“เศรษฐพุฒิ” มั่นใจแบงก์ชาติรักษาแก่น นำพาเศรษฐกิจพ้นวิกฤติ

“เศรษฐพุฒิ” มั่นใจแบงก์ชาติรักษาแก่น นำพาเศรษฐกิจพ้นวิกฤติ

ธปท.เปิดเวที 7 ผู้ว่าการ เหลียวหลังแลหน้า “เศรษฐพุฒิ” มั่นใจแบงก์ชาติรักษาแก่น นำพาเศรษฐกิจพ้นวิกฤติ เชื่อผู้ว่าการ ธปท.ต่างมีโจทย์เดียวกันคือ ทำให้ ธปท.ทำหน้าที่ธนาคารกลางดูแลเศรษฐกิจดีที่สุด หลังนำไทยผ่านวิกฤติ

       ภาคนโยบายการเงิน ถือเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญมาก ทั้งการเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ให้เศรษฐกิจไทย เติบโตได้ต่อเนื่องไม่สะดุด ควบคู่การมีบทบาทช่วยกู้ “วิกฤติ” ประเทศ

      ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานสัมมนา “เหลียวหลังแลหน้ากับผู้ว่าการ ธปท." เพื่อเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้การทำหน้าที่ของธนาคารกลางจากอดีตส่งต่อสู่อนาคต ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยมีอดีตผู้ว่าการ ธปท. 6 คน เข้าร่วม

     นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.เปิดเผยว่า  80 ปี ที่ผ่านมา ของ ธปท.เจอการเปลี่ยนแปลงมาก และเจอหลายวิกฤติที่มีความท้าทายแตกต่างกัน

      ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินของผู้ว่าการ ธปท.ต่างมีโจทย์เดียวกันคือ ทำให้ ธปท.ทำหน้าที่ธนาคารกลางดูแลเศรษฐกิจได้เต็มความสามารถและดีที่สุด ผ่านการออกมาตรการเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤติที่ผ่านมา
 

     ทั้งนี้ หากมองรอบๆ ตัวเรา บางอย่างที่มีมาเป็นเวลานาน ทุกวันนี้เราก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นสิ่งเดิม ขณะที่บางอย่าง แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงลักษณะไปมาก แต่ก็ยังมี “แก่น” ที่คอยร้อยเรียงตัวตนในเวลาต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ยังรักษาความเป็นตัวตนเดิมอยู่ได้

     ธปท. ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่สามารถคง “ตัวตน” มาได้อย่างยาวนาน ในเดือนธันวาคม นี้ จะครบรอบ 80 ปีที่ ธปท. ดำเนินงานมา ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ หลายอย่างเปลี่ยนไปเยอะมาก จากที่เราเคยใช้สำนักงานเก่าของธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ ที่สี่พระยา ก็ย้ายมาอยู่ที่บางขุนพรหม หรือแม้แต่เมื่อเรามาอยู่ที่นี่แล้ว เราก็ย้ายจากอาคารเดิม มาเป็นบริเวณอาคารใหม่ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของกระทรวงสาธารณสุข เราเคยต้องสั่งพิมพ์ธนบัตรจากต่างประเทศก็เปลี่ยนมาพิมพ์เองที่โรงพิมพ์ธนบัตรที่เคยตั้งอยู่ตรงนี้ ซึ่งตอนนี้โรงพิมพ์ย้ายไปพุทธมณฑลสาย 7 แล้ว

     

นอกจากเรื่องอาคารสถานที่ ทิศทางขององค์กรก็ได้รับการปรับปรุงมาตลอด พ.ร.บ. ธปท. เองได้รับการแก้ไขมาทั้งหมด 7 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2561 ในด้านบุคลากร จากที่เราเคยมีพนักงาน 300 คนในช่วงเริ่มทำการก็เพิ่มมาอยู่ที่จุดสูงสุดที่ 5,300 คน ในช่วงปี 2540 จนในตอนนี้มาอยู่ที่ประมาณ 3,300 คน ผู้ว่าการเองเปลี่ยนไปแล้วทั้งหมด 21 ท่าน

       ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 80 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นท่านผู้ว่าการ อดีตผู้บริหาร หรืออดีตพนักงานทุกท่าน ที่ได้มีส่วนร่วมในการส่งต่อ “เรือ” ลำนี้ จนมาถึงพวกเราที่ทำงานกันอยู่ในปัจจุบัน

