‘สภาพัฒน์’ แนะสร้างแรงงานคุณภาพ รับสังคมสูงวัย - เศรษฐกิจไทยเสี่ยงถดถอย

‘สภาพัฒน์’ แนะสร้างแรงงานคุณภาพ  รับสังคมสูงวัย - เศรษฐกิจไทยเสี่ยงถดถอย

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็วโดยเราเข้าสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2548 และในปี 2566 จะเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์คือมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด

ในปี 2576 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยถึง 28% ของประชากรทั้งหมดหรือเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ขณะที่อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 5.5 แสนคนเท่านั้นในปี 2564 โดยอัตราเจริญพันธุ์รวมลดลงเหลือ 1.5 จากเดิมที่อยู่ที่ 2.0 เป็นตัวบ่งบอกว่าจำนวนประชากร และแรงงานไทยจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

การลดลงของประชากรส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และตลาดแรงงานในอนาคตทำให้หน่วยงานภาครัฐที่ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมต้องการออกมาเตือนถึงการรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ

จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปีหน้า ขณะที่อัตราเด็กเกิดใหม่น้อยลงจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2576 หรืออีก 10 ปีข้างหน้าอัตราส่วนของประชากรวัยพึ่งพิงจะอยู่ที่ 71.3% หรือวัยแรงงาน 100 คน ต้องดูแลเด็กและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 72 คนจากปัจจุบันดูแลอยู่ 55 คน

“ในอัตราส่วนของแรงงานที่ไม่เพิ่มขึ้นแต่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่เด็กเกิดใหม่ก็ลดลงทำให้วัยแรงงานจะต้องรับบทหนักในการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ ดังนั้นเป้าหมายในการเพิ่มความสามารถแรงงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำให้แรงงานมีทักษะและมีคุณภาพมากขึ้นเพื่อชดเชยกับจำนวนแรงงานที่ลดลง และประชากรวันพึ่งพิงที่เพิ่มมากขึ้น”

‘สภาพัฒน์’ แนะสร้างแรงงานคุณภาพ  รับสังคมสูงวัย - เศรษฐกิจไทยเสี่ยงถดถอย

ข้อมูลจาก สศช.ในรายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 4 และภาพรวมปี 2564 ระบุถึงผลกระทบโครงสร้างประชากรที่กระทบกับเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบัน และอนาคต โดยข้อมูลจากบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (National Transfer Account) หรือ NTA ที่เป็นการผนวกโครงสร้างอายุประชากรเข้ากับรายได้ประชากรในแต่ละช่วงอายุ การเกื้อกูลกันในครัวเรือน และการอุดหนุนจากภาครัฐ พบว่าคนไทยมีรายได้จากการทำงานต่ำกว่าการบริโภคที่เกิดขึ้นตลอดช่วงวัย (การขาดดุลรายได้) คิดเป็นมูลค่า 2.04 ล้านล้านบาท หรือโดยเฉลี่ยคนไทยหารายได้ได้ต่ำกว่ารายจ่าย 3 หมื่นบาทต่อคนต่อปี

โดยผู้ที่มีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายจะใช้เงินจากทรัพย์สินที่เก็บสะสมทำให้เงินออมของคนไทยต่ำลงเรื่อยๆ หรือใช้เงินช่วยเหลือจากในครอบครัว หรือเงินอุดหนุนจากโครงการต่างๆของรัฐมาชดเชย ทั้งนี้คาดว่าในปี 2576 การขาดดุลรายได้ในภาพรวมของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 2.16 ล้านล้านบาทในปี 2566 และ ขาดดุลเพิ่มเป็น 2.57 ล้านล้านบาทในปี 2576 ตามลำดับ

นอกจากนี้โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนเป็นสังคมสูงวัยมากขึ้น และแรงงานลดลงทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงในอนาคตโดยคาดว่าในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงเหลือ 2.5% ส่วนในปี 2576 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้เพียง 2.1% ซึ่งเท่ากับว่าหากไม่สามารถเพิ่มประชากรวัยแรงงานหรือไม่สามารถเพิ่มคุณภาพของประชากรวัยแรงงานได้เศรษฐกิจไทยจะหดตัวปีละ 0.5% ต่อปี รวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาระทางการคลังและการจัดสรรงบประมาณในระยะยาว

ทั้งนี้ สศช.ได้เสนอแนะประเด็นที่ต้องดำเนินการเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัญหานี้ ใน 4 ประเด็นได้แก่

1.การเพิ่มรายได้ให้ประชากร โดยต้องเพิ่มความพร้อมของทักษะที่เพียงพอ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต เช่น หลักสูตรที่เกี่ยวกับดิจิทัล รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาให้กับผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสในการศึกษาเพิ่มขึ้น

ส่วนการยกระดับรายได้ของกลุ่มวัยแรงงาน และเร่งพัฒนาทักษะแรงงานกลุ่ม NEETs หรือแรงงานที่มีอายุ 15 – 24 ปีที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้แรงงานนี้สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับมาตรการยกระดับรายได้ มาตรการการกำหนดค่าจ้าง การจัดสวัสดิการที่เหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้พร้อมรับกับการดูแลประชากรในวัยพึ่งพิงมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ โดยให้ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในการทำงานควรส่งเสริมให้ยังคงทำงานได้โดยให้ได้ค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม โดยภาครัฐสนับสนุนสิทธิประโยชน์ให้กับเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ

2.การชดเชยการขาดแคลนแรงงาน ผ่านการดึงกลับแรงงานไทยทักษะสูงในต่างประเทศ และการนำเข้าแรงงานต่างชาติทักษะสูงเข้ามาทำงานในไทย เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานในสาขาสำคัญๆ

3.การสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของครัวเรือน โดยเพิ่มระดับการออมของครัวเรือน เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินในภาวะฉุกเฉิน การส่งเสริมความรู้ทางการเงินในครัวเรือน การส่งเสริมความรู้ทางการเงินในส่วนการออมเงินเพื่อเกษียณให้มากขึ้น

และ 4.การปรับปรุงระบบการคลังของประเทศเพื่อสร้างสมดุลทางการคลัง และยกระดับคุณภาพชีวิต ประชาชน โดยเน้นการสร้างสมดุลทางด้านรายรับและรายจ่ายภาครัฐ ลดนโยบายการอุดหนุนที่จะเป็นภาระระยาว ควบคู่กับการให้ความสำคัญเรื่องนโยบายด้านประชากรทั้งในส่วนของการเพิ่มศักยภาพแรงงานให้มีความสามารถมากขึ้น