KKP หั่น GDP เหลือ 3.2% หวั่นราคาน้ำมันสูง กระทบเศรษฐกิจไทยหนัก

KKP หั่น GDP เหลือ 3.2% หวั่นราคาน้ำมันสูง กระทบเศรษฐกิจไทยหนัก

KKP Research ปรับการคาดการณ์ GDP ปี 2022 ในกรณีฐานเหลือ 3.2% จาก 3.9% โดยประเมินว่าความไม่แน่นอนต่อภาพแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีสูงขึ้นมาก จากผลกระทบของสถานการณ์ยูเครนและรัสเซีย

      KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกรายงาน “เศรษฐกิจไทยเปราะบางแค่ไหนเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น” โดยประเมินว่าจากผลจากสถานการณ์ความความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในปัจจุบัน ทำให้ความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกสูงขึ้น และเศรษฐกิจไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเนื่องจากมีการพึ่งพาพลังงานในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ 

     ย้อนกลับไปช่วงที่มีการระบาดของโควิด -19 ไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเช่นกัน ทั้งสองเหตุกาณ์สะท้อนภาพคล้ายกันว่าเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงภายนอกสูงมาก หรือขาดความยืดหยุ่นซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในโลกปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนสูงกว่าเดิมมาก

ลด GDP เหลือ 3.2% เงินเฟ้อพุ่งแตะ 4.2%

      KKP Research ปรับการคาดการณ์ GDP ปี 2022 ในกรณีฐานเหลือ 3.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.9% โดยประเมินว่าความไม่แน่นอนต่อภาพแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีสูงขึ้นมาก จากผลกระทบของสถานการณ์ยูเครนและรัสเซีย และปรับประมาณการเงินเฟ้อเฉลี่ยจากที่เคยคาดไว้ที่ 2.3%

    สำหรับทั้งปี เป็น 4.2% จากต้นทุนราคาพลังงานและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น

      จากสถานการณ์ความขัดแย้งมีโอกาสยืดเยื้อ และประเทศตะวันตกอาจจะใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม

      รวมถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกพลังงาน KKP Research ประเมินว่าราคาน้ำมันจะแตะระดับสูงสุดที่ค่าเฉลี่ย 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 2 และราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

      โดยความไม่แน่นอนจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจจะกระทบทำให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลง โดยช่องทางหลักที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบคือ

      1) เศรษฐกิจในประเทศ: ในช่วงไตรมาส 2 ของปี เงินเฟ้อคาดว่าจะแตะระดับสูงสุดที่ 5.5% ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง 2) การส่งออก: การส่งออกชะลอตัวลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเศรษฐกิจยุโรปจะรับผลกระทบหนักกว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจรัสเซียมาก 

      3) นักท่องเที่ยว: การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ จากการเปิดประเทศที่ทำได้ช้ากว่าคาด และเศรษฐกิจยุโรปที่ได้รับผลกระทบกว่าคาดนับเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย

      อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้ายประเมินว่า มีโอกาสที่มาตรการคว่ำบาตรอาจจะรุนแรงมากขึ้น จนส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยทั้งปีที่ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์และเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น

      ซึ่งจะดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวสูงขึ้นเป็น 5.1% ในขณะที่เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้เพียง 2.7%  

น้ำมันแพงกระทบไทยมากกว่าประเทศอื่น  

       ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อไทยมากกว่าประเทศอื่นเนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการใช้น้ำมันสูงไม่ต่างจากในอดีต 

     ในขณะที่ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากตัวเลขอัตราการบริโภคพลังงานต่อ GDP หรือ Energy intensity ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพในการใช้พลังงานเพื่อการผลิตสินค้าและบริการ 

      ด้วยเหตุนี้ เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก 

      ทั้งนี้ แม้ว่าไทยจะเคยเจอเหตุการณ์คล้ายๆ กันมาแล้วในอดีตช่วงราคาน้ำมันแพง แต่โครงสร้างนโยบายยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและเพียงพอ

       ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าพลังงานสุทธิมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค ทำให้เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ไทยจำเป็นต้องจ่ายเงินจำนวนมากขึ้นเพื่อนำเข้าน้ำมันและส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลเพิ่มเติมได้มากโดยทุก ๆ 10% ของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลเพิ่มเติมประมาณ 0.3%-0.5% ของ GDP หรือเทียบเท่ากับการนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนถึง 1 – 1.6 ล้านคนในหลายครั้งเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นทำให้ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้น

       จะเห็นค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกันกับเงินเฟ้อของไทยที่ตอบสนองต่อราคาพลังงานมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคจากการบริโภคพลังงานในสัดส่วนที่สูงกว่าแม้จะมีมาตรการอุดหนุนราคาจากภาครัฐบางส่วนแล้วก็ตาม

เงินเฟ้ออาจสูงขึ้นได้มากกว่าคาด

      KKP Research ประเมินว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในปัจจุบันเป็นเพียงผลกระทบในขั้นแรก แต่ยังมีโอกาสที่ราคาสินค้าอื่น ๆ จะสูงขึ้นตามมาได้อีกซึ่งเกิดจาก 2 ประเด็น คือ 

      1) ราคาน้ำมันทำให้ภาระทางการคลังสูงขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลค้าปลีกไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรและพยายามคงราคาก๊าซ LPG ผ่านเงินสมทบกองทุนน้ำมัน แต่เมื่อราคาดีเซลหน้าโรงกลั่นปรับเพิ่มขึ้นทำให้เงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นตาม 

     โดยในกรณีฐานที่ราคาน้ำมันโลกอยู่ที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หากไม่มีการปรับนโยบาย ภาครัฐอาจต้องใช้เงินสูงถึงเดือนละกว่า 2 หมื่นล้านบาท (หรือกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็น 1.8% ของ GDP)และทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันขาดดุลมากขึ้นอย่างไรก็ตามด้วยราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง 

      อาจทำให้ภาครัฐต้องลดระดับการอุดหนุนราคาน้ำมันและปล่อยราคาน้ำมันขึ้นบางส่วน 

       KKP Research ประเมินว่า หากไม่มีการอุดหนุนเลย ราคาน้ำมันดีเซลอาจเพิ่มขึ้นเป็น 38-40 บาทต่อลิตรจากที่ตรึงไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ราคาก๊าซ LPG นั้น อาจปรับเพิ่มขึ้นเป็น 430 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมจากที่รัฐบาลตรึงราคาไว้ที่ 313 บาท 

     นอกจากนี้ ราคาค่าไฟฟ้าและราคาสินค้าอื่นๆที่เป็นสินค้าควบคุม อาจมีโอกาสปรับสูงขึ้นตามต้นทุน

      2) แม้ว่าจะมีมาตรการควบคุมราคาบางส่วนราคาอาหารจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงปี 2004-2008 ไทยเคยเผชิญสถานการณ์เงินเฟ้อจากราคาพลังงานเร่งตัวขึ้นโดยเฉลี่ย 28% ต่อปี

     แม้ว่ากลุ่มสินค้าจำเป็นส่วนใหญ่ถูกควบคุมราคาตามมาตรการของกรมการค้าภายใน ราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม

      โดยทั่วไปยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 6% โดยราคาสินค้าย่อยบางประเภทปรับตัวสูงขึ้นมาก

      เช่น ผักผลไม้เพิ่มขึ้นถึง 14% ข้าว 9% และ เนื้อสัตว์ 7% เป็นต้น เนื่องจากราคาพลังงานเป็นต้นทุนหลักในการขนส่งสินค้าเกษตร ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าอื่นๆปรับตัวสูงขึ้น เพิ่มแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อรวม แม้เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่

ทบทวนมาตรการระยะสั้น มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว

      ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงานกำลังส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน

       โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีความจำเป็นที่รัฐบาลอาจเข้าดูแลและบริหารจัดการ แต่ด้วยต้นทุนการคลังของการอุดหนุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กำลังกลายเป็นความท้าทายจากต่อฐานะทางการคลังมากขึ้น

      และอาจจำเป็นต้องกลับมาทบทวนการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชนใหม่อีกครั้ง ควรเน้นมาตรการที่ไม่เป็นการบิดเบือดตลาด ลดความเสี่ยงจากขาดแคลนสินค้า และการกักตุนสินค้า การอุดหนุนโดยการตรึงราคาน้ำมัน อาจไม่ใช่วิธีการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 

       ในภาวะที่ภาระการคลังสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นการช่วยเหลือที่มีลักษณะบิดเบือนราคาตลาด ทำให้คนไม่ลดการใช้พลังงานลงเมื่อราคาแพงขึ้น และอาจเป็นการให้เงินอุดหนุนกับกลุ่มคนที่ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการอุดหนุน ทำให้ต้นทุนภาคการคลังสูงเกินไป

      นอกจากนี้มาตรการอุดหนุนราคาเป็นการช่วยเหลือคนทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มผู้มีฐานะที่ใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนของภาครัฐ สูงเกินความจำเป็น 

      KKP Research มองว่าการพิจารณาหากลไกที่ช่วยคัดครองผู้ได้รับผลกระทบและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายการคลังและลดผลกระทบได้จริงในระยะยาว 

     นอกจากนี้ต้นทุนภาระทางการคลังในการอุดหนุนราคาน้ำมันกำลังจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในภาวะที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ยิ่งทำให้การใช้ทรัพยากรภาครัฐมีความจำเป็นต้องใช้อย่างคุ้มค่า 

     นอกจากนี้ ในระยะยาวมีความจำเป็นในการปรับโครงสร้างให้เศรษฐกิจใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการพึ่งพาพลังงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย