สรุปครบ "ไรเดอร์" รับส่งของเดลิเวอรีต้อง "ยื่นภาษี" อย่างไร ?

สรุปครบ "ไรเดอร์" รับส่งของเดลิเวอรีต้อง "ยื่นภาษี" อย่างไร ?

"ไรเดอร์" ต้องรู้! หลักเกณฑ์การ "ยื่นภาษี" และ "เสียภาษี" จากกรมสรรพากร เมื่อมีรายได้จากการรับส่งอาหารเดลิเวอรี่

ช่วงโควิด-19 ระบาด หลายคนผันมาตัวมาเป็น "ไรเดอร์" หรือพนักงานรับส่งอาหารในแพลตฟอร์มดิลิเวอรีต่างๆ เพื่อหารายได้เพิ่มในช่วงที่ทุกต้องเว้นระยะห่างกันเพื่อลดการกระจายเชื้อ

แม้จะเป็นอาชีพอิสระ แต่รายได้ที่มาจากการรับส่งอาหารแบบนี้ถือว่าเป็น "รายได้" ซึ่งคนไทยที่มีรายได้ตามประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ "ยื่นภาษี" ทุกคน รวมถึงคนที่เป็น "ไรเดอร์" ด้วย

แต่ไม่ต้องตกใจไป...การยื่นภาษีนั้นเป็นเพียงการแสดงว่าเรามีรายได้จากทางไหนบ้าง และมีรายได้รวมเท่าไรบ้าง ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ยื่นภาษีจะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม หรือเสียภาษีกันทุกคน ฟังแบบนี้แล้วใครยังสับสน "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนคนที่มีรายได้จากการเป็นไรเดอร์ มาย้อนดูรายได้ของตัวเองว่าเข้าหลักเกณฑ์ตามที่สรรพากรกำหนดหรือไม่ แล้วจะต้องเสียภาษีเท่าไรบ้าง

ข้อมูลจากกรมสรรพากรระบุว่า ผู้ที่มีอาชีพไรเดอร์จะมีค่าตอบแทนหลายรูปแบบ เช่น ค่าบริการส่งอาหาร ค่าส่งเพิ่มตามระยะทาง โบนัสพิเศษ ฯลฯ ซึ่งแตกต่างกันออกไปในหลายปัจจัย

แต่สิ่งที่ไรเดอร์จะต้องเจอเหมือนกันคือ ทุกครั้งที่ได้รับค่าจ้างจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้เป็นภาษีที่นายจ้าง (แพลตฟอร์มเดลิเวอรีที่เราทำอยู่) หักเงินของเราไปส่งกรมสรรพากร

แต่ภาษีส่วนนี้ที่ถูกหักไปจากรายได้ของเรา สามารถขอคืนได้ (หากรายได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี) ในช่วงที่มีการเปิดให้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (1 ม.ค.-31 มี.ค. ของทุกปี) 

ดังนั้นหากไรเดอร์ทั้งหลายอยากได้เงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืน จะไม่ลืมขอ "หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย" หรือที่หลายคนชอบเรียกว่าใบ "50 ทวิ" จากนายจ้างเพื่อนำข้อมูลมากรอกเป็นหลักฐานในการยื่นแบบฯ และขอคืนภาษีตามช่วงเวลาที่กำหนด

 

  •  มีรายได้จากการเป็นไรเดอร์เท่าไร ถึงต้องยื่นภาษี ? 

ไรเดอร์ที่ต้องยื่นภาษี คือคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำคือ 60,000 บาทต่อปี และถ้าไม่มีรายได้ประเภทอื่นๆ รวมกันเกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็ยังคงต้องมีหน้าที่ยื่นภาษีตามปกติ ซึ่งการยื่นภาษีก็จะทำให้มีโอกาสได้รับเงินภาษีที่เคยถูกหักไปคืนมาด้วย

 

  •  ยื่นภาษีแล้วจะต้องเสียภาษีไหม ? 

สำหรับการยื่นภาษีจะมีทั้งคนที่ได้เงินภาษีคืน คนที่ต้องเสียภาษีเพิ่ม และคนไม่ต้องทำอะไรเลย เนื่องจากการเสียภาษีเป็นเรื่องของรายได้สุทธิตลอดทั้งปีของแต่ละคน ซึ่งรายได้สุทธิ = รายได้(พึงประเมิน)ทั้งปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน 

หมายความว่าถ้ามีรายได้สุทธิมากก็มีโอกาสเสียภาษีมาก แตกต่างกันออกไปมีตั้งแต่ 5-35% ตามเงินได้สุทธิของแต่ละคนนั่นเอง

สรุปครบ "ไรเดอร์" รับส่งของเดลิเวอรีต้อง "ยื่นภาษี" อย่างไร ?

  •  เป็นไรเดอร์ เวลายื่นภาษีต้องเลือกเงินได้ประเภทไหน ? 

สำหรับรูปแบบเงินได้ของไรเดอร์จะจัดอยู่ในรูปแบบเงินได้จากการรับทำงานให้ ค่าจ้าง ค่าคอมมิชชั่น ค่าตอบแทน รับจ้างอิสระ ซึ่งถือว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ตามมาตรา 40(2) ตามประมวลรัษฎากร 

ซึ่งเวลายื่นภาษี เงินได้ประเภที่ 2 นี้ สามารถใช้สิทธิการหักค่าใช้จ่ายได้แบบหักเหมา 50% ไม่เกิน 100,000 บาท หรือถ้าใครที่ทำงานประจำไปด้วยมีรายได้ที่เป็นเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัส จากนายจ้างประจำ (เงินได้ประเภทที่ 1) ด้วย จะต้องนำมารวมกับรายได้จากการเป็นไรเดอร์ (เงินได้ประเภทที่ 2) แล้วหักค่าใช้จ่ายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

สรุปครบ "ไรเดอร์" รับส่งของเดลิเวอรีต้อง "ยื่นภาษี" อย่างไร ?

 

  •  เป็นไรเดอร์ ไม่ยื่นภาษีได้หรือไม่ ? 

หากมีรายได้ไม่ถึง 60,000 บาท/ปี และไม่ต้องการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่เคยถูกหักไปกฎหมายระบุว่าไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีก็ได้ แต่ก็จะเสียโอกาสในการของคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่เคยถูกหักไว้เช่นกัน

 

สรุปครบ "ไรเดอร์" รับส่งของเดลิเวอรีต้อง "ยื่นภาษี" อย่างไร ?

---------------------------------

อ้างอิง: กรมสรรพากร