1 เดือน สงครามรัสเซีย-ยูเครน คนไทยกระทบหนัก "น้ำมัน" แพง

1 เดือน สงครามรัสเซีย-ยูเครน คนไทยกระทบหนัก "น้ำมัน" แพง

ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น รวมถึงประเทศไทย ตั้งแต่ที่ "รัสเซีย" ได้เปิดฉากบุกโจมตี "ยูเครน" จนถูกสหรัฐฯ และชาติตะวันตกคว่ำบาตรอย่างหนัก จึงต้องเกาะติดทิศทางน้ำมันอย่างใกล้ชิด

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบ ปรับเพิ่ม หลังสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุในรายงานว่า อุปทานน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซียจะลดลงกว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนหน้า ซึ่งลดลงมากกว่าตัวเลขความต้องการใช้น้ำมันที่คาดการณ์ว่าจะลดลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น

ซึ่งสำนักงานพลังงานสากลคาดว่า แคนาดา สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ จะยังไม่เพิ่มกำลังการผลิต เพื่อขจัดภาวะขาดแคลนนี้ ส่งผลให้ทั่วโลกจะขาดแคลนอุปทาน 700,000 บาร์เรลต่อวันในไตรมาสที่ 2/2565

สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานกำลังการผลิตของโรงกลั่นในสหรัฐ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 224,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 1.1% ทำให้กำลังการผลิตโดยรวมของโรงกลั่นในสหรัฐอยู่ที่ระดับ 90.4% เพื่อรองรับอุปสงค์ที่จะเพิ่มสูงขึ้นในฤดูการท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน

ตลาดยังได้รับแรงหนุน หลังจีนกล่าวว่า จะใช้นโยบายกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในจีนลดลง ส่งผลให้มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อให้โรงงานต่างๆ เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้ง

 

ราคาน้ำมันเบนซิน

ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานที่ปรับลดลงจากการลดการส่งออกน้ำมันเบนซินของจีน อีกทั้งน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐปรับลดลง 3.61 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ราคาน้ำมันดีเซล

ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ จากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากน้ำมันดีเซลคงคลังญี่ปุ่น ที่ปรับลดลง 8.1% แตะระดับ 7.84 ล้านบาร์เรล

นักวิเคราะห์สถานการณ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 12 และราคาน้ำมันดิบ Dubai เฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 11 จากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

และวันที่ 13 มี.ค. 2565 กองกำลังรัสเซียโจมตีทางอากาศ โดยยิงขีปนาวุธ 30 ลูก ใส่ศูนย์รักษาสันติภาพนานาชาติและความมั่นคง ซึ่งเป็นฐานฝึกทหารที่เขต Yavoriv เมือง Lviv ในยูเครน และห่างจากชายแดนโปแลนด์ไม่ถึง 25 กิโลเมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 35 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 134 ราย

นาย Andrzej Duda ประธานาธิบดีโปแลนด์ ระบุว่า หากรัสเซียใช้อาวุธเคมีในการบุกโจมตียูเครน อาจทำให้กองกำลังขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) ใช้กำลังทหารแทรกแซง โดยทุกฝ่ายหวังว่ารัสเซียจะไม่ใช้อาวุธเคมี เนื่องจากจะเป็นจุดเริ่มต้นของอันตรายทั่วโลก

นอกจากนี้ กลุ่มมหาอำนาจ G7 (แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ) และสหภาพยุโรป (EU) จะร่วมกันผลักดันการเพิกถอนสถานะ “ชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง” (Most Favored Nation) ของรัสเซีย ในฐานะสมาชิกองค์การการค้าโลก (World trade organization: WTO) ซึ่งรัสเซียจะถูกระงับการประโยชน์ทางการค้าต่างๆ อาทิ การลดหรืองดเว้นภาษีศุลกากร อีกทั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นาย Joe Biden ประกาศคว่ำบาตรห้ามนำเข้าสินค้าจากรัสเซียเพิ่ม รวมถึงอาหารทะเล วอดก้า และเพชร และสหรัฐฯ ยังระงับการส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือยไปยังรัสเซีย เช่น สุรา ยาสูบ เสื้อผ้า เครื่องประดับ รถยนต์ และวัตถุโบราณ

นาย Koichi Hagiuda รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) ประกาศให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศสามารถลดปริมาณขั้นต่ำในการเก็บน้ำมันสำรองของภาคเอกชนจาก 70 วัน เหลือ 66 วัน ระหว่างวันที่ 10 มี.ค.–8 เม.ย. 65 เพื่อให้โรงกลั่นสามารถระบายน้ำมันออกสู่ตลาดได้ 7.5 ล้านบาร์เรล

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นปฏิบัติตามนโยบายของ International Energy Agency (IEA) ที่เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมกันระบายน้ำมันจากคลังสำรองปริมาณรวม 60 ล้านบาร์เรลเพื่อเพิ่มอุปทานน้ำมันโลก

 

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

ด้านการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) ระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจ P5+1 (สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, จีน และเยอรมนี) ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในรอบที่ 9  ยุติลงโดยไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ เนื่องจากรัสเซียเรียกร้องให้ที่ประชุม JCPOA รับประกันว่าการคว่ำบาตรรัสเซียในปัจจุบันจะไม่กระทบกับความร่วมมือด้านการค้าและการทหารระหว่างรัสเซียและอิหร่าน โดยนักการทูตจากกลุ่ม E3 (อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี) ยืนยันจะไม่ต่อรองใดๆ กับรัสเซีย เพราะถือเป็นเรื่องนอกเหนือข้อตกลงนิวเคลียร์ ทั้งนี้การเจรจารอบถัดไปเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

นาย Reinaldo Quintero ประธานสภาหอการค้าด้านปิโตรเลียมของเวเนซุเอลา ระบุว่า หากสหรัฐฯ อนุมัติคำร้องของบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลา (Petroleum of Venezuela: PDVSA) ในการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเวเนซุเอลา การผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาจะเพิ่มขึ้น 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายใน 3 เดือน จากปริมาณการผลิตในเดือน ม.ค. 2565 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน