เคลมประกันโควิด เม.ย.พุ่ง ‘แสนล้าน’ - ประสาน สธ. ขอข้อมูล เร่งจ่ายสินไหม

เคลมประกันโควิด เม.ย.พุ่ง ‘แสนล้าน’  - ประสาน สธ. ขอข้อมูล เร่งจ่ายสินไหม

“สมาคมประกันวินาศภัยไทย” ชี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดหลังสงกรานต์ส่อพุ่งแรง หวั่นยอดเคลมประกันสูงกว่า “แสนล้าน” จากสิ้น มี.ค. 6 หมื่นล้าน - ประสาน สธ.ขอข้อมูล เร่งจ่ายสินไหม “คปภ.” เดินหน้าแก้กฎหมายเพิ่มโทษอาญา“กรรมการ - ผู้บริหาร” บริหารงานผิดพลาด ยกระดับเท่าสถาบันการเงิน

การแพร่ระบาดโควิดปัจจุบัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงเกิน 20,000 คนต่อวัน  และช่วงวันหยุดยาว “เทศกาลสงกรานต์” ปีนี้ หลายหน่วยงาน คาดว่าหลังเทศกาล จะมีผู้ติดเชื้อโควิดมากขึ้น เช่น กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คาดว่าจะอยู่ที่ 50,000 รายต่อวัน ส่งผลให้มียอดเคลมประกันโควิดเพิ่มขึ้น     

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ยอดการเคลมประกันภัยโควิด ณ สิ้นเดือนมี.ค.2565 แตะระดับ 60,000 ล้านบาทแล้ว เพิ่มขึ้นทะลุ 150% หรือ1.5 เท่า จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 40,000 ล้านบาท และยังมีความเสี่ยงยอดเคลมสูงขึ้นต่อเนื่องทุกวัน โดยคาดว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มีโอกาสที่ยอดผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงกว่าช่วงที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ บริษัทไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด(มหาชน)หรือ THRE คาดการณ์ ยอดเคลมประกันภัยโควิดทั้งระบบ จะปรับเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 40,000 ล้านบาท ไปแตะระดับ 100,000 ล้านบาท ในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่กรมธรรม์ส่วนใหญ่จะสิ้นสุดความคุ้มครอง

โดยนับว่าเป็นความเสี่ยงต่อยอดการเคลมประกันภัยโควิดที่อาจมียอดเคลมมากกว่าที่ THRE คาดการณ์ไว้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประกันโควิดแบบเจอ จ่าย จบ โดยขณะนี้ มียอดเคลมประกันภัยโควิดสูงขึ้นต่อเนื่องซึ่งสมาคมฯ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่ายอดผู้ติดเชื้อ โควิดหลังสงกรานต์จะเร่งตัวแรงอีกแค่ไหน

ยอดเคลมส่อผิดปกติ

นายอานนท์ กล่าวว่า ยังมีความเสี่ยงของความผิดปกติการเคลมประกันภัยโควิด สะท้อนจากปัจจุบันอัตราคนติดเชื้อโควิดของประเทศคิดเป็น 2.3% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่กลับมีอัตราคนติดเชื้อโควิดของผู้ที่มีประกันคิดเป็น 10% ของจำนวนกรมธรรม์โควิดทั้งหมด ถือว่าผิดธรรมชาติอย่างมาก

โดยหากพิจารณาตามหลักการแล้ว อัตราส่วนทั้งสองควร เป็นตัวเลขที่สอดคล้องในระดับเดียวกัน แต่อัตราคนติดเชื้อโควิดของประกันภัยกลับมากกว่าถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับอัตราคนติดเชื้อโควิดของประเทศ นั้นหมายถึง คนที่มีประกัน ติดเชื้อโควิดมากกว่าคนไม่มีประกันเป็นจำนวนมากซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า เกิดการทุจริตเคลมสินไหมจากผู้เอาประกันภัย(Moral Hazard) เพิ่มขึ้นด้วยจากคนที่ซื้อประกันโควิดกันหลายฉบับจากหลายบริษัทเอาตัวเข้าไปเสี่ยงติดโควิดเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้คาดหวังว่าหากบริษัทรับประกันภัยโควิดเจอ จ่าย จบ สามารถผ่านพ้นช่วงเดือนเม.ย.นี้ไปได้ ซึ่งเป็นช่วงที่กรมธรรม์ประกันโควิดจะสิ้นสุดความคุ้มครองภายในเดือนเม.ย.นี้คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70% มองว่าหลังจากนั้นสถานการณ์ต่างๆ และยอดเคลมประกันภัยโควิด จะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะตอนนี้บริษัทขนาดใหญ่ที่รับประกันภัยโควิด ยังรับไหว และยืนยันให้คุ้มครองทุกกรมธรรม์ตามเงื่อนไข

