พาณิชย์ไม่ปิดประตูเอกชนขอปรับราคาปุ๋ย แต่ต้องเป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง

พาณิชย์ไม่ปิดประตูเอกชนขอปรับราคาปุ๋ย แต่ต้องเป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง

กรมการค้าภายในถกผู้ค้าปุ๋ย ยันไม่ขาดแคน รับปุ๋ยแพงจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน เล็งหาแหล่งนำเข้าใหม่ทดแทน พร้อมพิจารณาขอปรับราคปุ๋ย แต่ต้องเป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง ด้านผู้ค้าปุ๋ย

นายวัฒนศักดิ์​ เสือเอี่ยม​ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับ 3 สมาคมปุ๋ย ได้แก่สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เพื่อหารือถึงทิศทางสถานการณ์ราคาปุ๋ย และการเตรียมความพร้อมการเพาะปลูกพืชเกษตรในเดือนพ.ค.ที่จะถึงนี้ ว่า ภาคเอกชนที่เข้าร่วมหารือให้การยืนยันว่า ปุ๋ยยังคงมีเพียงพอต่อการเกษตร โดยในครึ่งปีแรกปุ๋ยจะมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการแน่นอนถึง แม้ว่าขณะ ผู้ประกอบการจะเจอเรื่องปัญหาต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับราคาขึ้นจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งความต้องการใช้ปุ๋ยภายในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยยูเรียเป็นหลัก และการนำเข้าปุ๋ยในขณะนี้ก็มีการนำเข้ามาเป็นระยะอาจจะมีการสะดุดบ้าง ปริมาณสต๊อกลดลงบ้าง แต่เชื่อว่าปริมาณปุ๋ยเพียงพอต่อความต้องการในช่วง 3 เดือนจากนี้อย่างแน่นอน

ขณะนี้ ภาคเอกชนได้เตรียมการนำเข้า ปุ๋ย แม่ปุ๋ย สูตรสำคัญ เช่น ยูเรีย ปุ๋ย โปรแตสเซี่ยม ปุ๋ยฟอสเฟต จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอินเดียที่มีการเปิดประมูลซื้อ-ขายปุ๋ยในปลายเดือนมี.ค. 2565 นี้ โดยเชื่อว่าจะมีปริมาณปุ๋ยนำเข้าเพิ่มขึ้น และลดแรงกดดันจากปริมาณปุ๋ยในตลาดโลกที่ลดลง เนื่องจากหลายประเทศมีความต้องการนำเข้าปุ๋ยมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงภายในประเทศจากปัญหาสงคราม

นอกจากนี้ จากการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบีย ยังเป็นการเพิ่มช่องทางการนำเข้าปุ๋ยจากซาอุดิอาระเบียด้วย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ โดยจะเป็นการเพิ่มช่องทางการนำเข้าปุ๋ยของภาคเอกชนเพิ่มเติม รวมไปถึงอาจจะมีการนำเข้าจาก สปป.ลาว ด้วย โดยเฉพาะปุ๋ยโปรแตสเซียม ซึ่งนำเข้ามาจากจีน

สำหรับการปรับขึ้นราคาปุ๋ยเคมีตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น กรมฯ ได้ขอให้ผู้ประกอบการส่งต้นทุนมาให้กรมฯ แล้ว โดยจะพิจารณาตามต้นทุนที่แท้จริง มีหลักเกณฑ์ให้ปรับขึ้นราคาตามต้นทุน ไม่ใช่ให้ปรับขึ้นเท่ากันหมด เพราะผู้ประกอบการแต่ละราย ปุ๋ยแต่ละชนิด มีต้นทุนไม่เท่ากัน ที่สำคัญ การปรับขึ้นราคา จะต้องไม่เป็นภาระกับเกษตรกรมากจนเกินไป ขณะที่ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ และประกอบธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งทุกอย่างจะต้องสมเหตสมผล เพราะหากไม่ให้ปรับขึ้นราคา ก็จะมีปัญหาเรื่องสินค้าขาดแคลน จะเป็นปัญหาใหญ่ตามมาอีก

กรมฯ ยังได้ขอความร่วมมือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการเร่งนำเข้าปุ๋ยสูตรต่างๆพร้อมทั้งพิจารณาราคาให้เหมาะสมไม่เป็นภาระกับเกษตรกรมากเกินไป พร้อมกันนี้ยัง ขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายให้มีการติดตามและป้องกันการกักตุน การช่วยโอกาส ซึ่งหากพบเห็นจะดำเนินการทางคดีทันที พร้อมทั้ง3 สมาคม ยังชี้แจงว่าหากเห็นว่ามีรายใดมีการฉวยโอกาสหรือกระตุนสินค้าจะตัดไม่ให้เป็นผู้ประกอบการจำหน่ายปุ๋ยในทันที เพื่อป้องกันปัญหาและการขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ยังให้พาณิชย์จังหวัดได้ติดตามสถานการณ์ราคาปุ๋ยอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

นายเทพวิทย์​ เตียวสุรัตน์กุล​ อุปนายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย​  กล่าวว่า ภาคเอกชนได้มีการเตรียมความพร้อมในการสั่งซื้อวัตถุดิบปุ๋ย ปุ๋ยสำเร็จรูปเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยการสั่งซื้อจะดำเนินการล่วงหน้า 45 วัน ดังนั้น ให้ความมั่นใจว่าครึ่งปีแรกปริมาณปุ๋ยมีเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน ส่วนในครึ่งปีหลังเอกชนก็ยังจะทยอยนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันโดยไม่มีปัญหาเรื่องของการขาดแคลนปุ๋ยแน่นอน เพราะการสั่งซื้อจะดำเนินการล่วงหน้าสองเดือนและเอกชนก็มีการเร่งนำเข้ามาอยู่แล้ว ทั้งนี้การที่กรมการค้าภายในอนุญาตให้ปรับราคาตามต้นทุนทำให้เอกชนมีความมั่นใจในการนำเข้ามากขึ้นและเชื่อว่าปุ๋ยจะไม่ขาดตลาด

ส่วนราคาปุ๋ยนำเข้าในขณะนี้ เช่น ปุ๋ยยูเรีย ราคาสั่งซื้อล่วงหน้า หรือ FOB อยู่ที่ 960 – 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน ปุ๋ยสูตร 18-46-0 ราคา FOB อยู่ที่ 1,100-1,200 ดอลลาร์ต่อตัน และปุ๋ยสูตร 0-0-60 ราคา FOB อยู่ที่ 950-1,000 ดอลลาร์ต่อตัน ทั้งนี้ประเมินว่าในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก4 เดือน​ตั้งแต่พ.ค.-ส.ค. ความต้องการใช้ปุ๋ยจะอยู่ที่ ​2.5 ล้านตันจากปริมาณการนำเข้าปีละ​5 ล้านตัน