“วิรไท” แนะ ธปท.เร่งกำกับเสถียรภาพระบบการเงิน

“วิรไท” แนะ ธปท.เร่งกำกับเสถียรภาพระบบการเงิน

“วิรไท” ย้ำคุณค่าหลักของ ธปท.คือ ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน แต่ต้องปรับให้เท่าทันบริบทในปัจจุบัน แนะเร่งกำกับเสถียรภาพระบบการเงินที่นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าว ระหว่างการเสวนาหัวข้อเหลียวหลังแลหน้ากับผู้ว่าการธปท.ซึ่งจัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย วันนี้ (เม.ย.65)โดยกล่าวว่า หลักที่เป็นคุณค่าหลักของธปท.คือ ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และ ติดดิน ยังเป็นหลักที่สำคัญมาก แต่บริบทการตีความอาจจะต้องปรับให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาะแวดล้อมและความท้าทายที่เราเผชิญ

เขายกตัวอย่าง เช่นคำว่า ยืนตรง ซึ่งคงไม่ได้ความว่า ซื่อสัตย์ ไม่โกง เพียงอย่างเดียว แต่ที่สำคัญ คือ ต้องกล้าทำสิ่งที่ควรจะทำ โดยเฉพาะบทบาทของผู้กำกับดูแล จะต้องเข้าไปเปลี่ยนแปลงความบิดเบือนหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะในสภาวะที่เกิดวิกฤติ แม้บางเรื่องไม่ได้อยู่ภายใต้ขอบเขต ธปท.โดยตรง แต่ถ้าเราไม่กล้าทำ จะขว้างงูไม่พ้นคอ ทำให้ผลเสียที่เกิดขึ้นมากกว่ามาก

ส่วนเรื่องของมองไกลนั้น จะต้องมองกว้างด้วย เพราะระบบเศรษฐกิจที่เราเผชิญมีความเชื่อมโยงกันสูงหลายองค์ประกอบหลายปัจจัย ฉะนั้น ต้องมองไกลไปถึงทางออกด้วย

ในเรื่องของการยื่นมือ และ ติดดินนั้น ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะไม่ว่า จะมีกรอบกฎหมายต่างๆ แต่ที่สุดแล้วเราต้องชนะใจประชาชน และธปท.ต้องมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งประชาชนจะต้องเห็นประโยชน์ เห็นผลงานที่เราทำ

“เราต้องกล้าเปิดใจรับกรอบความคิดที่ต่างไปจากเดิม จากผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลายมากขึ้น และ ติดดิน ก็คือ จะต้องเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม หลายปัญหาที่เราเผชิญอยู่เป็นปัญหาใหญ่ๆ ทั้งนั้น ถ้าเราไม่ทำ เช่น เรื่องหนี้ครัวเรือน ปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจไทย ถ้าไม่ทำจะกลับมาเป็นปัญหาเสถียรภาพที่หนีไม่พ้น”

เขายังกล่าวถึงความเป็นอิสระของ ธปท.ด้วยว่า เรื่องดังกล่าวบางคนคิดว่า ความเป็นอิสระของธปท.คือ ธปท.จะทำอะไรก็ได้ ไม่จริงเลย ซึ่งโครงสร้าง ธปท.นั้น ก็มีคณะกรรมการ มีประธาน และ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยกรรมการสรรหา ซึ่งกรรมการสรรหาทาง รมว.คลัง เป็นคนแต่งตั้ง ฉะนั้น จะเห็นว่า มีกลไกการคานอำนาจกันและกัน

“ต้องเรียนตามความเป็นจริงว่า ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ว่าธปท.ก็มีสิทธิเสนอชื่อเป็นกรรมการ ธปท.และปลัดกระทรวงการคลังก็สามารถที่จะเสนอชื่อได้เช่นเดียวกัน ถ้าเสนอชื่อไม่ตรงกัน คนที่ผู้ว่า ธปท.เสนอมักจะไม่ได้รับเลือก ก็จะเป็นฝั่งทางคลังเสนอชื่อเป็นส่วนใหญ่ จะเห็นว่า มีกลไกการคานอำนาจซึ่งกันและกัน”

เขากล่าวด้วยว่า โครงสร้างกฎหมายปัจจุบันค่อนข้างจะดี อาจจะมีจุดที่จะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้กฎหมายเอื้อมากขึ้น คือ การดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในส่วนที่นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ ไม่ว่าจะโยงกับตลาดทุน สหกรณ์ออมทรัพย์ก็ดี ในวันนี้ กฎหมายกำกับดูแลยังแยกกัน เวลาเกิดปัญหาในภาพรวมระบบการเงินมันเชื่อมโยงกันหมด

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์