โบรกหวั่นกำไรแบงก์ปี 65 โตต่ำคาดการณ์ ตามดาวน์ไซด์จีดีพี

โบรกหวั่นกำไรแบงก์ปี 65 โตต่ำคาดการณ์ ตามดาวน์ไซด์จีดีพี

S&P หั่นเรทติ้ง 4 แบงก์ใหญ่ KBANK-SCB-KTB-TTB ธปท.ยันเงินกองทุนธนาคารไทยแกร่ง “บล.กสิกรไทย” หวั่น จีดีพีโตต่ำคาด กระทบกำไรกลุ่มปี 65 ลดลงราว 5-6% จากที่คาด 1.45 แสนล้าน "บล.เอเซีย พลัส" ให้น้ำหนักลงทุนเท่าตลาด

บริษัท เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P Global Rating) ประกาศปรับลดอันดับเครดิต (เครดิตเรทติ้ง) 4 ธนาคาร (แบงก์) ใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ธนาคารละ 1 ขั้น โดย KBANK และ SCB ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ BBB จากเดิมที่ BBB+ ส่วน KTB และ TTB ปรับลดลงมาอยู่ที่ BBB- จากเดิมที่ BBB

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า S&P ปรับลดเครดิตเรทติ้งครั้งนี้ เพราะมีมุมมองว่าหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งกฎเกณฑ์ของทางการเอื้อให้การช่วยเหลือลูกหนี้ของไทย ทำให้มีลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือจำนวนมาก

รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบาง และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อในอนาคต โดย S&P จัดให้ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่ง มีแนวโน้มของอันดับความน่าเชื่อถือคงที่ (Stable Outlook) เพราะยังมีความแข็งแกร่งด้านเงินกองทุน และมีเงินสำรองในระดับสูง

อย่างไรก็ดี ธปท.ได้ทดสอบระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ระหว่างปี 2564-2566 ภายใต้ภาวะวิกฤติ (Stress Test) มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าระบบธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนสูงในอนาคต ในระยะต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้รายได้และคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ปรับดีขึ้น

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า คาดว่าการปรับลดอันดับเครดิตของ S&P จะไม่กระทบกับงบการเงินของกลุ่มธนาคาร รวมถึงผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืม (Cost of Fund) เพราะอีก 2 องค์กรหลัก ได้แก่ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) และบริษัท มูดี้ส์ (Moody's) ยังคงเครดิตเรทติ้งเดิม อีกทั้งต้นทุนการกู้ยืมส่วนใหญ่ของแบงก์ราว 90% มาจากภายในประเทศ และ 90% เป็นต้นทุนที่เป็นเงินฝาก

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารงวดปี 2565มีความเสี่ยงขาลง (ดาวน์ไซด์) ราว 5-6% จากที่คาดการณ์เอาไว้ต้นปีที่ 1.45 แสนล้านบาท จากปัจจัยกดดันความเสี่ยงที่จีดีพีปีนี้อาจเติบโตต่ำกว่าที่กลุ่มกสิกรไทยคาดการณ์เอาไว้ที่ 3.8% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่รวมปัจจัยลบสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน หากจีดีพีเติบโตต่ำกว่าคาดการณ์จะส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตของสินเชื่อปี 2565 ที่เดิมคาดว่าจะเพิ่มขึ้น5% รายได้ค่าธรรมเนียมที่จะลดลง และการตั้งสำรองหนี้ที่จะเพิ่มขึ้น

นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า การปรับลดเรทติ้งนั้นส่งผลลบต่อเซนติเมนต์การลงทุนของกลุ่มแบงก์ ซึ่ง บล.เอเซีย พลัส ให้น้ำหนัก “เท่ากับตลาด” (Neutral) จากปัจจัยเสี่ยงที่จีดีพีไทยปี 2565 อาจเติบโตต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อคาดการณ์กำไรกลุ่มปีนี้ที่ประเมินไว้ที่ 1.87 แสนล้านบาท