นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ เศรษฐกิจโลกเสี่ยง ‘ถดถอย’ เพิ่ม

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ เศรษฐกิจโลกเสี่ยง ‘ถดถอย’ เพิ่ม

'นักเศรษฐศาสตร์" ชี้ เศรษฐกิจโลก เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น ด้าน "เคเคพี" เชื่อ ยังไม่เกิดในปีนี้ “ทีทีบี” หวั่นต้นทุนสูง ฉุดเศรษฐกิจโลกชะลอ "ซีไอเอ็มบีไทย" กังวล "เงินเฟ้อ" นำไปสู่วิกฤติ

       นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า  ความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คงไม่ได้เกิดขึ้นในระยะสั้น หรือในปีนี้ เพราะเศรษฐกิจถดถอย มักเกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เกิดการแตะเบรกเศรษฐกิจให้โตช้าลง เหล่านี้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจชะลอ

      ส่วนตลาดตราสารหนี้ (ตลาดบอนด์) เริ่มส่งสัญญาณว่า มีความเสี่ยงมากขึ้นเช่นกัน เพราะการเกิด inverted Yield Curve คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นหนึ่งเครื่องสะท้อนว่า เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 18 เดือนข้างหน้าสูงขึ้น อีกทั้งจุดเปลี่ยนที่จะนำไปสู่ภาวะถดถอยเร็วขึ้น หากการสู้รบระหว่างรัสเซียยูเครนร้อนแรงขึ้น ทำให้รัสเซียไม่ส่งออกน้ำมัน ส่งก๊าซธรรมชาติ เหล่านี้จะนำเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ หรือจีนมีการกลับมาระบาดของโควิดอีกรอบครั้งใหญ่ ก็นำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

'ทีทีบี" ห่วงต้นทุนพุ่ง

      นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ปัจจุบันสัญญาณความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมีอยู่แล้ว จากผลกระทบด้านราคา และซัพพลายดิสรัปชั่น ซัพพลายเชนที่มีปัญหา แต่โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย มองว่า สัญญาณตอนนี้ยังไม่มี

      แม้ปัจจุบันจะเกิด Inverted Yield Curve ที่มักเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดภาวะถดถอย แต่คงไม่ใช่สัญญาณไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่มาจาก Yield Curve ที่บิดเบี้ยว เพราะสภาพคล่องที่มีอยู่ในตลาดมีอยู่ค่อนข้างมาก ที่เมื่อเกิดภาวะ inverted Yield Curve อาจบ่งชี้โอกาสข้างหน้าที่จะไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

       “เมื่อก่อนไม่มีนโยบายอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ดังนั้น เมื่อเกิด inverted Yield Curve ก็อาจบ่งชี้ได้ว่า จะเกิดภาวะถดถอย แต่ปัจจุบัน มาจากสภาพคล่องที่อัดฉีดเข้าไปมาก และ Yleld curve ระยะยาวปรับลงมาก แต่ไม่ได้หมายความว่า สภาพคล่องที่จะไปลงทุน จะหายไป แต่สภาพคล่องที่หายไป จะมาจากการดึงเงินกลับหลังอัดฉีดเข้าไป”

     ส่วนปัจจัยที่น่ากังวล สำหรับเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยคือ ปัญหาของต้นทุนราคาที่แพง บวกกับซัพพลายดิสรัปชั่น สงครามระหว่างรัสเซียยูเครน

     ดังนั้น น่าห่วงว่าหากระยะข้างหน้า ราคาที่เพิ่มขึ้น กระจายไปสู่วงกว้าง อาจทำให้เกิดซัพพลายช็อก ของขาดตลาด คนแห่ตุนสินค้า ฉะนั้นอาจนำไปสู่ของไม่มีขายด้วย ดังนั้นเหล่านี้เป็นปัจจัยน่ากลัวสำคัญของเศรษฐกิจโลก
 

เชื่อศก.โลกไม่ถดถอย

     นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ยังเชื่อว่า โลกยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย

      แต่เป็นภาวะที่เติบโตช้า จากเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นแรง ทำให้ห่วงโซ่การผลิตต่างๆ เกิดการชะงักงันโดยเฉพาะ สหรัฐ ยุโรป ที่มองว่ายังโตอยู่ในระดับศักยภาพ ที่ยังไม่ใช่ภาวะถดถอย

     ทั้งนี้มองว่า ปีหน้าเศรษฐกิจหลายประเทศจะเข้าสู่การเติบโตเศรษฐกิจที่ยังเติบโต แต่ไม่ร้อนแรงเหมือนอดีต หรือเทียบกับ 2 ปีก่อนหน้า

     แต่ปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือ ภาวะวิกฤติที่จะนำไปสู่ผลกระทบเศรษฐกิจมากขึ้นมีอะไรบ้าง เงินเฟ้อ คือ ปัจจัยแรก ที่เดิมคาดว่าจะชะลอตัวในครึ่งปีหลัง หากสถานการณ์ลากยาว เหล่านี้จะเป็นแรงกดดันต่อการบริโภค การลงทุน และนำไปสู่สภาพเศรษฐกิจ “หัวทิ่ม” หรือชะลอหนักกว่านี้หรือไม่

 กังวล “เงินเฟ้อ” ดันเกิดวิกฤติ

    นอกจากนี้ ที่ห่วงคือ เงินเฟ้อจะนำไปสู่วิกฤติอื่นหรือไม่ ที่ทำให้ภาคนโยบายการเงิน การคลัง จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย หรือใช้เครื่องมือทางการคลัง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากปัจจัยอุปสงค์

   ซึ่งเหล่านี้ อาจทำให้ตลาดเกิดภาวะตกใจ ระมัดระวังการใช้จ่ายได้ หากสื่อสารไม่ดี เช่นเดียวกันต้นทุนทางการเงินที่จะสูงขึ้น เหล่านี้อาจนำไปสู่ สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอ จนเกิดภาวะถดถอยได้ เหมือนอดีตที่เคยเกิดมาแล้ว จากการเร่งขึ้นใช้นโยบายการเงินการคลัง ดังนั้น มองว่า ผู้ดำเนินนโยบายน่าจะระมัดระวังมากขึ้น

    ทั้งนี้ มองว่า ปัจจัยโลกวันนี้ ไม่เหมือนอดีต โดยอดีต สหรัฐ ยุโรป เป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก แต่วันนี้มี “จีน” ที่ถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจโลก ดังนั้น จีนเป็นอีกปัจจัยที่นำมาสู่ความเสี่ยงและโอกาสเช่นเดียวกัน ที่โลกจำเป็นต้องคำนึงถึงมากขึ้น

     อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ไข มองว่า วันนี้หลายประเทศกำลังเข้าสู่การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ที่มาจากน้ำมัน เพื่อรับมือไม่ให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อีกปัจจัยคือ การแก้ไขปัญหาจากโควิด-19 ผ่านวัคซีน ดังนั้นเศรษฐกิจโลกถือว่ายังมีทางออก แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกัน

     “เศรษฐกิจสหรัฐ เราคาดว่า จะโตได้ระดับ 3.1% และจีนมองไว้ 5-5.5% น้อยกว่าประมาณการก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจไทย อีกด้านที่เราจับตาใกล้ชิด คือ แม้จะมีปัญหาสงครามรัสเซียยูเครนต่างๆ แต่การส่งออกไทย ยังสามารถทำได้ดี ดังนั้นอาจต้องดูว่ามี โอกาสสำหรับเศรษฐกิจ แม้โลกจะอยู่ในภาวะชะลอตัวก็ตาม”

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์