“บีโอไอ” ปรับโครงสร้าง 2 ระยะ ยกชั้นบริการลงทุนเบ็ดเสร็จ

“บีโอไอ” ปรับโครงสร้าง 2 ระยะ ยกชั้นบริการลงทุนเบ็ดเสร็จ

การปรับโครงสร้างของบีโอไอ เป็นงานสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาข้อกฎหมายร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. รวมถึง “สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ "บีโอไอ" จัดตั้งเมื่อปี 2509 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการลงทุนผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและไม่ใช่ภาษี หลังจากนั้นปี 2518 ตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศแห่งแรกที่ “นิวยอร์ค” และ “แฟรงก์เฟิร์ต” เพื่อทำหน้าที่ชักจูงการลงทุนให้เข้มแข็งขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของบีโอไอครั้งสำคัญเกิดขึ้นปี 2521 เมื่อทบทวนพื้นที่เขตส่งเสริมการลงทุนให้แคบลง โดยเลือกเขตที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็น Growth Center และหลังจากนั้นปรับรูปแบบการส่งเสริมตามสถานการณ์เศรษฐกิจและนโยบายการพัฒนาประเทศ จนกระทั่งล่าสุดกำลังจะปรับโครงสร้างครั้งใหม่

สำหรับการปรับโครงสร้างครั้งนี้ จะปรับโครงสร้างเพื่อรองรับภารกิจใหม่ตามทิศทางการลงทุนของโลกอนาคต โดยเฉพาะการสนับสนุนการลงทุนสตาร์ทอัพ และการรองรับการลงทุนของนักลงทุนกลุ่มที่เข้ามาอาศัยในไทยในระยะยาวที่ได้สมาร์ทวีซ่าและวีซ่าประเภทการพำนักในไทยระยะยาว (LTR) ที่รัฐบาลวางเป้าหมายว่าจะมีคนกลุ่มนี้เข้ามา 1 ล้านคน ใน 5 ปี

อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยว่า ก.พ.ร.ได้รับมอบหมายให้จัดทำแนวทางการปรับโครงสร้างการบริหารภายในของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้เป็นหน่วยงานหลักในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการใหม่และสามารถใช้มาตรการสร้างแรงจูงใจอื่นที่มิใช่ภาษีในการส่งเสริมการลงทุนของประเทศ  

ก.พ.ร. ได้หารือบีโอไอเพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนให้เป็นกลไกหลักในการสร้างรายได้ผ่านการส่งเสริมการลงทุนอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับทั้งการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการส่งเสริมนักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ โดยพิจารณาการปรับโครงสร้าง 2 ระยะ ดังนี้

ระยะสั้น ประกอบด้วย การแก้ปัญหาและลดอุปสรรคของนักลงทุน เช่น การอำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าของนักลงทุน การลดระยะเวลา ขั้นตอนการขอวีซ่า การแจ้งที่พำนักอาศัยทุกรอบ 90 วัน เป็นต้น รวมถึงยกระดับศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานเพื่อให้บริการแบบเบ็ดเสร็จได้มีประสิทธิภาพ

การสนับสนุนให้บีโอไอเป็นกลไกหลักในการสร้างรายได้หลังวิกฤติโควิด-19 และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศผ่านการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยปรับโครงสร้างและกระบวนการทำงานให้ยืดหยุ่นดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศที่มาลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมถึงดึงดูดกลุ่มผู้พำนักระยะยาว

ระยะยาว จะเป็นการวางโครงสร้างในอนาคตของบีโอไอให้เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อตอบสนองการลงทุนของนักลงทุนทั้งจากต่างประเทศ และนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในต่างประเทศในระยะต่อไปตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

“ก.พ.ร.อยู่ระหว่างหารือแนวทางการปรับโครงสร้างทั้ง 2 ระยะ นำโดย ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ในฐานะประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการทบทวนบทบาทภารกิจและปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าปรับโครงสร้างบีโอไออย่างเร่งด่วน"

สำหรับเป้าหมายสำคัญของการปรับโครงสร้างบีโอไอครั้งนี้จะให้เป็นหน่วยงานหลักในการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญของรัฐบาลที่จะกระตุ้นให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบและสร้างรายได้ให้ประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจ และคาดว่าจะนำเสนอแนวทางระยะสั้นต่อนายกรัฐมนตรีเดือน มี.ค.2565

สุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อยากให้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนมุ่งเน้นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศได้มีโอกาสใช้บริการบีโอไอมากขึ้น โดยเสนอให้บีโอไอสร้างทีมที่ปรึกษาเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งการส่งเสริมกิจการด้านการเกษตรที่มีอยู่มากในไทย

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ไม่ใช่ภาษี เสนอให้บีโอไอสนับสนุนด้านการจัดทำข้อมูลและให้ความรู้ผู้ประกอบการ รวมทั้งมีโครงการผลักดันให้เอสเอ็มอีขยายตลาดและตั้งโรงงานหรือบริษัทเป็นฐานการผลิตในต่างประเทศในลักษณะเดียวกับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ช่วยผู้ลงทุนในไทยซึ่งมีศักยภาพให้ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาเพื่อให้มีต้นทุนที่ถูกลงและแข่งขันกับต่างประเทศได้

“เอสเอ็มอียังไม่ได้รับการส่งเสริมและมีข้อมูลที่เพียงพอ ถ้าหน่วยงานสามารถดูแลการลงทุนในต่างประเทศได้ในอนาคตจะรักษาผลประโยชน์ให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนได้ง่ายขึ้น”