ส่วนกรณีการเคลมประกันภัยโควิดที่เป็นค่ารักษาพยาบาลและชดเชยรายได้จะส่งผลต่อบริษัทประกันในระยะยาวหรือไม่นั้น คงต้องรอประเมินสถานการณ์ระยะถัดไป แต่เชื่อว่า บริษัทประกันเหล่านี้ ยังสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี และการขายประกันภัยประเภทอื่นๆ ยังเติบโตได้ สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

ประสาน สธ.ขอข้อมูลผู้ติดเชื้อ

นอกจากนี้ จากสถานการณ์จ่ายเคลมประกันภัยโควิด ที่มีความล่าช้าค่อนข้างมาก เช่น กองทุนประกันวินาศภัย พิจารณาเคลมสินไหมได้วันละ 1,000 รายเท่านั้น ทำให้ผู้เอาประกันเริ่มกังวลว่าจะไม่ได้หรือต้องรอนานหลายปีกว่าจะได้เงินสินไหมนั้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับการเคลมประกันภัยโควิดทั้งระบบที่อาจสูงถึง 4-5 แสนราย และเพื่อให้การตรวจสอบข้อมูล และพิจารณาจ่ายเงินสินไหมได้ง่ายและเร็วมากขึ้น

โดยขณะนี้ ทางสมาคมฯ ได้ทำหนังสือประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิดทั้งหมด นำมาเชื่อมโยงเข้ากับระบบการตรวจสอบพิจารณาการจ่ายสินไหมประกันภัยโควิดทั้งของบริษัทประกันและกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจสอบจากรายชื่อได้ทันที แต่ตอนนี้สมาคมฯ ยังรอการตอบรับกลับมา

คาดเคลมโควิดหลังสงกรานต์พุ่ง

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ยอดเคลมประกันภัยโควิดหลังสงกรานต์คาดว่า น่าจะยังปรับตัวสูงขึ้น แต่ถ้าไม่เกินตัวเลขที่คาดการณ์ไปมาก ก็จะไม่มีผลกระทบมาก เพราะเป็นช่วงระยะเวลาไม่นาน ณ สิ้นเดือนเม.ย.นี้กรมธรรม์ประกันภัยโควิดเจอ จ่าย จบ จะทยอยหมดอายุการคุ้มครองและจะสิ้นสุดทุกกรมธรรม์ในช่วงเดือนมิ.ย.นี้

สำหรับยอดเคลมประกันภัยโควิดสะสมตั้งแต่ ปี 2563 - 15 มี.ค. 2565 อยู่ที่ 5.18 หมื่นล้านบาท เป็นยอดเคลมเจอ จ่าย จบ ราว 4.2 หมื่นล้านบาท และที่เหลือราว 9.8 พันล้านบาท เป็นยอดเคลมค่ารักษาพยาบาลและชดเชยรายได้ จากการรับประกันภัยโควิดทั้งระบบที่มีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยสะสม 20.55 ล้านฉบับ เป็นผู้เอาประกันภัยสะสม 30.16 ล้านราย เบี้ยประกันภัยสะสม 1.09 หมื่นล้านบาท

“สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดโอมิครอนยังไม่นิ่ง ทำให้ยอดเคลมประกันโควิดยังสูงตามยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยต้องติดตามแต่ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทประกันโควิดที่เป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่ออุตสาหกรรมประกันภัยแต่อย่างใด”

ห่วงอาคเนย์ประกันภัย

นายสุทธิพล กล่าวว่า คปภ. มีความเป็นห่วงบริษัทที่ขายประกันภัยโควิดเจอ จ่าย จบ เป็นจำนวนมากทุกแห่ง ไม่ว่าจะบริษัทใหญ่หรือเล็กหากบริษัทไม่ถอดใจ และมีความตั้งใจร่วมมือกันแก้ปัญหาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น คปภ.พร้อมดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่โดยเฉพาะสินมั่นคงประกันภัย ตอนนี้อยู่ในกลุ่มได้รับมาตรการผ่อนผันซึ่ง คปภ. จะติดตาม และกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดหลังจากนี้

ทั้งนี้หากโอมิครอนยังร้ายแรงขึ้นทำให้วิธีการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ คปภ. พร้อมหาวิธีการใหม่ ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาจริงจังเพื่อลดผลกระทบ เพราะสถานการณ์ของสินมั่นคง ตอนนี้แตกต่างจากบริษัทอื่น แม้จะมีกรมธรรม์ประกันภัยโควิดเป็นจำนวนมาก แต่ตอนนี้ถือว่าอยู่ในเฟสสุดท้ายแล้วเมื่อถึงสิ้น เม.ย.นี้กรมธรรม์สัดส่วนกว่า 90% จะสิ้นสุดการคุ้มครอง

โดยยอมรับว่าของ บริษัทอาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย ค่อนข้างหนักใจ เพราะกรมธรรม์ประกันภัยโควิดเจอ จ่าย จบ ที่ยังมีความคุ้มครองอยู่อีกราว 1.17 ล้านกรมธรรม์ และในเดือนพ.ค.มีความเสี่ยงที่ยอดเคลมยังปรับตัวสูงขึ้นได้ ตามยอดผู้ติดเชื้อยังสูงขึ้น เพราะในเดือนมิ.ย. ถึงจะทยอยสิ้นสุดการคุ้มครอง ทั้งนี้ ณ 31 ม.ค.2565 ทั้งสองบริษัทมีสินไหมประกันภัยโควิดค้างจ่ายเกิดขึ้นแล้วราว1.8 หมื่นล้านบาท

จ่อเพิ่มโทษอาญา

นายสุทธิพล กล่าวว่า คปภ.เดินหน้าปรับปรุงระบบการรับประกันภัย รองรับความเสี่ยงใหม่ที่จะเกิดขึ้น ล่าสุด คปภ.เสนอขอแก้ไข พ.ร.บ.ประกันชีวิต และประกันวินาศภัยให้อำนาจนายทะเบียนดำเนินการเอาผิดลงโทษเข้มขึ้น เช่น มาตรการลงโทษทางอาญาและแพ่งกับกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทประกัน ที่มีส่วนบริหารงานผิดพลาดทำให้เกิดความเสียหาย เป็นการยกระดับกฎหมายเทียบเท่ากับสถาบันการเงิน ยังอยู่ระหว่างรอเข้าสภาฯ พิจารณาต่อไป

“ยอมรับว่ากฎหมายแม่บทของบริษัทประกันภัยตอนนี้อ่อนมาก เอาผิดได้มากที่สุดแค่การถอดถอนกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทและกรณีบริษัทประกันทำผิด จะเป็นการเปรียบเทียบปรับเท่านั้น”

พร้อมกันนี้ คปภ.จะเพิ่มกลไกการรับประกันให้เข้มงวดขึ้น อาทิ การจัดตั้งทีมแพทย์ของ คปภ. เข้ามาร่วมในกระบวนการพิจารณาเห็นชอบแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เป็นความเสี่ยงใหม่เกี่ยวข้องกับทางด้านสาธารณสุขและสุขภาพ

ในส่วนนักคณิตศาสตร์ประกันวินาศภัย จะต้องมีบทบาทมากขึ้นเทียบเท่ากับของประกันชีวิต โดยต้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการยื่นเห็นชอบแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัย จากเดิมจะเข้ามาพิจารณาตั้งสำรองหรือกติกาต่างๆ เมื่อแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้รับความเห็นชอบจาก คปภ.แล้ว

นำแซนด์บ็อกซ์ทดสอบ

การนำระบบแซนด์บ็อกซ์ มาเป็นสนามทดสอบสำหรับนวัตกรรมประกันภัยใหม่ที่นอกเหนือจากอินชัวร์เทคโดยเฉพาะการรับประกันภัยเกี่ยวกับโรคระบาดใหม่ในวงจำกัดก่อน ระยะเวลาคุ้มครองสั้นๆ วงเงินความคุ้มครองไม่มากในความเสี่ยงที่ไม่คุ้นเคยโดย

การบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยต้องรัดกุมมากขึ้น หากบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารความเสี่ยง เช่น การรับประกันภัยต่อต้องรายงาน คปภ.และเพิ่มกระบวนการควบคุมการขายประกันที่บริษัทประกันสามารถสั่งหยุดการขายได้ จากปัจจุบันมีแค่การควบคุมไม่ให้บริษัทไปบังคับขายประกันหรืออธิบายข้อมูลการขายที่เกิดความเป็นจริง ทั้งนี้ เพราะช่วงโควิดเป็นการขายประกันโควิดผ่านระบบคนกลาง และส่วนใหญ่เป็นการขายออนไลน์ ที่หลายบริษัทประกันไม่สามารถควบคุมได้

ซึ่งการปรับกลไกเร่งใช้ระบบเทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบการฉ้อฉลประกันภัย นอกจากนี้จะสนับสนุนการควบรวมและการหาพันธมิตร ซึ่งบอร์ด คปภ. มีนโยบายที่จะทำให้เพื่อให้บริษัทประกันภัย มีความพร้อม และเข้มแข็งมากขึ้น

“คปภ.มีหน้าที่เห็นชอบแบบกรมธรรม์และกำหนดอัตราเบี้ยประกัน หากบริษัทต้องขายให้เป็นไปตามกรอบที่เห็นชอบซึ่งจะขายหรือไม่นั้น คปภ.ไม่ได้เข้าแทรกแซงกลไกของตลาดบริษัทต้องตัดสินใจเองจะขายหรือไม่ อย่างการขายประกันภัยเจอ จ่าย จบ ก็มีบางบริษัทที่มาขอความเห็นชอบจาก คปภ. แล้วแต่ไม่ได้ขายก็มีเพราะบริษัทเหล่านั้นมีการประเมินความสามารถกับมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ไม่เกิดปัญหา"

“ทิพยฯ” คาดยอดเคลมเพิ่มพันล้าน

นายสมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)หรือTIPH กล่าวว่า คาดการณ์ยอดเคลมประกันภัยโควิด (ไม่มีเจอ จ่าย จบ) ของบริษัทจากนี้ จนถึงเดือนพ.ค.จะมียอดเคลมเพิ่มขึ้นอีกแค่ 1,000 ล้านบาท หวังว่าช่วงหลังสงกรานต์ยอดผู้ติดเชื้อโควิดจะไม่สูงกว่าที่คาดไว้ จากปัจจุบันจ่ายเคลมไปแล้ว 3,600 ล้านบาท และยังมีกรมธรรม์ที่มีความคุ้มครองเหลืออยู่ราว 1.1 ล้านกรมธรรม์ จากจำนวนทั้งสิ้น 4 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งในเดือนพ.ค.จะมีกรมธรรม์สัดส่วน 70% ที่สิ้นสุดการคุ้มครองราวและที่เหลือจะทยอยสิ้นสุดความคุ้มครองตามลำดับ

ทั้งนี้ บริษัทยังยืนจ่ายเคลมประกันภัยโควิดตามเงื่อนไขทุกกรมธรรม์ เพราะไม่มีความคุ้มครองเจอ จ่าย จบ และบริหารความเสี่ยงที่ดี มีสัดส่วนการทำประกันภัยต่อในสัดส่วนที่สูง ทำให้บริษัทยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนอยู่ระดับสูงถึง 236% มากกว่าที่กฎหมายกำหนด

“แม้ว่าในวิกฤติโควิดตอนนี้ จะมี 4 บริษัทประกันภัยโควิดเจอ จ่าย จบถูกเพิกถอนใบอนุญาตปิดกิจการแล้วและยอดผู้ติดเชื้อโควิดในปีนี้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยอดเคลมประกันโควิดยังเพิ่มสูงขึ้น หลังจากนี้หวังว่าจะไม่มีบริษัทไหนต้องปิดอีกแล้ว เพราะบริษัทที่เหลือและรับประกันภัยโควิดทุกแห่งยังยืนยันให้ความคุ้มครองกับลูกค้าตามเงื่อนไขทุกกรมธรรม์ได้อยู่ อีกทั้งส่วนใหญ่ธุรกิจที่มีความหลากหลายน่าจะสามารถชดเชยรองรับความเสี่ยงที่เกิดในปีนี้ได้”

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์