"สุพัฒนพงษ์" หวั่นเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต หวัง "รัสเซีย-ยูเครน" คลี่คลายเร็ว

"สุพัฒนพงษ์" หวั่นเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต หวัง "รัสเซีย-ยูเครน" คลี่คลายเร็ว

“สุพัฒนพงษ์” จับตาสงครามรัสเซีย-ยูเครนใกล้ชิด ภาวนาอย่าให้เกิดวิกฤติซ้อนวิกฤต หวังรัสเซีย-ยูเครนคลี่คลายใน 3 เดือน หวั่นวิกฤตรุนแรงในรอบ 50 ปี ปตท.สำรองน้ำมันดิบเตรียมพร้อมหากต้องเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีความเป็นห่วงประชาชน ทั้งนี้ เป็นระยะเวลาเกือบปีตั้งแต่สมัยโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ที่มีความรุนแรงมาก รัฐบาลได้มีมาตรการออกช่วยเหลือประชาชนและยาวรวมถึงมาตรการต่างๆ จนถึงปัจจุบันกว่า 2 ปีแล้ว

ถือเป็น 2 ปีของวิกฤตโลกที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยไม่ใช่เป็นผู้ก่อ แต่เป็นเรื่องที่วิกฤตระดับโลกมีผลพวงที่ยาวนาน และกระทบกับประชาชน ผู้ประกอบการและเอกชนในประเทศไทย รัฐบาลร่วมมือ อีกทั้ง สายพันธุ์โอมิครอนก็ยังไม่หมดไป รัฐบาลได้ทำอย่างเต็มสุดความสามารถ อาทิ มาตรการเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่างๆด้วยความอดทนอดกลั้นเป็นอย่างดี

ดังนั้นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาลเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย จึงตัดสินใจเปิดประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และพบว่ามีการขยายตัวของเศรษฐกิจ 2% ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดีและเรื่องดีๆ แต่ในเวลาเดียวนั้น ช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบสัญญาณราคาพลังงานและสินค้าบางตัวที่สูงขึ้น รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงมีนโยบายตรึงราคาพลังงานต่างๆอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง จากสัญญาณของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รัฐบาลได้มอบหมายหน่วยงาน 3 หน่วยงานที่เป็นเศรษฐกิจมหาภาคของรัฐบาล ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาพัฒน์ฯ และเศรษฐกิจการคลัง ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่ามีความน่าเป็นห่วงจากเดิมที่คิดว่าสถานการณ์พลังงานที่สูงขึ้นนั้นเกิดจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลก มีความต้องการพลังงานและสินค้าบางประเภทสูงเร็วกว่าการผลิตที่จะตามทัน เพราะในช่วงของโควิด-19 ปริมาณการผลิตที่ลดลงแต่ปริมาณความต้องการต้องใช้เวลาในการเร่งการผลิต

“เราคาดว่าน่าปัญหาต่างๆ จะจบสิ้นเดือนมีนาคม 2565 และสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ปกติ ประเทศไทยคงจะฟื้นตัวและเดินหน้าต่อ จึงเน้นในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ทั้งมาตรการเรื่องวัคซีน การดูแลการป้องกันการระบาดได้ดำเนินการตามเป้าหมาย มีการสำรองวัคซีนป้องกันรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มีการทยอยออกมาให้ได้เห็นแต่ไม่เป็นอย่างที่ตั้งเป้าไว้เพราะปัญหาการเมืองต่างประเทศ” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ติดตามความขัดแย้งทางการเมือง เกิดการสนับสนุนเป็นขั้ว เกิดการกีดกันทางการค้า ดังนั้น เมื่อเป็นขั้วการค้าขายไม่เกิดการสมดุล บางขั้วเป็นผู้ผลิตพลังงาน ผลิตปุ๋ย ผลิตสินค้าบางประเภท เพื่อซัพพลายให้กับโลก เมื่อถูกตัดตอนตัดขาดไปสินค้าเหล่านั้นจะมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความกังวลในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อและอาจยืดเยื้อต่อไป

ดังนั้น จึงจะไม่อยากให้สรุปในทันที และอยากให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและคิดว่าภายในระยะเวลา 3 เดือนต่อจากนี้จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะถ้ายืดเยื้อมากและทำให้ความสมดุลของการค้าขายหรือทรัพยากรหรือสินค้าที่จะเชื่อมโยงกันอยู่อย่างสมดุลในอดีตไม่สมดุลจะทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นด้วย ถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ดังนั้นโจทก์จะยากขึ้น

“วันนี้ รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการระยะสั้นเพื่อดูเหตุการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่โดยรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศไทย ถือเป็นความมั่นคงที่จำเป็นในยามวิกฤต ที่ประเทศไทยต้องมีความเข้มแข็งในทางการเมือง” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศมาตรการ 10 มาตรการคร่าวๆ ดูแลกลุ่มเปราะบางต่างๆ ดูแล 5 กลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าหาบเร่แผงลอย กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ ผู้ใช้ไฟรายย่อยกลุ่ม ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นต้น เพื่อให้บริการกับประชาชนในอัตราที่ไม่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หากเทียบกับหลายประเทศ รัฐบาลไทยได้ช่วยเหลือเต็มที่ เพื่อคลายความเดือดร้อนประชาชน หากเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตแบบนี้เหมือน 50 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนราคาพลังงาน สินค้าสูงขึ้นระยะยาว จึงอยากให้ได้ข้อสรุปความขัดแย้งใน 3 เดือน ถ้ายาวกว่านี้จะเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตเพราะยังมีการระบาดของโอมิครอน ไทยจึงต้องฝึกฝน พยายามพึ่งพาตัวเอง พึ่งพาประเทศไทย ลดใช้สินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ราคาแพง พยายามหาสินค้าที่อยู่ในประเทศเพื่อนำมาใช้เสริม

"เชื่อว่าเมื่อมีวิกฤตคนไทยจะอยู่ได้เหมือนกับคนรุ่นก่อน 50 ปีที่แล้ว เราควรร่วมมือประหยัด รุ่นเราเจอโจทย์ยากกว่า เชื่อว่าไม่เหนือความร่วมมือ สิ่งง่ายๆ ที่อยากให้เห็นคือ 10 วิธีประหยัดให้ได้ 10% ทั้งไฟฟ้าหรือน้ำมัน เพราะมูลค่ารวมกันถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี ลดพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศ ตอนนี้ทุกประเทศทำหมด เพื่อให้ประชาชนได้ปรับตัว ปตท.ได้ห่วงใยประชาชนกลัวขาดแคลนพลังงาน ซื้อน้ำมันดิบสำรอง 4 ล้านบาร์เรล จากเป้าที่ตั้งไว้ 10 ล้านบาร์เรล ที่ต้องใช้อีกหลายหมื่นล้านบาท ป้องกันไว้หากเกิดกรณีที่วิกฤตเกิดขึ้นซ้อนวิกฤต ดูแลให้ประชาชนผ่านพ้นไปได้ด้วยดี" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว