ใหญ่แค่ไหนก็ต้องปรับ! ส่องสูตรรอด “กลุ่มลุฟท์ฮันซ่า” ยักษ์แอร์ไลน์ยุโรป

ใหญ่แค่ไหนก็ต้องปรับ! ส่องสูตรรอด “กลุ่มลุฟท์ฮันซ่า” ยักษ์แอร์ไลน์ยุโรป

วิกฤติโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามอบ “บทเรียนราคาแพง” แก่ธุรกิจสายการบิน แม้แต่ยักษ์แอร์ไลน์แห่งยุโรป “กลุ่มลุฟท์ฮันซ่า” (Lufthansa Group) ยังต้องปรับตัวฝ่ามรสุมลูกใหญ่ เอาตัวให้รอดจากสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรงในรอบศตวรรษ กระทบการเดินทางทั่วโลกชะงักในพริบตา!

“กลุ่มลุฟท์ฮันซ่า” ใหญ่ขนาดไหน? ดูจากจำนวนสายการบินที่ให้บริการรวม 5 สายการบิน ได้แก่ ลุฟท์ฮันซ่า, ออสเตรียน แอร์ไลน์, สวิส อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์, บรัสเซลส์ แอร์ไลน์ และยูโรวิงส์ ปัจจุบันมีจำนวนฝูงบินให้บริการรวม 713 ลำ จากเดิมเมื่อสิ้นปี 2563 มีจำนวน 757 ลำ

มากกว่าจำนวนเครื่องบินของ “สายการบินสัญชาติไทย” ที่จดทะเบียนในประเทศกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนรวมกว่า 679 ลำ (*** ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เมื่อเดือน ก.พ.2565 ที่ผ่านมา)

นางสาวซาบรีนา วินเทอร์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายขาย ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกของกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่า เล่าถึงการปรับตัวด้าน “ต้นทุน” ครั้งใหญ่หลังเผชิญการระบาดของโควิด-19 ว่า กลุ่มลุฟท์ฮันซ่าตั้งเป้าหมายลดต้นทุนอย่างยั่งยืนให้ได้ 3,500 ล้านยูโร ในช่วง 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2562-2567

โดยปัจจุบันสามารถลดต้นทุนไปได้แล้ว 2,700 ล้านยูโร ได้แก่

1.ลดต้นทุนพนักงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน และนำแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่ามาใช้งาน สามารถประหยัดไปได้แล้วกว่า 1,800 ล้านยูโร

2.เพิ่มประสิทธิภาพด้านกระบวนการและการผลิตด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การปรับปรุงปฏิบัติการต่างๆ ในปัจจุบัน การทำงานของลูกเรือ การนำแนวคิดใหม่ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการด้านอาหาร และ Material Management สามารถประหยัดไปได้แล้วกว่า 1,000 ล้านยูโร

3.ลดค่าใช้จ่ายภายนอก เช่น การเจรจาสัญญาใหม่เพื่อให้ต้นทุนลดลง และขยายช่องทางการขายตั๋วทางตรง สามารถประหยัดไปได้แล้วกว่า 700 ล้านยูโร

“นอกจากนี้กลุ่มลุฟท์ฮันซ่ายังเร่งปรับโครงสร้างฝูงบินใหม่ ด้วยการลงทุนซื้อเครื่องบินใหม่ 73 ลำ เพื่อรองรับเส้นทางบินระยะไกล (Long Haul) และปลดระวางเครื่องบินลำเก่า ด้วยการพยายามเอาเครื่องบินแบบ 4 เครื่องยนต์ออกจากฝูงบิน เช่น โบอิ้ง 748 รวมถึงแอร์บัส A380” นางสาวซาบรีนากล่าว

สำหรับแอร์บัส A380 ถือเป็นเครื่องบินที่มีปริมาณที่นั่งโดยสารบนเครื่องมากกว่า 500 ที่นั่ง เคยเป็นที่ต้องการของสายการบินต่างๆ ทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพราะสามารถขนผู้โดยสารได้มากขึ้น โดยไม่ต้องยื่นเรื่องไปยังสนามบินต่างๆ เพื่อขอเพิ่มเที่ยวบิน ซึ่งสนามบินยอดนิยมระดับโลกต่างมีตารางการบิน (สลอต) ที่ค่อนข้างแน่นอยู่แล้ว แต่ด้วยการใช้เครื่องยนต์แบบ 4 เครื่องยนต์ ใช้เชื้อเพลิงค่อนข้างเปลือง จึงไม่ตอบโจทย์เรื่องการลดต้นทุนของสายการบินในระยะยาวนัก

นางสาวซาบรีนา เล่าเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากภารกิจลดต้นทุนแล้ว กลุ่มลุฟท์ฮันซ่าต้องนำ “Action Plan” ไปใช้ในการรองรับดีมานด์ของผู้โดยสาร ด้วยการยกระดับมาตรฐานบริการ เช่น อัปเกรดโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ปฏิบัติการบินและห้องรับรอง, การเพิ่มประสิทธิภาพของขั้นตอนบริการต่างๆ แก่ผู้โดยสารที่สนามบิน ผ่านการนำระบบดิจิทัลมาช่วยคัดกรองและตรวจเอกสารต่างๆ พร้อมเพิ่ม New Level แก่บริการระดับพรีเมียม

ด้านการให้บริการเที่ยวบิน สำหรับเส้นทางสู่ประเทศไทย สายการบินลุฟท์ฮันซ่าให้ได้บริการเที่ยวบินทุกวันในเส้นทาง กรุงเทพฯ-มิวนิก เมืองหลวงแห่งแคว้นบาวาเรีย ในตารางบินฤดูร้อนของปีนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.2565 โดยเป็นบริการที่มาแทนที่เที่ยวบินเส้นทาง กรุงเทพฯ-แฟรงต์เฟิร์ต ในช่วงฤดูหนาว ให้บริการด้วยเครื่องบินแอร์บัส A350-900 เครื่องบินทันสมัยที่สุดในโลก ซึ่งได้กำหนดมาตรฐานการประหยัดเชื้อเพลิงในระดับสูง และมอบความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร มีที่นั่งปรับเอนราบ 48 ที่นั่งในชั้นธุรกิจ, 21 ที่นั่งในชั้นประหยัดพิเศษ และ 224 ที่นั่งในชั้นประหยัด

เหตุผลที่เปลี่ยนมาใช้ฮับบินมิวนิกสำหรับเส้นทางไป-กลับ จากไทยมาเยอรมนี เป็นเพราะเรื่องของเครือข่ายการบิน สนามบินมิวนิกมีการเชื่อมต่อของผู้โดยสารที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับตลาดนักท่องเที่ยวไทย ส่วนฮับบินแฟรงค์เฟิร์ต ขึ้นอยู่กับเรื่องของดีมานด์ ถ้ามีความต้องการของผู้โดยสารมากขึ้นในอนาคตก็อาจพิจารณาเพิ่มฮับบินแฟรงค์เฟิร์ตอีกที

ใหญ่แค่ไหนก็ต้องปรับ! ส่องสูตรรอด “กลุ่มลุฟท์ฮันซ่า” ยักษ์แอร์ไลน์ยุโรป