี้น่าจะเป็นสินค้าในหมวดอาหาร

ดังนั้น จากแนวโน้มการเติบโตในระยะยาวของกำไร จึงยังคาดว่ากำไรสุทธิของ AU จะฟื้นตัวขึ้นเป็น 135 ล้านบาทในปี 2565F และจะโตต่อเนื่องอีกถึง 64% เทียบับปีก่อน เป็น 222 ล้านบาท ในปี 2566F ดังนั้น จึงยังคงคำแนะนำถือ ราคาเป้าหมายปี 2565F ที่ 10.00 บาท (คิดเป็น P/E ที่ 37x) โดยปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้, SSSG ต่ำเกินคาด, การแข่งขันสูง