ประวัติ"เกรียงไกร ศิระวณิชการ"แฟนพันธุ์แท้หุ้นไทย ผู้ขายA5 รับ172ล้าน

ประวัติ"เกรียงไกร ศิระวณิชการ"แฟนพันธุ์แท้หุ้นไทย ผู้ขายA5 รับ172ล้าน

เปิดโปรไฟล์ “เกรียงไกร”อดีตประธานบอร์ด A5 ผู้ขายหุ้นออกมาในวันแรก รับเงินกว่า 172 ล้านบาท เผยเป็นแฟนพันธุ์แท้หุ้นไทย ผู้ตั้งโต๊ะซื้อหุ้น ADAM ที่อดีตผู้บริหารถูกก.ล.ต.ฟันพัวพันฟอกเงิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2565 นายเกรียงไกร ศิระวณิชการ อดีตประธานกรรมการบริษัท บริษัท แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ A5 และผู้ถือหุ้นใหญ่ A5 จำนวน 307,134,850 หุ้น  แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ผ่านแบบ 59-1 ว่า ได้จำหน่ายหุ้น A5 จำนวน 37,134,850 หุ้นในราคาเฉลี่ย 4.65 บาทต่อหุ้น  ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด ทำให้ได้รับเงินจากการจำหน่ายครั้งนี้ราว 172 .26 ล้านบาท และจำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการจำหน่ายคิดเป็ 270 ล้านหุ้น

หุ้น A5 กลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2565 โดยราคาเปิดที่ 9 บาท สูงกว่าราคาปิดครั้งสุดท้ายก่อนถูกห้ามการซื้อขายที่ 1.50 บาท ท่ามกลางราคาหุ้น A5 ที่ผันผวนรุนแรง โดยราคาลงต่ำสุดที่ 1.75 บาท สูงสุดที่ 9 บาท และปิดตลาดที่ 2.22 บาท จากนั้นราคาลดลงต่อเนื่องล่าสุดวันนี้ปิดตลาดที่ 2.18 บาท

นายเกรียงไกร ชี้แจงผ่านสำนักข่าว hoonsmart ว่ามีสิทธิอันชอบธรรมที่จะขายหุ้นดังกล่าวออกมา และยังถือหุ้นส่วนใหญ่ไว้ ส่วนการลาออกจากประธานกรรมการ A5 เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องที่เตรียมการไว้แล้วก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามนักลงทุนกลุ่มหนึ่ง เรียกร้องให้ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ เข้ามาตรวจสอบธรรมมาภิบาลของนายเกรียงไกร

 นายเกรียงไกร จะยังคงถือหุ้น A5 จำนวน 270 ล้านหุ้น แต่จากคำให้สัมภาษณ์ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะถือตลอดไป  นอกจากนี้นายเกรียงไกร ยังเข้าไปลงทุนในบริษัทมาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) หรือ KOOL เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมาจำนวน 9.86% และน.ส.ปิยธิดา ศิระวณิชการ เข้าไปซื้อ KOOL จำนวน 5.91% ด้วย

นายเกรียงไกร ได้ชื่อว่าเป็นนักลงทุนหนุ่ม วัย 40 ต้นๆ สไตล์การลงทุนแบบกล้าได้กล้าเสีย เมื่อปี 2549 ได้เป็นแฟนพันธ์แท้หุ้นไทย รายการยอดฮิตในเครือเวิร์คพอยท์

ชื่อของเกรียงไกร มาปรากฎบนหน้าสื่ออีกครั้งเมื่อปี 2561 เมื่อเขาประกาศทำคำเสนซื้อหลักทรัพย์(เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) หุ้นทั้งหมดของบริษัท บมจ.อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น (ADAM)  จำนวน 286.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 77.40% ที่ราคาหุ้นละ 0.07 บาท ระหว่างวันที่ 25 ม.ค.-28 ก.พ.61

การเข้าทำคำเสนอซื้อหุ้นดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก นายเกรียงไกร เข้าซื้อหุ้น ADAM จากบริษัท พนาไพรด์ โฮลดิ้ง จำกัด ในสัดส่วน 15.24% ของทุนจดทะเบียน ซื้อหุ้นจาก นายนพดล คงวิวัฒนากุล จำนวน 13,645,500 หุ้น หรือสัดส่วน 3.69% ของทุนจดทะเบียน และซื้อหุ้นจาก นางสาวพรรณี แสงเพิ่ม จำนวน 13,618,100 หุ้น หรือสัดส่วน 3.68% ของทุนจดทะเบียน ในราคาหุ้นละ 7 สตางค์

หลังจากซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมทั้ง 3 รายแล้ว นายเกรียงไกร กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 องจากเมย์แบงก์ กิมเอ็ง ซีเคียวริตี้ จำกัด โดยถือหุ้นในสัดส่วน 22.60% ของทุนจดทะเบียน

คาดกันว่านายเกรียงไกรใช้เงินเพื่อทำเทนเดอร์หุ้น ADAM  เพียง 20 กว่าล้านบาทเท่านั้น

ADAM ก่อนจะมาอยู่ในมือของนายเกรียงไกร และเปลี่ยนชื่อล่าสุดเป็น A5 เดิมชื่อบริษัท อาร์เค มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น RK ถูกพักการซื้อขายประมาณ 4 ปี หลังจากการขายทรัพย์สิน และกลายเป็น cash company และทำแบ็คดอร์ ลิสติ้ง  ด้วยการเพิ่มทุนนำหุ้นใหม่จำนวน 500 ล้านหุ้ น เสนอขายให้ บริษัท ที แลนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ของกลุ่ม นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง ผู้ต้องหาคดีทุจริตค้าข้าวจีทูจี สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สำหรับบริษัท ที แลนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด ในบริษัท บริษัทสิราลัย หรือชื่อใหม่ คือ "บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด"นั่นเอง

ต่อมาเมื่อ 17 เม.ย.ปี 2562 ก.ล.ต. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตกรรมการบริษัท ADAM  8 ราย ในกรณีของการเข้าไปซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์

ก.ล.ต.ระบุว่า เป็นการทำรายการทั้งที่ทราบว่าในระหว่างนั้นบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องและอยู่ระหว่างถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ไต่สวนดำเนินคดี กรณีสงสัยว่าร่วมทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว และมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนของการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายเกรียงไกร ไม่ได้หยุดการลงทุนที่ ADAM เท่านั้น แต่ยังเข้าไปลงทุนในธุรกิจกองทุนรวม โดยใช้เงินกว่า 103 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จาก บลจ.เมย์แบงก์ เบอร์ฮาด ประเทศมาเลเซีย หลังจากทราบว่ากลุ่มมาเลเซียต้องการขายธุรกิจกองทุนรวมในประเทศไทย และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบลจ.แคปิตอลลิ้งค์ และให้ ร่มฤดี ศิระวณิชการ ที่เป็นผู้บริหารบค.แคปปิตอล ลิ้งค์ เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ

สำหรับบค.แคปิตอล ลิ้งค์ เป็นบริษัทในเครือ แคปปิตอล โฮลดิ้ง ที่นายเกรียงไกร ร่วมกับอดีตผู้บริหารโบรกเกอร์และวาณิชธนกิจ ร่วมจัดตั้งเมื่อปี  2555 และยังมีบริษั แคปปิตอล ลิ้งค์ แอดไวเซอรี่ ธุรกิจที่ปรึกษาการเงิน  แคปปิตอล ลิ้งค์ ลีสซิ่ง ธุรกิจเช่าซื้อและแฟคตอริ่ง และ บริษัทบริหารสินทรัพย์ แคปปิตอล ลิ้งค์ ธุรกิจบริหารหนี้สิน หนี้เสีย นั่นเอง