"สุพัฒนพงษ์" กางแผนลดคาร์บอนฯ หนุนธุรกิจสีเขียว โอกาสเติบโตธุรกิจไทย

"สุพัฒนพงษ์" กางแผนลดคาร์บอนฯ หนุนธุรกิจสีเขียว โอกาสเติบโตธุรกิจไทย

“สุพัฒนพงษ์” ชี้โอกาสเศรษฐกิจเมื่อประเทศไทย ก้าวสู่ธุรกิจสีเขียว กางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2045 เร่งสร้างสมดุลพลังงานในประเทศลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอก ควบคู่การส่งเสริมการประหยัดพลังงาน คาดตลาดรถ EV คึกคักช่วงงานมอเตอร์โชว์ในช่วงกลางปีนี้ 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Kick off ธุรกิจสีเขียว" ภายในงานสัมมนา "Go Green 2022 ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว" จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ วันนี้ (17 มี.ค. 65) ว่าเรื่องการมุ่งสู่ธุรกิจสีเขียวที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นทั้งทางรอดของประเทศ

นอกจากนี้การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกถือว่าเป็นแนวทางสำคัญที่ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ และหันมาสร้างแนวทางการพึ่งพาพลังงานภายในประเทศ ควบคู่กับการประหยัดพลังงาน

โดยราคาพลังงานฟอสซิลตอนนี้ได้เตือนว่าราคาขึ้นสูงมาก จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากสองขั้วอำนาจขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรพลังงาน ทำให้เกิดการชะงักในการส่ง และจัดหาพลังงานซึ่งเป็นความเสี่ยงทำให้การบริหารพลังงานมีความยากมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็พยายามที่จะมีมาตรการที่จะออกมาช่วยแต่เราช่วยทั้งหมดทุกคนไม่ได้

ในส่วนของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการประกาศเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญของประเทศ และเป็นการประกาศเป้าหมายของประเทศไทย ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อปลายปีที่ผ่าน

ได้มีการประกาศอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายของประเทศไทย จะเข้าสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)ภายในปี ค.ศ.2050 หรือปี พ.ศ.2593 หรือว่า 30 ปีข้างหน้า

จากนั้นอีก 15 ปีหรือในปี ค.ศ.2045 ประเทศไทย จะเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์

ปัจจุบันประเทศไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ปีละ 350 ล้านตันต่อปี ถือว่าสูงในอันดับต้นๆของโลก ในปัจจุบันภาวการณ์เปลี่ยนแปลงภาวะอากาศที่รุนแรงทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้ให้สำเร็จเพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไป โดยภาคส่วนที่ต้องมีการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญคือ ภาคพลังงาน ภาคครัวเรือน และภาคขนส่ง ซึ่งภาครัฐได้มีการวางแผนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นขั้นตอน

โดยในส่วนของการใช้พลังงานภาคครัวเรือน และขนส่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมกันประมาณ 250 ล้านตันต่อปี การวางแผนลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสองส่วนรัฐบาลผลักดันการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยในแผนพัฒนาจะมีการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนต่างๆ สร้างสมดุลให้เกิดขึ้น ทั้งการผลิตจาก ลม ชีวมวล และแสงอาทิตย์

สำหรับในภาคการขนส่งภาคขนส่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 80 ล้านตันต่อปี ประเทศไทยตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ลงไปได้ไม่น้อยกว่า 50% จึงเป็นที่มาว่าประเทศไทย เริ่มการผลักดันนโยบายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(EV) และการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ขณะที่ผู้บริโภคมีความสนใจใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รัฐบาลมีการผลักดันนโยบายนี้ โดยตั้งเป้าการผลิตในประเทศประมาณ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศในปี ค.ศ.2030 หรือให้มีการการผลิต EV ในประเทศประมาณ 7 แสนคันต่อปีภายใน 8 - 9 ปีต่อจากนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทย และสามารถรักษาศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภาพรวมไว้ได้

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับรถ EV ตามแผนจะมีการติดตั้งสถานีชาร์จรถ EV ประมาณ 12,000 สถานี และมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ 8 - 16 กิกะวัตต์ชั่วโมงในประเทศไทย โดยนโยบาย EV ทำให้เกิดการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นในไทย ในอุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ในปีที่ผ่านมา จึงถือว่านโยบายเรื่องนี้ของไทยมาถูกทางแล้วทำให้ภาคเอกชนมีการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เพราะภาคเอกชนมองเห็นโอกาสที่จะเติบโตในอนาคต

“คาดว่าในงานมอเตอร์โชว์ ที่เกิดขึ้นจะมีการนำรถ EV รุ่นใหม่ๆ มาโชว์เป็นจำนวนมาก  โดยตลาด EV ที่จะเติบโตขึ้นตนได้มีการหารือกับการไฟฟ้าต่างๆ ที่ผู้ซื้อจะได้รับการอำนวยความสะดวกในการติดตั้งจุดชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน เพื่อให้การใช้งานมีความสะดวกสำหรับประชาชน” 

 

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์