"การบินไทย" เผย 3 แนวทาง แก้ไขหุ้นเข้าข่ายถูกเพิกถอนระยะที่ 2

"การบินไทย" เผย 3 แนวทาง แก้ไขหุ้นเข้าข่ายถูกเพิกถอนระยะที่ 2

"การบินไทย" เปิดเผยแนวทางแก้ไขหุ้นเข้าข่ายถูกเพิกถอนระยะที่ 2 เดินหน้าเพิ่มส่วนผู้ถือหุ้นให้มากกว่าศูนย์ - ปั้นกำไรจากการดำเนินงานปกติ พร้อมกำหนดระยะเวลาดำเนินการ

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโส รักษาการ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งให้บริษัท ทราบการประกาศให้อยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน กรณีมีการดำเนินงานหรือฐานะการเงินที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนระยะที่ 2 (NC ระยะที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2565 กรณีส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า บริษัท อยู่ระหว่างดำเนินการภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งบริษัท เชื่อว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งนี้ บริษัท มีแนวทางในการแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนและกำหนดระยะเวลาการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยสรุปดังนี้

1. การดำเนินการให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท มีค่ามากกว่าศูนย์

บริษัทมีแผนที่จะปรับโครงสร้างทุน และโครงสร้างหนี้เพื่อทำให้บริษัท สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน บริษัทคาดว่าจะมีการเพิ่มทุน รวมถึงมีการให้สิทธิการแปลงหนี้เป็นทุนแก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้น และลดภาระหนี้สิน

โดยอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการปรับโครงสร้างทุนที่รองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน และการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งบริษัทที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีทางเลือกในการได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

ในปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัท สามารถดำเนินการปฏิรูปธุรกิจภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการได้อย่างเป็นรูปธรรมส่วนใหญ่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้ การปรับโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างคำตอบแทนบุคลากร ตลอดจนการขายลงทุน และสินทรัพย์รองที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มกำไรอย่างมีนัยสำคัญให้กับบริษัทงบการเงินรวม

สำหรับปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ จำนวน 55,113 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ จำนวน 71,250 ล้านบาท ติดลบลดลงเปรียบเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบจำนวน 128,665 ล้านบาท

2.การดำเนินการให้บริษัท มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติ

ช่วงที่ผ่านมาบริษัท ได้ออกมาตรการ และดำเนินการตามเป้าหมายอย่างเข้มข้นเพื่อให้สามารถปฏิรูปธุรกิจโดยมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากธุรกิจการบิน รวมถึงผลักดันแหล่งรายได้เสริมอื่นๆ เช่น การเปิดภัตตาคารในบรรยากาศเสมือนให้บริการบนเครื่องบิน การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ "การบินไทย" จากชิ้นส่วนเครื่องบิน ตลอดจนการเปิดให้บริการเข้าเยี่ยมชม และทดลองการบินด้วยเครื่องฝึกบินจำลอง (Flight Simulator)

อีกทั้งการเตรียมความพร้อมด้านความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เริ่มคลี่คลาย ตลอดจนปรับปรุงกิจการผ่านโครงการตามแผนปฏิรูปธุรกิจ (Transformation Initiatives) กว่า 400 โครงการ ซึ่งมีความคืบหน้ามาโดยลำดับกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนโครงการทั้งหมด

รับทราบมูลค่าโครงการรวมในรูปแบบของต้นทุนดำเนินการที่ลดลงเมื่อระดับปริมาณการผลิตกลับไปเทียบเท่าปี 2562 เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไปจนถึงการลดต้นทุนค่าวัสดุ และบริการจากภายนอก ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรรวม โดยการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัว ปรับปรุงต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายบุคลากรโดยการเทียบเคียงมาตรฐานอุตสาหกรรมและสายการบินชั้นนำในระดับเดียวกัน ลดจำนวนบุคลากรรวมลงมากกว่าร้อยละ 50 ส่งผลให้ลดต้นทุนลงประมาณร้อยละ 70

ส่วนด้านฝูงบิน และการบริหารจัดการอากาศยานจากการเจรจาทำให้ต้นทุนด้านอากาศยานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และยังทำให้ประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการฝูงบิน และมาตรฐานการให้บริการผู้โดยสารสูงขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งประเภทอากาศยานในฝูงบินปัจจุบันเป็นอากาศยานที่มีเทคโนโลยีทันสมัย อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ รวมถึงแบบเครื่องยนต์ที่ลดลงทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนอะไหล่คงคลังได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 สายการบินต่างๆ กลับมาทำการบินมากขึ้น บริษัทฯ ได้เริ่มให้บริการเที่ยวบิน และเส้นทางบินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 โดยพิจารณามาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางของประเทศปลายทางเป็นหลัก

ประกอบกับการคาดการณ์ปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ในแต่ละเส้นทาง และการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปธุรกิจ การหารายได้เพิ่มเติมในช่วงที่สถานการณ์การบินยังไม่กลับมาเป็นปกติ การปรับเพิ่มเที่ยวบินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่รองรับการขนส่งสินค้ามากขึ้น และการเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่สนับสนุนการบินจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้กำไรสุทธิของบริษัทฯ กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง

3. กำหนดระยะเวลาการดำเนินการ

ตามที่เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีผลให้ผู้บริหารแผนที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นผู้บริหารแผน และมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจของบริษัทฯ ตามแผนฟื้นฟูกิจการนั้น

ตามประมาณการทางการเงินของบริษัทฯ บริษัทฯ คาดว่าจะกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานได้ในปี 2566 ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ จะกลับมามีค่ามากกว่าศูนย์ได้ในปี 2567 ซึ่งหากพิจารณาประกอบกับข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน และแนวทางการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ให้ระยะเวลาบริษัท ในการแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปภายในระยะเวลา 3 ปี (NC ระยะที่ 3 คือวันที่ 7 มีนาคม 2567) จะพบว่า

เมื่อครบกำหนดระยะเวลาข้างต้น บริษัทอาจยังไม่สามารถแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปได้ เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ในขณะนั้นอาจยังคงมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ดังนั้นบริษัท จะดำเนินการยื่นคำขอขยายระยะเวลาอีก 1 ปี โดยชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการขอผ่อนผัน ตลอดจนชี้แจงถึงคุณสมบัติตามเกณฑ์การขอขยายเวลาการฟื้นฟูกิจการล่วงหน้าก่อนวันครบกำหนดประกาศ NC ระยะที่ 3 ต่อไป

อย่างไรก็ดี การประมาณการทางการเงินของบริษัท อยู่ภายใต้สมมติฐานของแผนการปรับโครงสร้างทุนและสมมติฐานของปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการขยายตัวทางธุรกิจ การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมการบินทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งอาจมีความแตกต่างกับผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัท ในอนาคต

ดังนั้น บริษัท อาจยังไม่สามารถแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปได้ เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ยังคงมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ซึ่งบริษัท อาจพิจารณายื่นคำขอผ่อนผันเพิ่มเติมโดยชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็น รวมถึงคุณสมบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดในด้านอื่นๆ เช่น บริษัท มีธุรกิจหลักที่จะประกอบธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง มีความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างชัดเจนตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ผ่านความเห็นชอบจากศาล

รวมถึงได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยสารสนเทศอย่างครบถ้วน เป็นต้น ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเสนอคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อพิจารณาผ่อนผันหรือเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทจะแจ้งถึงความคืบหน้าในการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงความคืบหน้าอื่นๆ เพิ่มเติมให้ทราบต่อไป

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์