พาณิชย์ โชว์ยุทธศาสตร์ จุดแข็งไทยในซอฟต์พาวเวอร์

พาณิชย์ โชว์ยุทธศาสตร์ จุดแข็งไทยในซอฟต์พาวเวอร์

ซอฟต์พาวเวอร์ กำลังถูกนำไปใช้เป็นเครื่่องมือทางเศรษฐกิจ แต่จุดขายของซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่แค่การทำตลาดเก่งเท่านั้น แต่ซอฟต์พาวเวอร์จะสำเร็จได้ต้องมี "ของดี" สำหรับประเทศไทย มีจุดแข็งในซอฟต์พาวเวอร์หลายอย่าง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการพูดถึง"Soft Power” อย่างกว้างขวางก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า“Soft Power” คืออะไร

มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงแผนการนำ“Soft Power”มาสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศให้ได้มากขึ้นว่า“Soft Power” คือกลยุทธ์การใช้อำนาจด้วยการชักจูงโน้มน้าวผู้อื่นให้คล้อยตามหรือชื่นชอบโดยใช้จุดเด่น ใช้เสน่ห์ ใช้ภาพลักษณ์ที่ดี ทำให้เกิดความชื่นชมและความสมัครใจพร้อมที่จะร่วมมือกัน ไม่มีการบังคับ ข่มขู่ 

“ยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย ๆ รูปแบบของสื่อบันเทิง เช่น ลิซ่า BLACKPINK สวมชุดไทยและชฎาในเอ็มวีเพลง LALISA ทำให้ดาราทั้งในและต่างประเทศต่างพูดถึงและแต่งตัวตาม หรือSoft Power จากภาพยนตร์จีนเรื่อง “Lost in Thailand” ที่ทำให้คนจีนและทั่วโลกรู้จักการนวดแบบสปาไทย อาหารการกิน มวยไทย ตุ๊กๆ”

พาณิชย์ โชว์ยุทธศาสตร์ จุดแข็งไทยในซอฟต์พาวเวอร์

“Soft Power”ไม่ใช่ความนิยมชื่นชอบเท่านั้น แต่หมายถึงเม็ดเงินทางเศรษฐกิจมหาศาล ยกตัวอย่างเกาหลีใต้ ที่มี K-Pop ( เช่น วง BTS ก็สร้างมูลค่าเพิ่มให้ GDP ถึง 0.3% คิดเป็น 1.5 แสนล้านบาท ส่งผลต่อเนื่องไปถึงมูลค่าส่งออกด้านความงามถึงเพิ่มขึ้นถึง870% ภายใน 10 ปี จนสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ส่งออกเครื่องสำอางอันดับ 3 ของโลก รองจาก สหรัฐ และฝรั่งเศส ด้านสินค้าอาหาร (K-Food) ที่สอดแทรกผ่าน K-Drama และ K-Movie และ K-Pop ทำให้ปี 2563 มูลค่าส่งออกอาหารของเกาหลีใต้สูงถึง 1.42 แสนล้านบาท"  

จากกรณีศึกษาข้างต้นนำไปสู่นโยบายของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ระบุว่ากระทรวงพาณิชย์หยุดนิ่งไม่ได้ ต้องปรับปรุงพัฒนากลยุทธ์และแผนการทำงานอยู่ตลอดเพื่อให้ทันโลกทันเหตุการณ์ และเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันระยะยาว

ดังนั้น ในปี 2565 จึงมีแผนมุ่งนำ Soft Power ไทยไปผงาดอยู่ในเวทีโลกโดยอาศัยจุดแข็งของประเทศ อาทิ ความโดดเด่นทางศิลปวัฒนธรรม เอกลักษณ์ของวิถีชีวิตและความเป็นไทยด้านต่างๆ นโยบายดังกล่าวไม่ใช่แค่การวิ่งตามกระแส แต่ได้เป็นการต่อยอดการทำงานก่อนหน้านี้ 

พาณิชย์ โชว์ยุทธศาสตร์ จุดแข็งไทยในซอฟต์พาวเวอร์

โดยเมื่อปี 2562 ที่รองนายกฯ จุรินทร์ได้เข้าร่วมงานภาพยนตร์ที่ลอสแองเจลิสและดูการผลิตงาน digital content ภาพยนตร์ Walt Disney Nickelodeon ซึ่งมีคนไทยทำงานอยู่ ซึ่งคนเหล่านี้จะสามารถช่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ digital content ของประเทศไทยได้ 

จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ส่งต่อองค์ความรู้จากศักยภาพของคนไทยเหล่านี้ ผ่านการเชิญเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการมาตลอด 2 ปีที่ผ่าน พบว่าประเทศไทยมีจุดแข็งทั้งเรื่องศิลปวัฒนธรรมวิถีชีวิตโดยเฉพาะอาหารและสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด คือ ความเป็นไทย ทั้งในด้านการผลิตที่ละเอียดลออ งดงามและมีความรับผิดชอบ ในภาคบริการการท่องเที่ยวที่ไม่มีใครสู้ได้ 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากลไกภาครัฐยังไม่มีศูนย์กลางในการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์ Soft Power อย่างเป็นทางการ รองนายกฯจุรินทร์ จึงมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ผู้ประสานงานกลาง (Call Center) รวมถึงรับผิดชอบธุรกิจบริการดิจิทัลคอนเทนต์ ภาพยนตร์ เพื่อสร้างไทยให้เป็นฮับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์อีกด้วย

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวยังสอดคล้องกับวาระแห่งชาติว่าด้วย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)ของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย  ซึ่งวัฒนธรรมไทยมีศักยภาพที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งก็คือพลังแห่ง Soft Power ของประเทศไทยนั่นเอง

“ที่ผ่านมามีการประสานไปยังผู้สร้างภาพยนตร์ พิจารณาการทำคอนเทนต์ เกม และแอนิเมชั่น เรื่องการใส่ Soft Power ของไทยลงไปด้วย เพื่อคนไทยทั้งประเทศและชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศในความเป็นคนไทยของเราจะได้ไปแทรกซึมและผงาดในเวทีโลกต่อไปได้”

มัลลิกา เล่าอีกว่า ตั้งแต่เดือนก.ค.2562 กระทรวงพาณิชย์ได้จัดกิจกรรมเจรจาการค้าเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งจะเป็นช่องทางหลักในการส่งต่อ Soft Power ของไทยไปยังต่างประเทศได้ ซึ่งกิจกรรมส่งเสริมฯ ต่างๆ สามารถสร้างมูลค่าการค้ารวมกว่า 9,039 ล้านบาท และถ้าดูในรายละเอียด ปีงบประมาณ 2564 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ดำเนินการผลักดันอุตสาหกรรมฯ ผ่าน 8 โครงการ สร้างมูลค่าการค้าจากการจัดกิจกรรมได้กว่า 3,299.28 ล้านบาท 

     สำหรับปี 2565 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีการวางแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริม Soft Power ตามนโยบายยุทธศาสตร์ Soft Power ใน 6 ด้าน เช่น อาหาร, ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) รวมถึงการขับเคลื่อนกลยุทธ์จะดำเนินการผ่าน 32 กิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการบ่มเพาะผู้ประกอบการยุคใหม่ให้มี Mindset ด้าน Soft Power การพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการสร้างสรรค์โดยสอดแทรกความเป็นไทย การผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการที่เป็น Soft Power ของไทย และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ประเทศไทยผ่านการรับรองสินค้าและบริการเป็นเอกลักษณ์และได้มาตรฐาน

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะขับเคลื่อน Soft Power ในคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์แห่งชาติตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นหนึ่งในอนุกรรมการที่มีหน้าที่ศึกษาและเสนอนโยบาย แผนและยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับโดยใช้ Soft Power ผ่านสื่อบันเทิงอีกด้วย 

แม้เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากหลายด้าน แต่การนำจุดแข็งในรูปแบบพลังแห่ง “Soft Power”มาใช้อย่างมียุทธศาสตร์ก็จะทำให้คนไทยและเศรษฐกิจไทย ผ่านวิกฤติและเติบโตได้อย่างเข้มแข็งต่อไป