การรถไฟฯ ชงบอร์ดวันนี้ แก้สัญญาร่วมลงทุนไฮสปีด

การรถไฟฯ ชงบอร์ดวันนี้ แก้สัญญาร่วมลงทุนไฮสปีด

ร.ฟ.ท.แจงบอร์ดวันนี้ (31 มี.ค.) แก้ไขร่างสัญญาร่วมลงทุนไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน เร่ง “ซีพี” ลงทุน 9.2 พันล้านบาท สร้างพื้นที่ทับซ้อนช่วงดอนเมือง – บางซื่อ ภายใต้เงื่อนไขรัฐจ่ายคืนเร็วขึ้นในเดือนที่ 21 พร้อมยืดอายุค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (31 มี.ค.) ร.ฟ.ท.จะรายงานที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เพื่อรับทราบความคืบหน้าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน เพื่อแก้ปัญหาการทับซ้อนของโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบินและโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน และการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การชำระค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรลลิงก์

โดยก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนคู่สัญญาบริหารไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน มีผลการเจรจาถึงแนวทางแก้ไขสัญญาที่ทั้งภาครัฐและเอกชนมีความเห็นตรงกัน แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ

1. การแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน และรถไฟไทย - จีน ช่วงดอนเมือง - บางซื่อ โดยเอกชนยอมรับข้อเสนอของภาครัฐในการลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธาช่วงดังกล่าวจำนวน 9,207 ล้านบาท ซึ่งเอกชนจะต้องเร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.2569 โดย ร.ฟ.ท.จะปรับเงื่อนไขการชำระคืนค่าก่อสร้างเร็วขึ้นเป็นเดือนที่ 21 จากเดิมมีการกำหนดเอกชนต้องก่อสร้างแล้วเสร็จรัฐจึงจะจ่ายค่าก่อสร้าง

อีกทั้งในส่วนของระยะเวลาการชำระจากเดิมภาครัฐต้องทยอยชำระค่าก่อสร้าง 10 ปี จะปรับเป็นเสนอแบ่งชำระ 7 ปีๆ ละเท่ากัน โดยแนวทางนี้เอกชนคู่สัญญาจะต้องยอมลดผลตอบแทนจาก 5.52% เหลือ 5.24% ซึ่งรัฐจะชำระเงินร่วมลงทุน 133,475 ล้านบาท และแนวทางนี้รัฐจะประหยัดงบประมาณได้ 25,362 ล้านบาท จากการประหยัดเงินที่รัฐร่วมลงทุน 16,155 ล้านบาท และไม่ต้องชำระค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น 9,207 ล้านบาท โดยรัฐจะมีภาระในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีสูงสุด 19,071 ล้านบาท ระยะเวลารวม 7 ปี

และ 2.การยืดชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท เป็น 7 ปี โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% และงวดที่ 7 เอกชนจะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย โดยหากโควิด-19 ยุติก่อนระยะเวลา 7 ปี ยึดประกาศจากรัฐบาลจะมีการประเมินจำนวนผู้โดยสารในช่วง 1 ปีหลังจากนั้น แล้วจะพิจารณาการชำระเงินส่วนที่เหลือ

อย่างไรก็ดี ร.ฟ.ท.ประเมินว่าจะสามารถจัดการพื้นที่ต่างๆ แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อเตรียมส่งมอบพื้นที่ ออกใบอนุญาตให้เอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้าง (NTP : Notice to Proceed) ภายในเดือน พ.ค. 2565 โดย ร.ฟ.ท.ยืนยันว่าจะไม่ติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าแน่นอน ขณะที่กรณีการเวนคืนหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เหลือนั้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ซึ่งได้ออก พ.ร.บ.เวนคืน และอยู่ในกระบวนการครอบครองที่ดินแล้ว

รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุด้วยว่า ภายหลังรายงานความคืบหน้าแนวทางแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.แล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องนำเสนอแนวทางดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ หากที่ประชุม กพอ.ไม่มีข้อเสนอแนะ หรือความเห็นเพิ่มเติม จึงจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่