      รวมทั้งสิ้นกว่า 9,100 ชีวิต ก็ได้ช่วยกันดูแล ซ่อมแซม พัฒนา และปรับปรุงเรือสำเภาของเรา ให้พร้อมรับมือกับสภาพท้องทะเลที่อาจจะแปรปรวนอยู่เรื่อยมา แม้ว่าหลายอย่างจะเปลี่ยนไป แต่เรือของเรายังคง “แก่น” ของความเป็นเรือ ธปท. ลำเดิมอยู่

     ซึ่งถ้าจะนับวาระของท่านผู้ว่าการทุกท่าน รวมกันทั้ง 6 ท่าน จะถือเป็นช่วงเวลากว่า 25 ปีที่ ธปท. ได้ผ่านวิกฤติต่างๆ มากมาย แต่ละท่านแม้เจอความท้าทายที่ต่างกันไป แต่มีโจทย์สำคัญเดียวกันคือ การทำให้ ธปท. สามารถทำหน้าที่ธนาคารกลางในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเต็มความสามารถและดีที่สุด 

      ไม่ว่าจะเป็นด้วยการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤติการเงิน การวางโครงสร้างพื้นฐานให้ภาคการเงินไทย หรือการพัฒนาองค์กรให้ ธปท. ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

     วันนี้ พวกเราชาว ธปท. ยังต้องเผชิญความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการเงินของประเทศอยู่เช่นเดียวกัน  

     แน่นอนว่าความท้าทายที่เราเจอในวันนี้ จะมีรูปแบบต่างไปจากเดิม แรงขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเทคโนโลยี กระแสความยั่งยืน หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ต้องเปลี่ยนไป ผู้เล่นในตลาด รวมถึงผู้กำกับดูแลก็จำเป็นต้องปรับตัวไปด้วยกัน

       ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการปรับตัวของ ธปท. คือ การที่เราผลักดันให้เกิดภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย (Financial Landscape) ที่ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีโอกาสมาพูดคุยกันถึงภาพของภาคการเงินไทยในอนาคต ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่

       แม้ว่า “รูปแบบ” ของความท้าทายจะทำให้ดูเหมือนว่าโลกของเราเปลี่ยนไปเยอะมาก แต่ถ้าเรามองไปลึก ๆ แล้ว หลายอย่างก็ยังคงเหมือนเดิม จากที่เคยเกิดฟองสบู่ทิวลิป ตอนนี้ก็อาจจะเป็นฟองสบู่คริปโทฯ เราเห็นประวัติศาสตร์ที่คอยซ้ำรอยเดิมอยู่เสมอ ทั้งหมดนี้ เพราะลึกๆ แล้ว มนุษย์ยังมีธรรมชาติเหมือนเดิม มีความต้องการอิสระ ความโลภ ความอยากรู้ อยากเห็น มนุษย์ทุกวันนี้ไม่ได้ต่างไปจากมนุษย์เมื่อร้อยปีหรือพันปีที่แล้ว

      ธปท. ก็เช่นกัน แม้ว่ารูปแบบของความท้าทายจะเปลี่ยนไป แต่ “แก่น” ของการเป็นธนาคารกลางที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ที่มีมนุษย์ปุถุชนเป็นผู้เล่นยังคงเหมือนเดิม

      ดังนั้น ของที่คนรุ่นก่อนๆ ทำมา ใช่ว่าเราจะทิ้งขว้างไป ประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอยอยู่เรื่อยๆ ถ้าเราสังเกตเห็นความเชื่อมโยง ก็สามารถเอาองค์ความรู้ที่คนรุ่นก่อนๆ ทำไว้มาปรับใช้ได้เสมอ 

     ทั้งนี้เชื่อว่า ประสบการณ์ องค์ความรู้ ที่องค์กรของเราสั่งสมมายาวนาน จะเป็นส่วนช่วยให้ ธปท. สามารถปรับตัวภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

      โดยที่การปรับหรือการเปลี่ยนแปลงนี้ทำไปเพื่อให้เรายังคงรักษา “แก่น” ของเรา ซึ่งคือ การทำตามพันธกิจให้ได้นั่นเอง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราทุกคนจะช่วยกันดูแลรักษา ปรับปรุง สั่งสม องค์ความรู้ ทำให้เรือ ธปท. ที่พวกเราทุกคนได้รับมอบต่อมานี้ นำพาระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศผ่านพ้นความท้าทายต่าง ๆ ที่เรากำลังเจอ เพื่อสร้างรากฐานระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศให้เข้มแข็ง และส่งมอบเรือลำนี้ต่อให้กับรุ่นต่อๆ ไป

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์