เงินบาท’ วันนี้เปิด’อ่อนค่า’ที่33.66บาทต่อดอลลาร์

เงินบาท’ วันนี้เปิด’อ่อนค่า’ที่33.66บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทยังผันผวน กลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง หลังการเจรจารัสเซียกับยูเครนไม่คืบหน้า ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยอาจขาดดุลมากมากขึ้นและนานกว่าเดิม จับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ 33.55-33.75 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(24 มี.ค.) ที่ระดับ  33.66 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.60 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ33.55-33.75 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงผันผวนในกรอบกว้าง โดยระหว่างวันมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่า ไปทดสอบแนวต้านในโซน 33.75 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง 

ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด และราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจขาดดุลมากขึ้นและอาจขาดดุลนานกว่าคาด หากราคาสินค้าพลังงานอยู่ในระดับสูงนานขณะที่การท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก

ทั้งนี้ เรามองว่า ยังคงต้องติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่ล่าสุด นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาทยอยกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทย ขณะเดียวกัน เราเริ่มเห็น แรงขายบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งต้องติดตามว่านักลงทุนต่างชาติ จะเดินหน้าเทขายต่อ หรือ จะกลับมาซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้นอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่

ทั้งนี้ ในระยะสั้น เงินบาทยังคงมีแนวต้านของเงินบาทจะอยู่ใกล้โซน 33.75 บาทต่อดอลลาร์  ซึ่งเรายังคงเห็นบรรดาผู้ส่งออกต่างมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ขณะที่แนวรับจะอยู่ในช่วง 33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งใกล้กับแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 100 วันและ 200 วัน 

ตลาดการเงินพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง หลังสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนมีแนวโน้มยืดเยื้อ เนื่องจากการเจรจาสันติภาพยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่าบรรดาประเทศฝั่งตะวันตกอาจใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพิ่มเติม โดยเฉพาะการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย ทำให้ราคาสินค้าพลังงานยังคงปรับตัวสูงขึ้นนอกจากนี้ ราคาสินค้าพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบยังได้แรงหนุนเพิ่มเติม หลังบริษัท CPC ของคาซัคสถานอาจระงับการส่งออกน้ำมันจากผลกระทบของพายุ (คาซัคสถานส่งออกน้ำมันราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 1.2% ความต้องการใช้น้ำมันโลก) ขณะเดียวกัน EIA สหรัฐฯ ยังได้รายงานยอดน้ำมันดิบคงคลัง ลดลงกว่า 2.5 ล้านบาร์เรลมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่ายอดน้ำมันดิบคงคลังจะเพิ่มขึ้น 1 แสนบาร์เรล 

การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงานได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูง หรือ Stagflation อีกครั้ง ทำให้ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงที่รีบาวด์ขึ้นมาในช่วงก่อนหน้า กดดันให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -1.32% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.23% 

ส่วนในฝั่งยุโรป ความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงแนวโน้มการเกิด Stagflation ได้กดดันให้ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงราว -1.45% นำโดยแรงขายหุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงกลุ่มการเงิน Louis Vuitton -3.0%, BNP Paribas -2.6%% รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคฯ ASML -2.1% 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ การกลับมาปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดการเงิน ส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนเลือกที่จะถือบอนด์ระยะยาวเพื่อหลบความผันผวนในตลาด ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง สู่ระดับ 2.31% อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะมีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากตลาดยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนของสงครามกดดันอยู่ ทว่า เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ หากตลาดเริ่มรับรู้การปรับลดงบดุลของเฟด โดยเราประเมินว่า อาจเห็นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แตะจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้ที่ระดับ2.50%-2.60% ได้ในช่วงการประชุมเฟดเดือนพฤษภาคม ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะแกว่งตัว sideways ในช่วงที่เหลือของปีนี้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 98.60 จุด โดยผู้เล่นบางส่วนยังเลือกที่จะถือครองเงินดอลลาร์เพื่อหลบความผันผวนในตลาดจากทั้งความเสี่ยงสงครามและโอกาสเกิด Stagflation นอกจากนี้ ภาวะตลาดปิดรับความเสี่ยงก็หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์กลับขึ้นมาใกล้ระดับ 1,946 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ควรจับตาแรงขายทำกำไรทองคำ หากราคาทองคำยังไม่สามารถผ่านแนวต้านที่ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ อาจช่วยหนุนให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมากในช่วงนี้

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามสถานการณ์สงครามรวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึง บทสรุปของการประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐฯ,พันธมิตร NATO, กลุ่มประเทศยุโรป รวมถึง กลุ่มประเทศ G7 ว่าจะมีท่าทีต่อสถานการณ์สงครามอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย หลังเริ่มมีการพูดถึงมาตการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งหากบรรดาประเทศฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะยุโรปพร้อมใจกันคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย อาจส่งผลให้ราคาสินค้าพลังงานพุ่งสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่และกดดันให้ตลาดการเงินผันผวนรุนแรงจากความกังวลภาวะ Stagflation 

และนอกเหนือจากภาวะสงคราม ในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนมีนาคม โดยในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงเล็กน้อยจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนสะท้อนผ่านการขยายตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ชะลอลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) เดือนมีนาคมอาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 56.5 จุด (ดัชนีเกินระดับ 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) เช่นเดียวกันกับภาคการบริการที่จะขยายตัวในอัตราชะลอลง หลังค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) อาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 54 จุด 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผลกระทบจากสงครามอาจกดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปชะลอลง โดยในฝั่งภาคการผลิตจะเผชิญทั้งปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นและปัญหาด้าน Supply Chain ทำให้ภาคการผลิตขยายตัวในอัตราชะลอลง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตที่อาจลดลงสู่ระดับ 55 จุด ส่วนในฝั่งภาคการบริการมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงไม่มาก เพราะถึงจะเผชิญแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการบริการยังมีแรงหนุนจากสถานการณ์ระบาดโอมิครอนที่ดีขึ้นและไม่ได้รุนแรงมากนัก ทำให้ดัชนี PMI ภาคการบริการจะลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 54 จุด  

และในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนภาคการบริการ หลังรัฐบาลได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการ lockdown ซึ่งจะสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) จากระดับ 44.2 จุด ในเดือนก่อนหน้า ทว่าในฝั่งการผลิตอุตสาหกรรมอาจขยายตัวในอัตราชะลอจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กดดันให้ต้นทุนภาคการผลิตพุ่งสูงขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจลดลงสู่ระดับ 52 จุด ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของผลกระทบจากสงครามอาจกดดันให้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ยังจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ โดยตลาดมองว่า BSP จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.00% ทั้งนี้ BSP อาจส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีได้หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ 2%-4% (เงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3.00%)