กรมเจ้าท่าผนึกภาคเอกชน ดันเรือไฟฟ้าให้บริการ 5 เส้นทาง

กรมเจ้าท่าผนึกภาคเอกชน ดันเรือไฟฟ้าให้บริการ 5 เส้นทาง

“กรมเจ้าท่า” ร่วมมือเอกชน พัฒนาเส้นทางเรือโดยสารไฟฟ้า ปี 65 เปิด 5 เส้นทาง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ตามแผนพัฒนาเส้นทางเดินเรือสีเขียว ส่งเสริมนโยบายรัฐหนุนระบบขนส่งไฟฟ้าเต็มรูปแบบ

นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าเตรียมแผนการยกระดับความปลอดภัยเชิงรุก(ทางน้ำ) ด้านมาตรฐานเรือลดการก่อมลพิษลงลำน้ำหรือ (สปว.วล.) โดยสำนักงานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำได้ร่วมกับภาคเอกชนในการเปิดเส้นทางให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้า เป็นการส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าเพื่อมาใช้ในระบบขนส่งทางน้ำ เพื่อเป็นไปตามแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ตามแผนปี 2565 โดยจะเปิด 5 เส้นทาง ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด เพื่อรองรับการเดินทางน้ำในยุคใหม่แบบไร้มลพิษ เพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำหรับความคืบหน้าในการเปิดเส้นทางเดินเรือโดยสารไฟฟ้า กรมเจ้าท่าได้ร่วมกับภาคเอกชนเปิด 5 เส้นทาง ประกอบด้วย

1. เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา กรมเจ้าท่าร่วมกับบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) พัฒนาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาโดยใช้เรือขนาดความยาว 23.97 เมตร รองรับคนโดยสารได้จำนวน 250 คน ใช้แบตเตอรี่ขนาด 768 Kw.hr สามารถทำความเร็วได้ 16 นอต (29.6 กม./ชม.) ซึ่งการใช้พลังงานไฟฟ้าสามารถทดแทนการใช้น้ำมันได้จำนวน 262,800 ลิตร/ปี

2. เส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม กรมเจ้าท่าร่วมกับ กทม. พัฒนาเรือพลังงานไฟฟ้า เพื่อใช้ในการเดินเรือในเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม โดยตลอดเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษมมีระยะทาง 5 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 4 เขต ได้แก่ เขตพระนคร เขตดุสิต เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตปทุมวัน ใช้เวลาเดินทางตลอดสายเพียง 20 นาที โดยต่อเรือไฟฟ้าจำนวน 7 ลำ และนำของเดิมมาดัดแปลงอีก 1 ลำ รวมเป็น 8 ลำ ขนาดความยาว 9.90 เมตร รองรับคนโดยสารได้ 30 คน ใช้แบตเตอรี่ขนาด 42 Kw.hr.สามารถทำความเร็วได้ 7 นอต (12.96 กม./ชม.) ซึ่งการใช้พลังงานไฟฟ้าสามารถทดแทนการใช้น้ำมันได้จำนวน 40,420.20 ลิตร/ปี

3. เส้นทางคลองแสนแสบ บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด เส้นทางส่วนต่อขยายของ กทม.(วัดศรีบุญเรือง-มีนบุรี) ระยะทาง 11.5 กม. มีเรือไฟฟ้า จำนวน 12 ลำ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า นำมาให้บริการประชาชนฟรี ในเส้นทางคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย รองรับคนโดยสารได้ 40 คน โดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ร่วมกับโซลาร์เซลล์

4. เส้นทางคลองดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี กรมเจ้าท่าได้พัฒนาเรือพลังงานไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเส้นทางคลองดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งมีเรือจำนวน 2 ลำ ติดตั้งระบบมอเตอร์ไฟฟ้าทดแทนเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันสำหรับเรือเพลาใบจักรยาว(หางยาว) ปัจจุบันให้บริการเดินเรือท่องเที่ยวคลองดำเนินสะดวกเรียบร้อยแล้ว พร้อมนี้ได้ร่วมกับบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด พัฒนาเรือเพลาใบจักรยาววัสดุตัวเรือทำจากอะลูมิเนียมอัลลอยด์ ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า จำนวน 1 ลำ ซึ่งได้ต่อเรือและส่งมอบให้กรมเจ้าท่าเพื่อใช้เป็นต้นแบบของเรือในคลองดำเนินสะดวก

 5. เส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวทางทะเล กรมเจ้าท่า ร่วมกับ บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด พัฒนาเรือพลังงานไฟฟ้า Banpu NEXT e-Ferry “เรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเล” จำนวน 1 ลำ ปัจจุบันเรือได้ย้ายจากอ่าวพังงา มาให้บริการใน จ.นครศรีธรรมราช (ท่าเรือสิชลซีฟู้ด) ออกให้บริการล่องเรือรับประทานอาหาร วันละ 1 เที่ยว ระหว่างท่าเรือสิชล-เขาพลายดำ ช่วงเวลา 14.00-17.00 น ตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.2563 โดยมีผู้ใช้บริการประมาณ 40-50 คน/วัน (หยุดการให้บริการชั่วคราวเนื่องจากโควิด-19)

อย่างไรก็ตาม โครงการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้านับเป็นโครงการที่มีส่วนสำคัญเป็นความร่วมมือระหว่างกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และภาคเอกชน ในการดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรรมพลังงานไฟฟ้ามาใช้เพิ่มขึ้น เพื่อสอดรับกับแผนพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการจราจรทางบก ช่วยลดมลพิษเพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอีกเส้นทางหนึ่ง เชื่อมโยงเส้นทางการเดินทางของประชาชนด้วยยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ทั้ง ทางรถ ราง เรือ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม