ไทยส่งออกไก่ “ซาอุฯ” ตู้แรก “ซีพีเอฟ” ลุยขยายตลาดกุ้ง-ไข่

ไทยส่งออกไก่ “ซาอุฯ” ตู้แรก   “ซีพีเอฟ” ลุยขยายตลาดกุ้ง-ไข่

ไทยและซาอุดิอาระเบียได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ ซึ่งนำมาสู่การยกระดับความร่วมมือหลายด้าน เช่น การค้า การลงทุน แรงงาน ไก่คือสินค้าแรก ผ่านการรับรองแล้ว 11 โรงงาน โดยองค์การอาหารและยาของซาอุดิอาระเบีย (SFDA) ได้ออกประกาศผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2565

ความร่วมมือดังกล่าวนำมาสู่การส่งออกไก่แปรรูป “ตู้ปฐมฤกษ์” เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2565 โดยมี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาเป็นประธานที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ซีพีเอฟ (มีนบุรี 2) 

“ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ ของการส่งออกสินค้าไทยไปซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะไก่ที่เป็นสินค้าเป้าหมายที่มีความสำคัญหลังจากที่ไทยขาดโอกาสไปตลอด 18 ปีที่ผ่านมา”

 

ไทยส่งออกไก่ “ซาอุฯ” ตู้แรก   “ซีพีเอฟ” ลุยขยายตลาดกุ้ง-ไข่

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้โรงงานของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สามารถส่งออกไก่แปรรูปได้เป็นเที่ยวแรก ซึ่งที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียเป็นตลาดที่น่าสนใจมาก เนื่องจากมีการนำเข้าไก่ถึงปีละ 6.5 แสนตัน โดยนำเข้าจากบราซิลสัดส่วน 75% นำเข้าจากยูเครนและฝรั่งเศส 25% รวมทั้งจากนี้ไปไก่จากไทยจะเป็นตลาดสำคัญที่ซาอุดิอาระเบียได้ในอนาคต 

ทั้งนี้ ปี 2564 ไทยส่งออกไก่ไปทั่วโลก 9 แสนตัน นำเงินเข้าประเทศ 1 แสนล้านบาท และปี 2565 ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเป็น 9.8 แสนตัน โดยการส่งออกไก่ไปซาอุดิอาระเบียเป็นการเพิ่มมูลค่าการส่งออกและเพิ่มตัวเลขการส่งออกไก่ไทย และตั้งเป้าหมายปีแรกจะทำได้ถึง 6 หมื่นตัน ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์มีแผนงานสำคัญที่จะประสานซาอุดิอาระเบียนำคณะเดินทางไปพร้อมกับเอกชน เพื่อโรดโชว์สินค้าอื่นเพื่อผลักดันให้การส่งออกสูงขึ้น

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศรายงานว่า ประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีประชากรมากถึง 35.6 ล้านคน และมีสัดส่วนการนำเข้าอาหารสูงที่สุดในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Corporation Council) และปัจจุบันซาอุดิอาระเบียนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากทั่วโลกเฉลี่ยปีละ 6.5 แสนตัน โดย 70% เป็นการนำเข้าไก่สดทั้งตัวและ 30% เป็นการนำเข้าไก่ชำแหละและไก่แปรรูป ผู้บริโภคซาอุดิอาระเบียมีอัตราการบริโภคเนื้อไก่ 45 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือทั้งประเทศที่ 1.5 ล้านตันต่อปี

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า โรงงานซีพีเอฟได้รับการรับรองจากซาอุดิอาระเบีย 5 โรงงาน โดยการส่งออกไก่ล็อตแรกเป็นไก่แปรรูป 5 ตู้ ปริมาณ 100 ตัน ภายในเดือน มี.ค.นี้ ซีพีเอฟ จะส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ผ่านผู้นำเข้ารายใหญ่ของซาอุดิอาระเบีย 600 ตัน คิดเป็นมูลค่า 47 ล้านบาท 

รวมทั้งใน ปี 2565 ซีพีเอฟจะส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ได้ 300 ตู้ รวม 6,000 ตัน มูลค่าการส่งออก 473 ล้านบาท และคาดว่าอีก 5 ปี ข้างหน้า จะขยายการส่งออกไก่สดและไก่แปรรูปไปซาอุดิอาระเบียได้ 3,000 ตู้ รวม 60,000 ตัน ทำรายได้เข้าประเทศ 4,200 ล้านบาท

