งบโฆษณาออกตัวโตต่ำ 0.58% ‘ยูนิลีเวอร์’ ชะลอใช้จ่ายเกือบ 50%

งบโฆษณาออกตัวโตต่ำ 0.58%   ‘ยูนิลีเวอร์’ ชะลอใช้จ่ายเกือบ 50%

นีลเส็น เปิดเผยภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีเม็ดเงินสะพัด 8,517 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.58% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีเม็ดเงินสะพัด 8,468 ล้านบาท ขณะที่ 2 เดือนแรก(ม.ค.-ก.พ.65)งบโฆษณามีมูลค่า 16,871 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.36%

เมื่อจำแนกประเภทสื่อกลุ่มที่หดตัว ได้แก่ ทีวีมูลค่า 9,324 ล้านบาท ลดลง 4.25% สื่อโฆษณานอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 1,548 ล้านบาท ลดลง 1.09% สื่อวิทยุ 444 ล้านบาท ลดลง 0.67% และสื่อสิ่งพิมพ์ 419 ล้านบาท ลดลง 16.53% ซึ่งเป็นการ “ติดลบ” รุนแรงสุดเทียบทุกสื่อ ส่วนสื่อที่สามารถชิงเม็ดเงินโฆษณาสร้างการเติบโต ได้แก่ สื่อในโรงภาพยนตร์มูลค่า 1,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66.27% สื่อในห้าง 111 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.12% ขณะที่สื่ออินเตอร์เน็ตมูลค่า 3,911 ล้านบาท ยังไม่มีรายงานจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล(ประเทศไทย)หรือ DAAT ว่าเติบโตเท่าใด

อย่างไรก็ตาม แม้สื่อหลักงบโฆษณาลดลง แต่ทีวียังครองเม็ดเงินสูงสุดเช่นเดิมที่ 55%

 นอกจากนี้  2 เดือนแรก อุตสาหกรรมที่ใช้งบโฆษณาเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนตัวและเครื่องสำอางมูลค่า 2,393 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% กลุ่มสื่อและการตลาดมูลค่า 981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% ภาครัฐ 509 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ยังชะลอใช้จ่ายงบโฆษณา ได้แก่ กลุ่มยานยนต์มูลค่า 944 ล้านบาท ลดลง15% อาหารและเครื่องดื่ม 2,718 ล้านบาท ลดลง 8% ค้าปลีกและร้านอาหาร 1,775 ล้านบาท ลดลง 7% เป็นต้น

ขณะที่การออกตัวใช้เงินของยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภค 2 เดือนแรก มีทั้งลดลงและเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่ลดได้แก่ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ใช้จ่าย 488 ล้านบาท ลดลง 21% จากช่วงเดียวกันปีก่อนใช้กว่า 615 ล้านบาท บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด 392 ล้านบาท ลดลง 47% จากปีก่อนใช้ 743 ล้านบาท บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด 229 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด 212 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนใช้ 252 ล้านบาท 

ส่วนบริษัทที่ใช้จ่ายเงินโฆษณาเพิ่มขึ้น ได้แก่ บริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย)หรือพีแอนด์จีมูลค่า 443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนใช้ 413 ล้านบาท บริษัท โมโน ช้อปปิ้ง จำกัด 361 ล้านบาท เพิ่มจาก 329 ล้านบาท บริษัท แมส มาร์เก็ตติ้ง จำกัด 339 ล้านบาท เพิ่มจาก 318 ล้านบาท บริษัท ตรีเพชร อีซูซุ เซลส์ จำกัด 229 ล้านบาท เพิ่มจาก 157 ล้านบาท บริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช้อปปิ้ง จำกัด 228 ล้านบาท เพิ่มจาก 169 ล้านบาท และบริษัท ลอรีอัล(ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 190 ล้านบาท เพิ่มจาก 135 ล้านบาท และเป็นการกลับมาติดท็อป 10 อีกครั้งของแบรนด์ที่ใช้จ่ายเงินสูงสุด