5 อันดับ บลจ. เงินกองทุน LTF ไหลออกสูงสุด

5 อันดับ บลจ. เงินกองทุน LTF ไหลออกสูงสุด

มอร์นิ่งสตาร์ เผยปีนี้กองทุน LTF มีเงินลงทุนในปี 59 ครบกำหนดไถ่ถอนเพิ่มเติม ทำให้ล่าสุดช่วงเกือบ3 เดือนมานี้ เงินไหลออกเร็วทะลุ 1 หมื่นล้าน บลจ.บัวหลวง ไหลออก นำโด่ง 5.1 พันล้าน ชี้ไม่กระทบภาพรวม เหตุนักลงทุนเอาไปหาผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ แนะทบทวนพอร์ต-ลงทุนอย่างมีวินัย

ในปี 2565 ถือว่าเป็นปีที่จะมีเงินลงทุนใน "กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ กองทุน  LTF" ครบกำหนดใหม่  โดยไม่ผิดเงื่อนไข   ซึ่งเป็นเงินลงทุนภายในปี 2559 หรือการถือครอง 7 ปีปฏิทิน  สามารถไถ่ถอนออกมาได้  
 

ล่าสุด  บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)  รายงานข้อมูล ณ 23 มี.ค. 2565 พบว่า  ในช่วงเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมานี้ มีเงินไหลออกสุทธิ 15,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลออกในเดือนม.ค. สูงถึงระดับ 8,000 ล้านบาท  ทำให้มูลค่าทรัพย์สิน ( AUM) ของกองทุน LTF ทั้งระบบอยู่ที่ 350,000 ล้านบาท ลดลง 4.1%จากสิ้นปีก่อน 

อีกทั้งยังพบว่า เงินไหลออกจากกองทุน LTF เร็วกว่า 3 ปีก่อนหน้า  โดยเมื่อนำไปเทียบกับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า ในช่วงต้นปีนี้แม้ว่าจะยังไม่ครบ 1 ไตรมาสแรก แต่มีเงินไหลออกค่อนข้างเร็ว หรือมากกว่าทั้งไตรมาสแรกของปี 2562-2564 ทั้งนี้ในปี 2563-2564 เป็นปีไม่มีเงินลงทุนที่ครบกำหนดรอบใหม่

แต่หากเทียบกับปี 2561 จะเห็นได้ว่าปีนี้มีเงินไหลออกในระดับใกล้เคียงกัน โดยมีเงินไหลออกในไตรมาสแรก 18,000 ล้านบาท 

5 อันดับ บลจ. เงินกองทุน LTF ไหลออกสูงสุด
 

5อันดับบลจ เงินไหลออก สอดคล้องกับส่วนแบ่งตลาด

หากพิจารณาเงินไหลออกจากกองทุน LTF รายบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)  ข้อมูลจาก “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ”พบว่า  5 อันดับบลจ.ที่มีเงินไหลออกมากที่สุด  ดังนี้ 


1.  บลจ.บัวหลวง มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุด  5,100 ล้านบาท  หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าเงินไหลออกในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ อันเนื่องมาจากการเป็นบลจ.ที่มีส่วนแบ่งตลาดกองทุน LTF สูงสุด โดยล่าสุดมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 96,000ล้านบาทหรือคิดเป็น 27% ของตลาดกองทุน LTF


2.บลจ.กสิกรไทย มีเงินไหลออกสุทธิ 2,400 ล้านบาท มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 74,000 ล้านบาท 


3.บลจ.ไทยพาณิชย์ มีเงินไหลออกสุทธิ 1,900 ล้านบาท มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 43,000 ล้านบาท 


4.บลจ.ยูโอบี มีเงินไหลออกสุทธิ 1,600 ล้านบาท มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 25,000 ล้านบาท 


5.บลจ.กรุงศรี มีเงินไหลออกสทุธิ 1,400 ล้านบาท มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 52,000 ล้านบาท 

สำหรับ บลจ.ที่มีเงินไหลออกสูงสุด 5 อันดับแรกคิดเป็นมูลค่าราว 13,000ล้านบาท หรือ 83% ของมูลค่าเงินไหลออกสุทธิในช่วงที่ผ่านมา

ผลตอบแทนของกองทุน LTF เฉลี่ย 0.6%

ทางด้านผลตอบแทนกองทุน LTF  ในช่วงเดือน ม.ค. 2565 ตลาดหุ้นไทยทรงตัวและปรับตัวลงในช่วงปลายเดือน ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นในเดือน ก.พ.  ปรับตัวลงแรง  จากนั้นช่วงต้นเดือนมี.ค.และฟื้นตัวขึ้นมาได้ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา  ทำให้ ณ 23 มี.ค. 2565 ผลตอบแทนรวมตลาดหุ้นไทย SET TR สะสมตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.1% ขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุน LTF อยู่ที่ 0.6% ในภาพระยะ 5 ปีผลตอบแทน SET TR อยู่ที่ 4.6% ต่อปี ในขณะที่กองทุน LTF เฉลี่ยที่ 2.4% ต่อปี

เงินไหลออกกลับไปลงทุนสร้างผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ 
“ชญานี จึงมานนท์”  นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย  คาดว่า ผลกระทบต่อตลาดหุ้นและอุตสาหกรรมกองทุนรวมจะมีไม่มากนัก โดยประเมินว่าเงินจะหมุนเวียนอยู่ในกองทุนลดหย่อนภาษี ทั้งกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม ( SSF) เนื่องจากภายใต้สถานการณ์ที่เงินเฟ้อสูงทำให้นักลงทุนต้องหาช่องทางการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ชนะเงินเฟ้อ

ดังนั้น ผู้ลงทุนที่มีส่วนของกองทุน LTF ที่ครบกำหนดในปีนี้ หากเกิดคำถามว่าจะขายกองทุนเลยดีหรือไม่

"ชญานี"  แนะนำว่า ผู้ลงทุนควรพิจารณาก่อนว่าต้องการนำเงินส่วนนั้นไปทำอะไร มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด หากยังไม่มีแผนใช้เงินส่วนนี้ การไถ่ถอนเงินลงทุนออกเพื่อออมเงินในบัญชีเงินฝากอาจไม่สร้างผลดีในระยะยาวเท่าใดนัก

ก่อนการซื้อ-ขายการลงทุนนั้น ผู้ลงทุนควรพิจารณาในภาพรวมก่อนว่าพอร์ตการลงทุนของตัวเองมีสัดส่วนเป็นอย่างไร ความเสี่ยงมากหรือน้อยกว่าที่รับได้หรือไม่ ทั้งในแง่ของประเภททรัพย์สินและการลงทุนใน-ต่างประเทศ ซึ่งการลงทุนอย่างมีวินัยและเป็นไปตามแผนนั้นจะเป็นส่วนช่วยผู้ลงทุนตัดสินใจในการลงทุนได้ง่ายขึ้น