“ก่อนหน้า ปี 2547 ซีพีเอฟส่งออกไปซาอุดิอาระเบียอยู่แล้ว และที่มีการประกาศระงับการส่งออกนั้น ซีพีเอฟ เจรจากับคู่ค้าและส่งผ่านสหรัฐอาหรับเอมิเรต แทนเพื่อรักษาคู่ค้าเอาไว้ ปัจจุบันเมื่อซาอุดิอาระเบียเปิดตลาดให้อีกครั้ง จึงเหมือนซีพีเอฟได้ตลาดดับเบิ้ลขึ้น“

สำหรับตลาดซาอุดิอาระเบีย มีลักษณะคล้ายตลาดญี่ปุ่น คือ นำเข้าทั้งไก่แปรรูป ไก่สดและไก่ทั้งตัว แต่ซีพีเอฟเน้นที่ไก่แปรรูปเพราะไก่สดและไก่ทั้งตัวไม่สามารถแข่งขันกับบราซิลที่มีต้นทุนถูกกว่าได้ โดยจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ซาอุดิอาระเบียมีปัญหานำเข้าไก่จากยูเครน จึงเป็นอานิสงส์ที่ไก่ไทยจะเข้าไปทดแทนได้

นอกจากนี้ซีพีเอฟยังมีเป้าหมายจะส่งสินค้าอื่นในอนาคต เช่น กุ้ง ไข่ไก่ โดยไข่จะส่งออกจากตุรกี เพราะผู้บริโภคซาอุดิอาระเบียนิยมไข่ไก่เปลือกขาว

ทั้งนี้ ปี 2565 ถือว่าเป็นที่ผิดปกติ สถานการณ์ทุกด้านผลักดันให้ความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งออกสินค้าอาหาร โดยเฉพาะไก่เนื้อได้ตามเป้า 9.8 แสนตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกิน 10% แน่นอน ซึ่งในจำนวนนี้ ซีพีเอฟ มีสัดส่วน 25-26% หรือประมาณ 2 แสนตัน มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท และมีตลาดใหญ่ คือ อังกฤษ รองลงมาเป็นญี่ปุ่นและเยอรมัน

อย่างไรก็ตามการส่งออกต้องระวังเรื่องราคา เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ 20% ค่าระวางเรือที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในเดือน เม.ย.นี้ อีก 20% การระบาดของโควิด-19 ที่ยังต้องเฝ้าระวัง 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อนั้นถือว่าทุกธุรกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบเท่ากับหมด ซึ่งสินค้าแบรนด์ ซีพีเอฟ มีการปรับราคาขึ้นตามความเหมาะสมของแต่ละตลาด ประมาณ 10% ในขณะที่สินค้ารับจ้างผลิต หรือ OEM ต้องเจรจาเป็นแต่ละราย รวมถึงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผล เพราะซีพีเอฟทำธุรกิจทั้งการนำเข้าและส่งออกจึงสามารถสร้างการสมดุลได้ แต่ต้องระวังความผันผวนที่จะทำให้วางแผนการค้าได้ยาก

“ปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบสถานการณ์กับ สหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐและเอเชีย จะพบว่าต้นทุนการผลิตฝั่งเอเชียยังถูกกว่า จากค่าแรงที่ยังไม่ปรับเพิ่ม ขณะที่สหรัฐเพิ่มขึ้นกว่า100 % ดังนั้นปีนี้การส่งออกสินค้าจากเอเชียยังได้เปรียบ“

สำหรับผลกระทบจากสงครามนั้น ซีพีเอฟไม่มีการลงทุนในยูเครน จึงไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนการลงทุนในรัสเซียก็ผลิตและจำหน่ายในประเทศ โดยการที่ซีพีเอฟลงทุนในหลายประเทศทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงได้ดี 

รวมทั้งในปี 2565 คาดว่าจะทำรายได้ 5.2 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 8-10% ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนในต่างประเทศ ในจำนวนนี้ 50% ยังเป็นรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์ ส่วนอีก 30% มาจากธุรกิจฟาร์ม และ 20 % มาจากธุรกิจอาหาร เป้าหมายในระยะต่อไป จะเพิ่มสัตว์ส่วนในธุรกิจอาหารเป็น 30 % แต่คาดว่าจะใช้เวลาเกิน 5 ปีขึ้นไป เพราะเป็นธุรกิจที่สร้างยาก แต่ถ้าได้รับการยอมรับไปแล้วจะมีเสถียรภาพมาก

ส่วนการลงทุนปีนี้มีวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นการปรับเปลี่ยน ซ่อมบำรุงเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานต่างๆ ที่มีอยู่ โดยยังไม่มีแผนสร้างโรงงานใหม่ รวมทั้งการเข้าซื้อธุรกิจ