สภาอุตฯ ผนึกกำลัง กฟภ. นำร่องแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาด

สภาอุตฯ ผนึกกำลัง กฟภ. นำร่องแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาด

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงโครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน และ Carbon Credit”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยุคของ พลังงานสะอาด กำลังมา ยิ่งเห็นตัวเลขราคาน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้นแบบรายวัน เชื่อว่าจะเป็นกระแสที่กระตุ้นให้สังคมไทยปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น

หนึ่งในองค์กรที่ได้เริ่มโปรเจกต์รับมือกับเทรนด์พลังงานสะอาดที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลกก็คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะตัวแทนภาคอุตสาหกรรมเอกชน ที่ได้ประกาศความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยได้ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงโครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน และ Carbon Credit” เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา

โดยได้มีการจัดทำฐานข้อมูลและการรับรองการผลิตไฟฟ้า Renewable Energy และ Carbon Credit ในรูปแบบแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานหมุนเวียน ผ่านโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 โดยการริเริ่มและสนับสนุนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้สามารถใช้เป็นต้นแบบตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้พลังงานหมุนเวียน สู่การต่อยอดไปยังโครงการอื่นๆ ต่อไป

การพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิตดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ รองรับการเกิดขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิตในภาคอุตสาหกรรม โดยทาง กฟภ. ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดส่งพลังงานแก่ผู้ซื้อ ซึ่งจะช่วยส่งผลให้มีการใช้พลังหมุนเวียนเข้ามาสู่ภาคการผลิตมากยิ่งขึ้น

สอดรับกับนโยบายของประเทศไทยที่ต้องการเดินหน้าเป้าหมายด้านพลังงานตามกติกาใหม่ของโลก ในการกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065

สภาอุตฯ ผนึกกำลัง กฟภ. นำร่องแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาด

ความร่วมมือในการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิตระหว่างภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ ถูกวางเป้าหมายว่าจะช่วยสร้างการเติบโตทางด้านพลังงานหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งหากบรรลุผลตามแผนที่วางไว้ จะมีการเปิดใช้งานแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานหมุนเวียน ขยายไปยังทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการนำพาประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต