วิกฤติพลังงาน "น้ำมัน-ก๊าซ-ค่าไฟฟ้า"

วิกฤติพลังงาน "น้ำมัน-ก๊าซ-ค่าไฟฟ้า"

สถานการณ์พลังงานจึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องวางแผนบริหารอย่างรัดกุม เพราะกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงไม่สามารถกู้เงินจำนวนมากได้เหมือนในอดีต และปัจจุบันกำหนดเพดานไว้ที่ 30,000 ล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไต่ระดับขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 หลังจากความต้องการเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และเมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้เป็นตัวเร่งราคาน้ำมันให้สูงขึ้น และขึ้นมาทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 8 ปี จนทำให้ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะขยับขึ้นไปถึงบาร์เรลละ 120-130 ดอลลาร์ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบถึงราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกในประเทศ และจำเป็นที่รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการรองรับเพิ่มเติม

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการดูแลค่าใช้จ่ายพลังงานให้กับประชาชน โดยตรึงราคาดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาท ด้วยการให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุน 4.08 บาท รวมทั้งลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาท และรัฐบาลกำลังเตรียมแผนดูแลผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งโฟกัสไปที่กลุ่มเปราะบาง จึงทำให้มีแผนจ่ายเงินอุดหนุนให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นกลุ่มมีรายได้น้อย เช่น จักรยานยนต์รับจ้าง โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานกำลังสรุปรายละเอียดของการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้เบนซิน

ในขณะที่การดูแลราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ได้มีการอุดหนุนราคาก๊าซขนาดถัง 15 กิโลกรัมไว้ที่ราคา 318 บาท ถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2565 ซึ่งที่ผ่านมามีการประเมินว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ราคาพลังงานในตลาดโลกจะเริ่มปรับลดลง แต่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่รุนแรงขึ้นจึงทำให้ราคาพลังงานรวมถึงก๊าซยังคงอยู่ในทิศทางระดับสูง ซึ่งอาจทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมาทบทวนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพราะบัญชีกองทุนที่แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันและบัญชีแอลพีจี พบว่าบัญชีแอลพีจีติดลบ 26,826 ล้านบาท

ส่วนค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ที่มีการปรับขึ้นงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 อัตรา 1.39 สตางค์ ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 4.63% จากงวดก่อนหน้า หลังจากราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นในฤดูหนาว ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังจากที่ผ่านมา มีการตรึงค่าเอฟทีมาตลอด และขณะนี้เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้มีการตรึงค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 หลังจากประเมินแล้วประชาชนและผู้ประกอบการจะมีภาระด้านพลังงานมากขึ้น

สถานการณ์พลังงานจึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องวางแผนบริหารอย่างรัดกุม เพราะกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงไม่สามารถกู้เงินจำนวนมากได้เหมือนในอดีต และปัจจุบันกำหนดเพดานไว้ที่ 30,000 ล้านบาท ในขณะที่การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันจะมีผลกระทบต่อรายได้รัฐบาลบนสถานการณ์ที่งบประมาณ 2565 ถูกจัดแบบขาดดุลงบประมาณ 700,000 ล้านบาท รวมทั้งภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงเดินหน้าต่อ จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องวางแผนรับมือให้ดีเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานให้ประชาชน