“อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ขึ้นหรือลง มีผลอย่างไรต่อ “ค่าครองชีพ” ? 

“อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ขึ้นหรือลง มีผลอย่างไรต่อ “ค่าครองชีพ” ? 

ตัวแปรสำคัญทางเศรษฐกิจอย่าง "อัตราดอกเบี้ยนโยบาย" ที่หลายคนอาจรู้สึกไกลตัว แต่รู้หรือไม่ว่า การขึ้นหรือลงของตัวแปรนี้สามารถส่งผลต่อ "ค่าครองชีพ" ของเราได้มากกว่าที่คิด

เรื่องที่ดูไกลตัวอย่าง “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” แต่รู้ไหมว่า นอกจากจะมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจแล้ว ดอกเบี้ยตัวดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อเรื่องปากท้องหรือ “ค่าครองชีพ” ของเราอีกด้วย  

แม้เราจะคุ้นเคยกับ “อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก” และ “อัตราดอกเบี้ยเงินกู้” กันมากกว่า แต่แท้จริงแล้วอัตราดอกเบี้ยนโยบายนี้เองที่อยู่เบื้องหลังการขึ้น-ลงของดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ แถมยังมีส่วนช่วยควบคุมทิศทางของ “อัตราเงินเฟ้อ” และ “ค่าเงินบาท” ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่มีผลต่อค่าครองชีพของเราทั้งสิ้น

 

  •   ผลกระทบต่อ “อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้”  

เมื่อมีการประกาศปรับขึ้น-ลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงตัวเดียว ก็สามารถบอกได้ถึงการขึ้นหรือลงของดอกเบี้ยตัวที่เหลือได้ เพราะหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น โดยปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้จะมีทิศทางขาขึ้นตามไปด้วย ในทางตรงข้าม ถ้าเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้จะอยู่ในขาลงด้วยเช่นกัน 

ดังนั้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงมีผลต่อเราในแง่แรงจูงใจต่อการฝากเงินกับธนาคารที่มากขึ้น เพราะได้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยจากการฝากสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะส่งผลให้เรามีแรงจูงใจต่อการกู้เงินต่ำลง เพราะต้นทุนหรือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายมีจำนวนสูงขึ้น และหากมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ผลกระทบต่อแรงจูงในการฝากเงินและกู้เงินก็จะเป็นไปทางตรงกันข้ามกับพฤติกรรมที่ได้กล่าวไป 

 

 

 

  •   ผลกระทบต่อ “อัตราเงินเฟ้อ”  

หากถามว่า “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เกี่ยวข้องอะไรกับภาวะเงินเฟ้อ? คงต้องบอกเลยว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายตัวนี้เองที่มีผลต่อการควบคุมเงินเฟ้อ และยังนับว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการลดระดับความรุนแรงของภาวะเงินเฟ้ออีกด้วย

แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่ได้มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยตรง แต่การที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลต่อแรงจูงใจในการ “ฝากเงิน” และ “กู้เงิน” ของเรานี้เอง ที่จะทำให้การปรับอัตราดอกเบี้ยมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ

โดยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้เงินไหลเข้าสู่ระบบธนาคารมากขึ้น เท่ากับว่า เงินหรือสภาพคล่องที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจก็จะลดลง นำไปสู่การปรับลดลงระดับราคาสินค้าและบริการ ท้ายที่สุดจึงทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำลง

สรุปง่ายๆ ก็คือ เมื่อใดที่ค่าครองชีพสูงหรือเกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงเกินไป การ “ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” จึงถือเป็นหนึ่งในวิธีการที่สามารถใช้แก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวได้ 

 

  •   ผลกระทบต่อ “ค่าเงินบาท”  

อีกหนึ่งตัวแปรที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นั่นคือ “ค่าเงินบาท” ที่ไม่ว่าจะ “อ่อนค่า” หรือ  “แข็งค่า” ก็ล้วนมีผลต่อระดับเงินเฟ้อในประเทศ

เศรษฐกิจไทยที่มีลักษณะเปิด (Open Economy) หรือมีการทำการค้าขายกับต่างประเทศ และมีการปล่อยให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศอย่างเสรี สิ่งนี้เองที่ทำให้การปรับขึ้น-ลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลต่อการควบคุมทิศทางค่าเงินบาท 

หากใครเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “เงินจะไหลจากที่ต่ำไปยังที่สูง” ในทีนี้หมายถึงไหลจากพื้นที่ที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปยังพื้นที่ที่มีผลตอบแทนสูง ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างประเทศต่างๆ หากระดับอัตราดอกเบี้ยในไทยต่ำกว่าต่างประเทศ จะส่งผลให้เงินทุนบางส่วนไหลออกจากประเทศ 

เมื่อเกิดการไหลออกของเงินดังข้างต้น เงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง เนื่องจากมีความต้องการขายเงินบาท เพื่อแลกซื้อเงินตราต่างประเทศที่ต้องการ 

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของค่าเงินที่เปลี่ยนไปอาจไม่ได้มาจากเพียงการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่สามารถเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นได้ด้วยเช่นกัน อาทิ ความเชื่อมั่นที่มีต่อค่าเงินสกุลนั้นๆ เป็นต้น จึงเป็นที่มาให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายคือหนึ่งในเครื่องมือช่วยปรับทิศทางของค่าเงิน เพราะสามารถส่งผลกระทบถึงกันได้ 

ทั้งนี้ทิศทางของค่าเงินยังส่งผลต่อระดับเงินเฟ้อและค่าครองชีพ โดยการอ่อนค่าของเงินจะมีผลให้ “สินค้านำเข้า” ราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่สำคัญและจำเป็นอย่าง สินค้าพลังงานหรือ “น้ำมัน” ที่เมื่อราคาแพงขึ้น ก็ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นตามไปด้วย 

ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยที่พึ่งพาภาคการส่งออกราว 70% ของจีดีพี เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่า ก็มีผลให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะต่างประเทศต้องใช้เงินมากขึ้นในการซื้อสินค้าไทย ซึ่งกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย 

ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงมักถูกปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ เช่น หากค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป ก็อาจมีการพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบาย เป็นต้น 

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงเห็นภาพแล้วว่าทำไม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลายเป็นวาระที่สำคัญทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ เพราะนอกจากจะมีผลต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคแล้ว ยังมีผลต่อภาระค่าครองชีพของคนทั่วไปเช่นเราด้วย